26 กุมภาพันธ์ 2566 / ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกิจกรรมและกล่าวปิดงาน “สร้างภูมิคุ้มกัน ด้วยวิทยาศาสตร์และ Coding” ณ ลานกิจกรรม ชั้น G Avenue Zone A (ใต้ลาน Skywalk) MBK Center
รับชมภาพงานกิจกรรมวันที่สอง Facebook ศธ.360 องศา
งาน “สร้างภูมิคุ้มกัน ด้วยวิทยาศาสตร์และ CODING” ในวันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2566 ประกอบด้วยการบรรยายพิเศษ หัวข้อ “เรียนประวัติศาสตร์อย่างไรให้สนุก” โดย อ.จิตกร บุษบา สื่อมวลชนนักเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ ซึ่งได้แนะนำว่าการเรียนประวัติศาสตร์ที่สนุก เนื้อหาต้องไม่เป็นภาระของสมอง โดยสื่อสารให้เด็กเข้าใจว่าประวัติศาตร์เป็นส่วนหนึ่งของทุกคน และทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ เลือกมุมมองประวัติศาสตร์ที่ใกล้ตัวและสมวัยผู้เรียน จะทำให้การเรียนประวัติศาสตร์น่าสนใจ เรียนสนุก ไม่น่าเบื่อ
จากนั้นเป็นกิจกรรมเสวนา “การขับเคลื่อนงานการศึกษาไทยกับความคาดหวังของภาคธุรกิจ” โดยนายอรรถการ ตฤษณารังสี รองประธานณะกรรมการพัฒนาการศึกษา สภาหอการค้าไทย และนายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 5, นายสุรศักดิ์ มุกประดับ กรรมการสภาการศึกษา และประธานอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านเครือข่ายการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา, นายพิภพ พิทักษ์ศิลป์ ที่ปรึกษาประธานกรรมการ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร. ชนิศา ตันติเฉลิม ภาควิชาวิจัยและจิตวิทยาการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการสะท้อนความต้องการของภาคเอกชน โดยมีความเห็นร่วมกันว่าอยากให้ระบบการศึกษาผลิตบุคลากรที่เก่งและมีคุณธรรม อยากให้เด็กมีโอกาสเรียนฟรีจนจบปริญญาตรีผ่านกลไกความร่วมมือทางการศึกษาของรัฐและเอกชน ต้องการให้มีครูที่มีศักยภาพสูงมาสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล และเพิ่มเงินเดือนครูให้เหมาะสมกับความสามารถในยุคใหม่
นอกจากนั้น ยังมีการแสดงชุด “ระบำกาแฟ”ของนักเรียน จากโรงเรียนอมก๋อยวิทยาคม จังหวัดเชียงใหม่, กิจกรรม “ประวัติศาสตร์ เรียนไม่แบด เกรดดี ไม่มีแซด”, การแสดงระบำชุมนุมเผ่าไทย, การแสดงโขนโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ, เสวนาประวัติศาสตร์ทรงไม่แบด โดยครูและนักเรียนโรงเรียนไชยวิทยาและนักเรียนโรงเรียนพญาไท, เสวนาแหล่สงครามเก้าทัพ, การแสดงคีตะมวยไทย, การแสดงกระบี่กระบอง, การแสดงของศิลปินเกิร์ลกรุ๊ปวง Rose Quart และ “อังกะลุง Fly Coding” โดยโรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์ และ โรงเรียนศรีสังวาลย์ เชียงใหม่
ช่วงสุดท้ายของงานเป็นการกล่าวปิดกิจกรรม โดย ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ ได้กล่าวขอบคุณทุกหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดงานครั้งนี้ ขอบคุณรองนายกรัฐมนตรี ดร.วิษณุ เครืองาม ที่ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงาน เพื่อแสดงว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์และ Coding รวมถึงวิทยากรที่มาให้ความรู้ ความสนุกสนาน ความเข้าใจมุมมองหลากหลายที่หาจากที่อื่นไม่ได้ การแสดงต่าง ๆ นิทรรศการจากทุกโรงเรียน ศูนย์การค้า MBK Center ที่เอื้อเฟื้อสถานที่จัดงาน วันนี้จึงเป็นความสำเร็จที่ได้แสดงผลงานการจัดการศึกษาโดยใช้วิทยาศาสตร์และ Coding เป็นฐาน ทำให้เกิดการเรียนที่สนุก ระหว่างเรียนมีรายได้ จบแล้วมีงานทำ มีคุณภาพชีวิตที่ดี และแข่งขันได้
“การจัดการศึกษาด้วยวิทยาศาสตร์และ Coding เป็นการสร้างสมองกลให้อยู่ในสมองคน ที่ไม่ต้องลงทุนแม้แต่บาทเดียว ถ้าทุกคนในประเทศไทยมีความคิดแบบ Coding ในทุกช่วงวัย และพัฒนาให้เก่งมากขึ้น และขอย้ำว่าการศึกษาคือความมั่นคงของบุคคล ของครอบครัว และของประเทศชาติ สามารถทำให้ประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้า และก้าวข้ามอุปสรรคทุกสิ่งทุกอย่างได้ ด้วยความร่วมมือของคนไทยทุกคน” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว

ปารัชญ์ ไชยเวช/สรุป
สมประสงค์ ชาหารเวียง, ณัฐพล สุกไทย/ ถ่ายภาพ
ใส่ความเห็น