27 กุมภาพันธ์ 2566 – นายสุทิน แก้วพนา รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทนหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต กระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมคณะทำงานจัดทำข้อกำหนดจริยธรรมเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ณ โรงแรมบียอนด์ สวีท กรุงเทพฯ
รองปลัด ศธ. กล่าวว่า การจัดทำข้อกำหนดจริยธรรมเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติตนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ต้องพึงระลึกต่อสิ่งที่ “ควรกระทำ” หรือ “ไม่ควรกระทำ” (Dos & Don’ts) ตระหนักถึงการปฏิบัติตน ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีจิตสำนึกที่ดี และรับผิดชอบต่อหน้าที่ด้วยความเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ แยกแยะเรื่องส่วนตัวออกจากตำแหน่งหน้าที่ โดยยึดถือประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ ตลอดจนดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดี และรักษาภาพลักษณ์ของทางราชการ เพื่อให้คนของกระทรวงศึกษาธิการเป็นคนที่มีคุณธรรมจริยธรรม เป็นต้นแบบไปสู่ระดับประเทศ
ทั้งนี้ ขอให้ยึดแนวทางการขับเคลื่อนจริยธรรมตามพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 ซึ่งประกอบไปด้วย
- นโยบายส่งเสริมจริยธรรม ซึ่งสอดคล้องเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ด้านมาตรฐานทางจริยธรรมและการส่งเสริมจริยธรรมภาครัฐ (พ.ศ. 2565 – 2570) โดยมีประเด็นยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมการสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมภายใน สป.ศธ. โดยจัดทำข้อตกลงทางจริยธรรมร่วมกัน ตั้งแต่ระดับปฏิบัติจากล่างขึ้นบน (Bottom-up) การพัฒนาผลักดันนโยบายการส่งเสริมมาตรฐานทางจริยธรรมและบูรณาการรวมพลังกับทุกภาคส่วน ภายใต้ประเด็นท้าทายเชิงกลยุทธ์ที่ว่า “ไม่มีข้อยกเว้น ไม่มีข้อกังขา และไม่สูญเปล่า” และการใช้สื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อการสื่อสารที่เข้าถึงและร่วมรณรงค์สร้างสังคม-วัฒนธรรมจริยธรรม
- ข้อกำหนดจริยธรรมเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยจัดทำตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 ที่ได้กำหนดหลักเกณฑ์การประพฤติปฏิบัติอย่างมีคุณธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประกอบด้วย 7 ข้อ คือ 1) ยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศ อันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2) ซื่อสัตย์สุจริต มีจิตสำนึกที่ดี และรับผิดชอบต่อหน้าที่ 3) กล้าตัดสินใจและกระทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม 4) คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว และมีจิตสาธารณะ 5) มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน 6) ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ 7) ดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีและรักษาภาพลักษณ์ของทางราชการ รวมทั้งประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน และประมวลจริยธรรมข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
- แนวปฏิบัติที่ควรกระทําหรือไม่ควรกระทํา (Dos & Don’ts) ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งประกอบไปด้วย ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในสังกัด ต้องรักษาจริยธรรมอย่างเคร่งครัดอยู่เสมอ โดยจะต้องประพฤติปฏิบัติตนและปฏิบัติหน้าที่ตามหลักคุณธรรม จริยธรรม โดยยึดถือแนวปฏิบัติที่ควรกระทำหรือไม่ควรกระทำ (Dos & Don’ts) เช่น จงรักภักดีต่อประเทศชาติ มีความภูมิใจในความเป็นไทย รักษาผลประโยชน์ของชาติและรักษาความลับเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ และนำหลักธรรมตามศาสนาที่ตนเคารพนับถือ มาประกอบการปฏิบัติหน้าที่ราชการ เป็นต้น
นางจิตฤดี ขวัญพุฒ รองหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวเพิ่มเติมถึงพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 มาตรา 6 วรรคสี่ บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐ อาจจัดทำข้อกำหนดจริยธรรมเพื่อใช้บังคับกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานนั้นเพิ่มเติมจากประมวลจริยธรรมให้เหมาะสมแก่ภารกิจที่มีลักษณะเฉพาะของหน่วยงานของรัฐนั้นด้วยก็ได้
โดยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม (ก.ม.จ.) กำหนด และระเบียบคณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดทำประมวลจริยธรรม ข้อกำหนดจริยธรรม และกระบวนการรักษาจริยธรรมของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2563 ข้อ 12 วรรคหนึ่ง กำหนดให้หน่วยงานของรัฐอาจพิจารณาจัดทำข้อกำหนดจริยธรรม โดยนำหลักเกณฑ์การจัดทำประมวลจริยธรรมมาปรับใช้ตามที่เห็นสมควร เพื่อใช้บังคับเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานนั้น เพิ่มเติมจากประมวลจริยธรรมให้เหมาะสมแก่ภารกิจที่มีลักษณะเฉพาะของหน่วยงาน หรือสาขาวิชาชีพได้
นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) มีหนังสือให้ส่วนราชการนำแนวทางการปฏิบัติตนของข้าราชการพลเรือนตามประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือนไปประกอบการพิจารณาจัดทำข้อกำหนดจริยธรรมที่สอดคล้องกับบทบาทภารกิจ และสภาพปัญหาความเสี่ยงทางจริยธรรมของแต่ละหน่วยงาน
ในส่วนของ สป.ศธ. มีภารกิจเกี่ยวกับการพัฒนายุทธศาสตร์ การแปลงนโยบายของกระทรวงเป็นแผนปฏิบัติ ดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ จัดทำงบประมาณและบริหารราชการประจำทั่วไปของกระทรวง เพื่อการบรรลุเป้าหมายและเกิดผลสัมฤทธิ์ตามภารกิจของกระทรวง
ซึ่งที่ผ่านมา สป.ศธ. ได้กำหนดและประกาศข้อบังคับสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยจรรยาข้าราชการ สป.ศธ. สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2552 ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานทางจริยธรรม มาตรา 279 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 และมาตรา 78 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 โดยมีผลใช้บังคับกับเจ้าหน้าที่สังกัด สป.ศธ. ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2552 จนถึงปัจจุบัน โดยมีเจตนารมณ์เพื่อให้ข้าราชการ เป็นข้าราชการของประชาชน ยึดมั่นในหลักคุณธรรม จริยธรรม มุ่งมั่นในการรักษามาตรฐานงาน ตามหลักวิชาและจรรยาวิชาชีพ โดยยึดถือประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ จัดขึ้นในวันที่ 27 – 28 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งคณะทำงานที่เข้าร่วมประชุม 70 คน จะร่วมจัดทำนโยบายส่งเสริมจริยธรรม และจัดทำข้อกำหนดจริยธรรมเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในสังกัด สป.ศธ. รวมทั้งแนวทางในการประพฤติตนทางจริยธรรม (แนวปฏิบัติ Dos & Don’ts) ต่อไป








บัลลังก์ โรหิตเสถียร /ข่าว
ศปท.ศธ. / ภาพ
ใส่ความเห็น