จังหวัดสระแก้ว 23 กุมภาพันธ์ 2566 – นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวเปิดประชุม “การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสระแก้ว สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ณ หอประชุมร่วมใจพัฒน์ วิทยาลัยเทคนิคสระแก้ว
จังหวัดสระแก้ว เป็นหนึ่งในจังหวัดล่าสุดที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ภายใต้นโยบายของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการปฏิรูปการบริหารการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา สร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ให้คนไทยได้เรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของพื้นที่ มุ่งหวังให้พื้นที่หรือจังหวัดจัดการศึกษาด้วยตนเอง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และมุ่งหวังให้โรงเรียนพัฒนาตนเอง ยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ด้วยพลังการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคม เป็นการนำร่องการกระจายอำนาจ และให้อิสระแก่หน่วยงานทางการศึกษา เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ และพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ
รู้จักกับ พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
ทั้งนี้ จังหวัดสระแก้วได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้เป็น “พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสระแก้ว โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีสถานศึกษาจากทุกสังกัด จำนวน 73 แห่ง หรือ เท่ากับ 1 ใน 4 ของสถานศึกษาทั้งหมดในจังหวัดสระแก้ว สมัครเข้าเป็นสถานศึกษานำร่อง ขอชื่นชมสถานศึกษาทุกแห่งที่สมัครเข้าเป็นสถานศึกษานำร่อง นับเป็นความท้าทายต่อตัวเอง และเป็นความกล้าหาญที่พร้อมสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาให้เกิดขึ้น
ที่ผ่านมา ผู้ว่าราชการจังหวัด ทีมงานการศึกษาในพื้นที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ริเริ่มสิ่งดี ๆ ด้านการศึกษาให้แก่จังหวัดมากมาย มีการขับเคลื่อนการศึกษา เช่น โครงการพาน้องกลับมาเรียน รวมถึงการดำเนินจัดการศึกษาช่วงสถานการณ์โควิด 19 ได้อย่างโดดเด่น และการที่จังหวัดสระแก้วได้รับการคัดเลือกให้เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ก็ถือเป็นโอกาสทองของจังหวัดที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ให้ทุกภาคส่วนสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางและยกระดับคุณภาพการศึกษาจังหวัด
อย่างไรก็ตาม ช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การกระจายอำนาจทางการศึกษา ให้อิสระกับหน่วยงานในพื้นที่โดยไม่มีข้อจำกัดด้านกฎระเบียบ ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอาจต้องพบเจอปัญหา อุปสรรคการดำเนินงาน และอาจมีข้อคิดเห็นที่ไม่ตรงกันเกิดขึ้น จึงอยากให้ทุกฝ่ายมองเห็นถึงเป้าหมายทางการศึกษาร่วมกัน คือประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก ๆ มีการเปิดกว้างทางความคิด มีความเป็นผู้นำ สร้างเอกภาพ เป็นทีมเวิร์ค เพื่อดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย
“ขอฝากให้คณะกรรมการขับเคลื่อนของจังหวัดสระแก้ว ใช้ประสบการณ์ที่มีร่วมกับประสบการณ์ในการทำงานของพื้นที่นวัตกรรมรุ่นแรกของทีมส่วนกลาง ทำให้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของสระแก้ว สามารถสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ของพื้นที่และขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างก้าวกระโดด และความสำเร็จในการยกระดับคุณภาพศึกษาของจังหวัดสระแก้ว จะนำมาขยายผลเพื่อเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศได้ต่อไป” รมว.ศธ.กล่าว





ใส่ความเห็น