เด็กไทย : เรียนเพื่อรู้ หรือเรียนเพื่อสอบ

เมื่อต้นปี 2563 สสส.เผยผลวิจัยใน “โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21″ ออกมาว่า เด็กประถมฯ และมัธยมศึกษาของไทยมีความสุขในวัยเรียนลดน้อยลง และมีปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความเครียดต่อการแข่งขันในระบบการศึกษา ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ระบบการศึกษาของไทยควรหันกลับมามองว่า เด็กไทยควรเรียนเพื่อรู้หรือเรียนเพื่อสอบกันแน่

เพราะเอาจริง ๆ จำกันได้ไหมว่า ตลอดช่วงชีวิตของการเป็นนักเรียนต้องผ่านการสอบมาแล้วกี่ครั้ง น้อยคนคงจำได้ เพราะผ่านการสอบมานับครั้งไม่ถ้วน ยิ่งทุกวันนี้เด็กไทยยิ่งต้องเผชิญกับการสอบมากขึ้น แถมบ่อยครั้งขึ้น ด้วยระบบการศึกษาที่มุ่งเน้นการสอบ ทำให้เด็กต้องแข่งขันกันอย่างดุเดือด จนเวลาส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับการเรียนทั้งในห้องเรียนและโรงเรียนกวดวิชา ขาดโอกาสในการค้นหาตัวตนที่แท้จริง จนเกิดความเครียด กดดัน บางคนถึงขั้นท้อใจในการเรียน นำมาซึ่งโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล กลายเป็นปัญหาในเด็กและวัยรุ่นมากขึ้นไปอีก

เป็นประเด็นด้านการศึกษาที่ถกเถียงกันมานานว่าแท้จริงแล้ว “การสอบ” จำเป็นต่อการเรียนรู้ของเด็กแค่ไหน ซึ่งหากมองตามจริง การสอบเป็นการวัดผลประเมินผลอย่างเป็นทางการ เพื่อประเมินว่าเมื่อเรียนรู้ตามหลักสูตรแล้ว ผู้เรียนมีความรู้ในสิ่งที่เรียนมากน้อยแค่ไหน แต่การวัดผลประเมินผลก็ไม่ได้มีแค่การสอบเพียงอย่างเดียว ยังต้องพิจารณาร่วมกับผลการวัดด้านอื่น ๆ เช่น การวัดผลประเมินผลจากชิ้นงาน การแสดง การทำงานที่มอบหมายให้ไปทำ การปฏิบัติจริง ฯลฯ เพื่อนำมาสรุปรวมและประเมินผลกลับไปให้ผู้เรียนทราบ

หลายปีก่อน เอแบคโพลและสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ทำการวิจัยเรื่อง “เด็กและเยาวชนไทยอยากเห็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงจากการศึกษาไทย” ผลออกมาว่า เด็กไทยเหนื่อยกับระบบการศึกษาแบบเดิม ๆ ที่เรียนหนักติดอันดับต้น ๆ ของโลก แต่กลับนำความรู้ไปใช้จริงไม่ได้ ทั้งยังต้องเครียดและกดดันกับการสอบจนทำให้หมดสนุกกับการเรียน นั่นสะท้อนให้เห็นว่าการเรียนเพื่อจำแล้วนำไปสอบ ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาของเด็กเท่าที่หวัง

ตามมาตรฐานการศึกษาไทย เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาต้องเรียน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ซึ่งแบ่งเป็นรายวิชาต่าง ๆ ในแต่ละกลุ่มสาระอีกหลายวิชา ในแต่ละปีมีสองภาคการศึกษา แต่ละภาคการศึกษานักเรียนต้องสอบ 2 ครั้งต่อหนึ่งรายวิชา คือสอบกลางภาคเรียนและสอบวัดผลสิ้นสุดภาคเรียน หากนับจำนวนขั้นต่ำต่อปี ทำให้การเรียน 8 วิชาของเด็กประถมจะต้องสอบถึง 32 ครั้ง ฉะนั้นตลอดชีวิตการเรียนในระดับประถมศึกษาเด็กไทยจะต้องผ่านการสอบอย่างน้อย 192 ครั้ง ยังไม่การสอบย่อยและการทดสอบต่าง ๆ และเมื่อเรียนต่อจนจบระดับมัธยมศึกษา สนามการสอบที่ต้องเจอจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวคือ 384 ครั้ง ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วเยอะกว่านี้มาก เพราะรายวิชาที่ต้องเรียนรู้มีมากกว่า 8 วิชา

นอกจากนี้ นักเรียนไทยทุกคนยังต้องสอบ O-NET การทดสอบการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน ที่จัดสอบขึ้นสำหรับนักเรียนชั้น ป.6 ม.3 และ ม.6  เพื่อชี้วัดคุณภาพและมาตรฐานทางการศึกษานักเรียนและโรงเรียน โดยนักเรียนชั้น ป.6 และ ม.3 ต้องสอบ 4 วิชา ส่วนชั้น ม.6 ต้องสอบ 5 วิชา โดยรวมแล้วตลอดช่วงเวลาการเป็นนักเรียนตั้ง ป.1 จนถึง ม.6 เด็กไทยต้องเข้าสู่สนามการสอบอย่างน้อย 397 ครั้ง ถามว่าเยอะเกินไปไหม

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการสอบยังคงจำเป็นต่อการวัดและประเมินผลในระบบการศึกษาของชาติ แต่การเรียนไม่ใช่การแข่งขัน และเกรดก็ไม่ใช่ทุกสิ่งในชีวิต การปรับ ลด และเปลี่ยน รูปแบบการสอบแข่งขันให้เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อการเรียนของเด็กและเยาวชนจริง ๆ จึงเป็นสิ่งที่ควรพิจารณา เพราะหากอยากก้าวไปสู่การเป็นทุนมนุษย์ (Human Capital) การสร้างระบบวัดและประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ สามารถก่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการเรียนรู้อย่างมีความสุขและการแข่งขันทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันของนักเรียนทุกคน เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อยกระดับการเรียนรู้ให้สร้างทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพมายกระดับสังคมไทยในอนาคต

ถึงเวลาที่ต้องปรับ ลด และเปลี่ยน ระบบการสอบแล้วหรือยัง มาร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยร่วมโหวตและแสดงความเห็นใน  website www.nataphol.com ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” ว่าเห็นด้วยไหมกับการยกเลิกสอบ O-NET

ที่มา: เพจการศึกษายกกำลังสอง

3 thoughts on “เด็กไทย : เรียนเพื่อรู้ หรือเรียนเพื่อสอบ

Add yours

  1. นอกจากการสอบแล้วอยากให้ปรับในเรื่องของการเรียนคิดว่าใน 1 สัปดาห์ควรที่จะมีคาบที่ปล่อยให้เด็กได้ค้นหาตัวเอง(ชุมนุม)อย่างน้อย5คาบ โดยปกติจะมีแค่1คาบ/สัปดาห์ และชุมนุมที่มีให้เลือกเข้านั้นมีไม่หลายหลายมากพอโดยโรงเรียนของดิฉันเด็กนักเรียนไม่สามารถเปิดชมรมเองได้จะต้องให้คุณครูเปิดให้เท่านั้น ฉันจึงคิดว่าควรที่จะมีชุมนุมให้หลากหลายมากขึ้น

    ถูกใจ

  2. เห็นด้วยค่ะที่นักเรียนจะรวมกลุ่มที่ถนัดและสนใจเรื่องเดียวกัน ตั้งชมรมเอง ขอพื้นที่และเวลาจาก รร ซึ่งกลุ่มนักเรียน ควรตั้งเป้าหมาย และผลลัพธ์ที่จะได้จากกรารวมกลุ่มกันให้ชัดเจนไว้ก่อน. และดำเนินกิจกรรมกลุ่มได้ตามผลลัพธ์ที่ตั้งไว้ได้จริงหรืออาจมากกว่า ก็ยิ่งดีค่ะ

    ถูกใจ

  3. สอบเยอะ​จริงๆค่ะ​ ควรเน้นสอบเท่าที่จำเปน​ เห็นหลานที่ต้องสอบpisaบอกทำไปงั้นๆ​ ไม่ได้ตั้งใจ
    ใส่ใจ​ เพราะคะแนน​ไม่มีผลอะไรกับเขา

    ถูกใจ

ใส่ความเห็น

Website Built with WordPress.com.

Up ↑