25 กุมภาพันธ์ 2566 / ศธ.จัดเสวนา หัวข้อ “การศึกษาไทยภายใต้ VUCA World” โดย ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นางสาวทัศนีย์ พิศาลรัตนคุณ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ รศ.ดร.ดนุวัศ สาคริก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการสภาการศึกษา ภายในงาน “สร้างภูมิคุ้มกันด้วยวิทยาศาสตร์ และ Coding” ณ ลานกิจกรรมชั้น G (ใต้ลาน Skywalk) MBK Center
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ กล่าวในการเสวนาตอนหนึ่งว่า จากนี้ไปไม่รู้ว่าวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STI) จะดำเนินไปในทิศทางใด จึงเป็นภารกิจของผู้ใหญ่ที่จะต้องรีบสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกหลานของเรา ทุกคนจะต้องหันมาเรียนในสิ่งที่ไม่เคยเรียน รู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้ แล้วสอนลูกหลานให้เรียนรู้โดยลงมือทำอย่างใกล้ชิด เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตั้งแต่ในบ้าน ออกไปถึงโรงเรียน สังคม และระดับประเทศชาติซึ่ง ศธ.มีเป้าหมายให้คนไทยทุกคนมีภูมิคุ้มกันด้วยวิทยาศาสตร์และ Coding
หากพ่อแม่ผู้ปกครองเข้าใจว่า การศึกษาคือความมั่นคง ก็จะเกิดโอกาสต่อเด็กขึ้นทันที เพราะบาดแผลที่ทุกคนเผชิญกับโควิด 19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เด็กต้องเรียนออนไลน์อยู่บ้าน บางคนขาดอุปกรณ์การเรียน เกิดความไม่พร้อมของระบบ ทำให้ทั้งผู้ปกครองและเด็กเกิดความเครียด แต่เมื่อผู้ปกครองมีความเข้าใจ ก็จะสามารถเยียวยาลูกได้ในเวลาไม่นาน ส่วนในบทบาทของ ศธ.มีนโยบายเยียวยาอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่สามารถทำให้ทุกคนเรียนดีขึ้นมาได้ทันที เนื่องจากการศึกษาจำเป็นต้องใช้เวลา
อย่างไรก็ตาม วันนี้เราได้เห็นผลสำเร็จจากการนำวิทยาศาสตร์และ Coding มาประยุกต์ใช้กับการเรียน 8 สาระวิชา จนทำให้ประสบความสำเร็จ มีรายได้ระหว่างเรียน มีอาชีพ มีความสุข ซึ่งก็นำไปสู่ความท้าทายใหม่ว่า จะทำอย่างไรให้ทุกโรงเรียนในประเทศไทย สามารถสอนโดยนำ STI มาบูรณาการในมิติต่าง ๆ นอกเหนือจากการเรียนตามตำรา โดยให้นักเรียนคิดตกผลึกให้ได้ว่าจะนำเอาความรู้ไปช่วยลดภาระครอบครัวได้อย่างไร
เป้าหมายอีกเรื่องที่ต้องการเห็น คือ ทำอย่างไรการศึกษาไทยจะทำให้เกษตรกรไม่จนอีกต่อไป ซึ่งสิ่งที่ ศธ.ดำเนินการไปแล้ว คือ โครงการบริหารจัดการน้ำในชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ร่วมกับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทั่วประเทศ โดยจัดหลักสูตรการสอนและผลิตชลกร และมีการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นไปบ้างแล้ว จึงอยากให้ทุกหน่วยงานที่สนใจเรื่องน้ำช่วยกันต่อยอดเรื่องนี้ เชื่อมั่นว่าหากอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ก็จะสามารถนำประเทศให้ก้าวข้ามวิกฤต ลดความยากจน ไม่ให้เกิดน้ำท่วมหรือน้ำแล้งอีกต่อไป
ท้ายสุด รมช.ศึกษาธิการ ได้ฝากถึงนักการศึกษาของประเทศไทยให้ช่วยต่อยอด เติมเต็ม และเชื่อมโยงกับภาคเอกชน ขณะเดียวกันต้องมีการพูดคุยสื่อสารระหว่างผู้มอบนโยบายและผู้ปฏิบัติ เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเชื่อว่าหาก ผอ.โรงเรียนทุกคนเข้าใจตรงกันกับผู้กำหนดนโยบายแล้ว ก็จะสามารถขับเคลื่อนการศึกษาไปสู่เป้าหมายการศึกษาโลก ที่นักเรียนจะมีความสุข สร้างรายได้ระหว่างเรียน มีอาชีพ มีคุณภาพชีวิตที่ดี และแข่งขันได้ในอนาคต



ปารัชญ์ ไชยเวช /สรุป
สมประสงค์ ชาหารเวียง, ณัฐพล สุกไทย / ถ่ายภาพ
ใส่ความเห็น