สป.ศธ.จัดประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI)

29 มิถุนายน 2565, ห้องประชุมจันทรเกษม อาคารราชวัลลภ / นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perception Index : CPI) ของสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) พร้อมด้วยนายธนู ขวัญเดช รองปลัด ศธ.ทำหน้าที่หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต กระทรวงศึกษาธิการ (ศปท.ศธ.), นายชัยณรงค์ ป้องบ้านเรือ ศึกษาธิการภาค 7, ผู้บริหาร ศธ. โดยมีข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และผู้ที่เกี่ยวข้องกว่า 250 คน เข้าร่วมผ่านระบบ Zoom Meeting และถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live : ศธ. 360 องศา

ปลัด ศธ. กล่าวว่า การเป็น “ข้าราชการ” มีอำนาจหน้าที่ต้องดำเนินการหลายอย่าง เป็นอำนาจที่มีความยิ่งใหญ่ บางตำแหน่งที่ระดับเท่ากัน อำนาจหน้าที่อาจจะด้อยกว่า แต่สิ่งที่สำคัญคือ งานทุกงานมีความสำคัญเท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้นการปฏิบัติราชการในทุก ๆ เรื่องนั้น หมายถึงความก้าวหน้าของคุณภาพชีวิตประชาชนชาวไทยตลอดชีวิตทุกช่วงวัย ดังนั้นการปฏิบัติราชการจึงควรต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส ตรงไปตรงมา สามารถตรวจสอบและอธิบายได้

ทั้งนี้ จากประสบการณ์ที่ได้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงมาหลายหน่วยงาน ส่วนหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นการทุจริต แบ่งเป็น 2 เรื่อง ได้แก่ 1) การทุจริตจริง ๆ เป็นระดับโครงการใหญ่ เป็นการตั้งใจทุจริตซึ่งต้องดำเนินการทางกฎหมายให้ถึงที่สุด 2) การไม่ปฏิบัติตามระเบียบราชการ โดยเฉพาะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่ไม่ค่อยปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และพยายามหลีกเลี่ยง ทำให้ถูกกล่าวหาเป็นการทุจริต ซึ่งก็จริงตามนั้น แต่ประเด็นนี้สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ อยู่ที่ความเอาใจใส่ในทุกเรื่องเป็นสำคัญ บางคนบอกไม่เข้าใจในระเบียบต่าง ๆ ทุกคนไม่มีใครเข้าใจมาตั้งแต่ต้น ต้องพยายามศึกษาเพิ่มเติม รวมถึงปฏิบัติราชการอย่างตรงไปตรงมา ละเอียดรอบคอบก็จะทำให้ไม่เกิดปัญหาและไม่มีใครสามารถกล่าวหาว่าทุจริตได้

“ฝากถึงข้าราชการปัจจุบัน และที่กำลังจะบรรจุใหม่ทุกคน ให้ปฏิบัติให้ถูกระเบียบ มีความละเอียดรอบคอบ หมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ถ้าเราไม่ศึกษาก็จะไม่มีวันเข้าใจ และมีโอกาสที่จะทำผิดพลาดได้ในชีวิตราชการ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ จะส่งผลกระทบต่อหน่วยงานเกิดความเสียหายไปด้วย ส่งผลเสียตรงไปยังประเทศอีกทอดหนึ่ง อยากให้ข้าราชการทุกคนคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ”

นายธนู ขวัญเดช กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 มาตรา 11 กำหนดให้ส่วนราชการมีหน้าที่พัฒนาความรู้ในส่วนราชการ เพื่อให้มีลักษณะเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ โดยต้องรับรู้ข้อมูลข่าวสารและสามารถประมวลความรู้ในด้านต่าง ๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติราชการได้อย่างถูกต้องรวดเร็วเหมาะสมกับสถานการณ์ รวมทั้งต้องส่งเสริมและพัฒนาความรู้ ความสามารถ สร้างวิสัยทัศน์ และปรับเปลี่ยนทัศนคติของข้าราชการในสังกัดให้เป็นบุคลากรที่มีประสิทธิภาพและมีการเรียนรู้ร่วมกัน

สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) จึงได้ดำเนินการจัดการความรู้ตามเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ พ.ศ. 2562 และเกณฑ์การประเมินสถานะของหน่วยงานภาครัฐในการเป็นระบบราชการ 4.0 (PMQA 4.0) โดยมีการจัดการ องค์ความรู้อย่างเป็นระบบ เพื่อใช้ในการเรียนรู้ พัฒนา และต่อยอด สามารถนำองค์ความรู้ไปใช้ในการปรับปรุงจนเกิดกระบวนการที่เป็นเลิศ มีผลลัพธ์ที่ดีสู่การบรรลุยุทธศาสตร์และ การบริหารประชาชนที่ดียิ่งขึ้น รวมถึงการพัฒนาองค์การไปสู่ระบบราชการ 4.0 ดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perception Index: CPI) เป็นดัชนีที่ทุกภาคส่วนควรให้ความสำคัญในการให้ความรู้ทั้งภาครัฐ-เอกชน-ประชาสังคม และภาคประชาชน

CPI จึงเป็นตัวชี้วัดสำคัญที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกให้การยอมรับและนำมาเปรียบเทียบถึงความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์การทุจริตในแต่ละปี เป็นดัชนีที่สะท้อนถึงภาพลักษณ์ (perceptions) การทุจริตคอร์รัปชันของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งจัดทำขึ้นโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International : TI) เป็นประจำทุกปี ซึ่งนักลงทุนหรือนักธุรกิจหลายประเทศมักจะนำดัชนีการรับรู้การทุจริตนี้ มาใช้ประกอบการประเมินความน่าสนใจและการตัดสินใจที่จะลงทุนของแต่ละประเทศ โดยมองว่าการทุจริตคอร์รัปชันเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เป็นต้นทุนหรือเป็นความเสี่ยง (risks) ในการเข้ามาประกอบธุรกิจ ทั้งนี้ในปี 2564 ที่ผ่านมาประเทศไทยมี 35 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 110 จากทั้งหมด 180 ประเทศ

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ชาติ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564) ใช้ต่อเนื่องถึงปี พ.ศ. 2565 ที่มีวิสัยทัศน์ว่า “ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติ ต้านทุจริต (Zero Tolerance & Clean Thailand)” มีเป้าหมายให้ประเทศไทย มีค่า CPI สูงกว่าร้อยละ 50 ประกอบกับ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) มีเป้าหมายให้ประเทศไทยปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยมีค่า CPI ให้ติดอันดับไม่เกินอันดับที่ 43 จาก 180 ประเทศทั่วโลก หรือได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 57 คะแนน ภายในปี 2570 จึงต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน หน่วยงาน และองค์กรต่าง ๆ ในการระดมคิด ร่วมตัดสินใจ ดำเนินงานและร่วมตรวจสอบประเมินผลผ่านผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อผลักดันและยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perception Index: CPI) ให้บรรลุเป้าหมายตามแผนฯ ดังกล่าวข้างต้นได้ต่อไป

ในการนี้ ได้รับเกียรติจากนายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ในหัวข้อ “ที่มาและความสำคัญ ตลอดจนความรู้เกี่ยวกับดัชนีการรับรู้การทุจริต”

อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
อธิชนม์ สลางสิงห์ / ภาพ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

Website Built with WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: