ศธ.หารือคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เล็งเพิ่มชั่วโมงกีฬาให้ทุกวัน

(14 ธันวาคม 2563) นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมหารือกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ณ ห้องประชุมราชวัลลภ โดยศาสตราจารย์ นพ.นิธิ มหานนท์ ประธานคณะกรรมการฯ ร่วมประชุมทางไกล

รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยหลังการประชุมว่า วันนี้เป็นการหารือกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เกี่ยวกับการพัฒนาด้านต่าง ๆ เกี่ยวข้องกับ ศธ. โดยได้นำเสนอแผนในการสร้างและพัฒนาโรงเรียนคุณภาพในจังหวัดต่าง ๆ รวมถึงแผนการขับเคลื่อนโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง ให้ที่ประชุมรับทราบด้วย

นอกจากนี้ ได้หารือร่วมกันเพื่อร่วมปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ดังนี้

1 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกีฬา ถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่จะต้องผลักดันให้เกิดกับชีวิตประจำวันของเด็กมากขึ้น ซึ่งในระยะยาวต้องการให้มีเวลาในการเล่นกีฬา 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือวันละชั่วโมง ขณะเดียวกันต้องดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพด้วย โดยไม่ใช่เป็นการเล่นกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ แต่เป็นการออกกำลังกาย เช่น โรงเรียนมีความพร้อมแข่งกีฬาสีในโรงเรียนหรือแข่งขันกับโรงเรียนอื่น สามารถจัดทีมกีฬาได้หลายทีม เป็นต้น

ทั้งนี้ หากเปิดโอกาสให้เด็กสัมผัสกีฬาทุกชนิด มั่นใจว่าเด็กจะสามารถเลือกกีฬาที่ถนัดให้ตัวเองได้ ขณะเดียวกันได้หารือเกี่ยวกับการจะเปิดให้พื้นที่สนามกีฬาร่วมกับชุมชน ซึ่งในทางปฏิบัติก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ตลอดจนการนำสรุปข้อมูลพื้นฐานของครูที่สนใจเป็นผู้ฝึกสอนกีฬาด้านต่าง ๆ โดยหวังว่าเมื่อภาระงานครูลดลงแล้ว ครูจะมีเวลาให้กับการสอนกีฬาหรือกิจกรรมมากขึ้น

2 ประเด็นด้านวัฒนธรรม มีการพูดถึงการปรับวิธีการนำเสนอการเรียนการสอนด้านวัฒนธรรม การเผยแพร่วัฒนธรรมจากจังหวัดสู่จังหวัดผ่านกระบวนการทัศนศึกษา หรือการรับข้อมูลจากกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อไม่ต้องทำงานซ้ำซ้อนกัน เนื่องจากกระทรวงวัฒนธรรมมีการผลิตสื่อที่มีความสวยงามเหมาะสมอยู่แล้ว สามารถนำมาเผยแพร่ได้โดยที่ไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณซ้ำซ้อน

3 ประเด็นแผนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ได้หารือถึงการผลักดันให้มีโรงเรียนคุณภาพมาตรฐานโดยเร็ว ซึ่งทาง ศธ.ได้ดำเนินการอยู่แล้ว รวมถึงแผนการพัฒนาให้ครูทั้งระบบมีทักษะใหม่

4 ประเด็นด้านแรงงาน มีการหารือเกี่ยวกับคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่ง ศธ.ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยหากสามารถทำให้นักเรียนให้มีคุณภาพมากขึ้น ห้องเรียนประถมมีห้องปฏิบัติการที่เสริมทักษะอาชีพแล้วและทักษะชีวิต จะทำให้เด็กตัดสินใจได้ว่าจะเลือกไปต่อในสายอาชีพหรือสายสามัญ อย่างไรก็ตามต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้สัมผัสก่อนว่าสายอาชีพหมายถึงคือเรื่องของอะไร และสอดคล้องกับเรื่องของการทำให้นักเรียนในโรงเรียนมีจำนวนมากเพื่อให้มีคุณภาพ ซึ่งควรมีจำนวนไม่เกิน 1,500-2,000 คนต่อโรงเรียน ซึ่งในส่วนของ ศธ.จะมีดำเนินการอย่างเข้มข้นเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน

ปารัชญ์ ไชยเวช / สรุป
อธิชนม์ สลางสิงห์ / ถ่ายภาพ

ใส่ความเห็น

Website Built with WordPress.com.

Up ↑