25 กุมภาพันธ์ 2566 / กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดงาน “สร้างภูมิคุ้มกันด้วยวิทยาศาสตร์ และ Coding” เพื่อเผยแพร่ผลงานวิชาการ ศักยภาพ และขีดความสามารถในการจัดการศึกษาของ ศธ. ให้กับประชาชนทั่วไปได้ทราบ รวมไปถึงผลการดำเนินงานการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาภายใต้การกำกับดูแลของ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดย ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิด
งานนี้มีผู้บริหาร ศธ. เข้าร่วมงาน อาทิ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการศึกษา, ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายปรีดี ภูสีน้ำ ผู้ตรวจราชการ ศธ., รศ.ดร.ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.), ผู้บริหาร ศธ., ผู้บริหารสถานศึกษา, ครู, นักเรียน และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมงานจำนวนมาก งานนี้จัดระหว่างวันที่ 25-26 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 10.00-20.00 น. ณ ลานกิจกรรมชั้น G (ใต้ลาน Skywalk) MBK Center โดยมีการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก ศธ.360 องศา-คุณหญิงกัลยาฯ-ETV
ภาพงานพิธีเปิด Facebook ศธ.360 องศา
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า งานสร้างภูมิคุ้มกันด้วยวิทยาศาสตร์ และ Coding เป็นการประกาศให้สังคมทราบว่า ศธ. ตระหนักถึงสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สิ่งสำคัญที่ต้องเน้น คือ การสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กพร้อมอยู่ใน VUCA World ที่มีความผันผวนรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
จึงนำการจัดการศึกษา Coding เข้ามาสู่หลักสูตรตั้งแต่ปี 2562 ให้นักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาได้เรียน เพื่อให้เด็กมีเหตุมีผล พึ่งตัวเองได้ แก้ปัญหาชีวิตประจำวันได้ โดยเป็นการจัดการเรียนรู้แบบไม่ต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ (Unpluged Coding) ไม่ต้องลงทุน เป็นการปฏิรูปการศึกษาถึงตัวเด็ก ที่มีความเสมอภาค เท่าเทียมกัน
อย่างไรก็ตาม 3-4 ปีที่ผ่านมา ถือได้ว่าการจัดการเรียนการสอน Coding ติดลมบนแล้ว ซึ่ง ศธ.มีความภาคภูมิใจและอยากให้สังคมได้รู้ว่าเราทำอะไรไปบ้าง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับทุกมิติในชีวิตจริง จึงเกิดเป็น “Coding for all… All for coding โค้ดดิ้งง่ายกว่าที่คิด พิชิตยุคดิจิทัล”
ขณะเดียวกัน เด็กไทยทุกคนต้องมีพื้นฐานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Science Technology Innovation : STI) จึงเกิดโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ซึ่งเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ให้เด็กทุกคนต้องเรียนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน ตามความเหมาะสมของระดับช่วงวัย เพราะเขาจะต้องเติบโตอยู่ในโลกอีกนานหลายสิบปี ดังนั้นพื้นฐาน STI จึงประกอบกันเป็นภูมิคุ้มกันที่มีประสิทธิภาพและมั่นคงให้เด็กไทยได้
สำหรับเป้าหมายของการศึกษาจากนี้ไป จะต้องทำให้นักเรียนและครูมีความสุข สร้างรายได้ระหว่างเรียน เรียนจบมามีอาชีพ สามารถเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ทันสมัย มีคุณภาพชีวิตที่ดี และแข่งขันได้ในอนาคต เพราะการศึกษาคือความมั่นคง ทั้งต่อตนเอง สังคม และประเทศชาติ หากได้รับการศึกษาย่อมมีความมั่นคงอย่างแน่นอน
ในส่วนของกิจกรรมในวันเสาร์ที่ 25 ก.พ. 2566 ประกอบด้วยนิทรรศการความก้าวหน้าจากโรงเรียนต่าง ๆ
- Unplugged Coding จากโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล
- อัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน
- ประวัติศาสตร์ ทรงไม่แบด เรียนไม่เบื่อ
- วิทยาศาสตร์พลังสิบ
- การศึกษาพิเศษ
- การบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนตามแนวพระราชดำริ
รวมถึงวงเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองการศึกษาไทยในยุค VUCA World โดย ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ และผู้เกี่ยวข้องด้านการศึกษา ตลอดจนการแสดงของศิลปินและนักเรียนจากโรงเรียนต่าง ๆ ตลอดทั้งวัน.




ปารัชญ์ ไชยเวช/ สรุป
สมประสงค์ ชาหารเวียง, ณัฐพล สุกไทย/ ถ่ายภาพ
ใส่ความเห็น