22 กุมภาพันธ์ 2566 / นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดการประชุมคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ครั้งที่ 2/2566 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ โดยมี ดร.นิรุตติ สุทธินนท์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม และมีกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำส่วนราชการต่าง ๆ จำนวน 30 คน ตลอดจนผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมประชุมในรูปแบบผสมผสาน (hybrid) ผ่านระบบการประชุมทางไกล
รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า “ผู้ช่วยรัฐมนตรี” มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการทำงานของนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรีแต่ละกระทรวง เป็นผู้ประสานงานในเรื่องสำคัญต่าง ๆ และยังเป็นผู้แทนของรัฐมนตรีในการรับฟังข้อเสนอแนะ รับข้อร้องเรียนหรือร้องทุกข์เกี่ยวกับนโยบาย ซึ่งวันนี้เป็นโอกาสของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่จะได้บอกเล่าผลงานสำคัญตามนโยบายของรัฐบาล 7 เรื่อง ได้แก่ การจัดการศึกษาเพื่อความปลอดภัย, การยกระดับคุณภาพการศึกษา, การสร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษาทุกช่วงวัย, การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน, การส่งเสริมสนับสนุนวิชาชีพครู และบุคลากรทางการศึกษา, การพัฒนาระบบราชการ และการบริการภาครัฐยุคดิจิทัล และการขับเคลื่อนกฎหมายการศึกษา และแผนการศึกษาแห่งชาติ
“ในส่วนของการหารือวันนี้ ศธ. มีประเด็นที่ขอรับการสนับสนุนหรือขอความร่วมมือจากกระทรวงต่าง ๆ 3 เรื่อง คือ 1) การส่งเสริม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาความประพฤติของนักเรียน นักศึกษา 2) การสร้างความร่วมมือในการจัดการศึกษาเพื่อความปลอดภัยของนักเรียน นักศึกษา และ 3) การแสวงหาความร่วมมือจากกระทรวงต่าง ๆ ในการจัดการอาชีวศึกษา ซึ่ง ศธ.หวังอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือจากทุกกระทรวง เนื่องจากการสร้างบุคลากรของชาติให้เป็นคนเก่ง คนดี มีภูมิคุ้มกันสู่โลกอนาคตนั้น ศธ.ไม่สามารถทำโดยลำพังได้ ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่ายมาช่วยกันขับเคลื่อนการศึกษาในทุกมิติ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวต่อไปได้อย่างยั่งยืน” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
โอกาสนี้ นายทศพล เพ็งส้ม กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) กล่าวว่า ปัจจุบันภาคเอกชนมีการทำสื่อการเรียนวิชาบนแพลตฟอร์มขายแล้ว แต่ของ ศธ. ยังไม่มี จึงอยากเสนอให้ทำโครงสร้างทางการศึกษาที่สามารถเรียนรู้ได้ทุกแพลตฟอร์ม โดยเรื่องสำคัญคือต้องสอนภาษาไทย เพื่อให้ชาวต่างประเทศที่มาอยู่ในประเทศไทยหรือต้องการพูดภาษาไทย ให้สามารถดูได้ในแพลตฟอร์มของ ศธ. ที่เป็นมาตรฐานของประเทศ
รวมถึงเรื่องอินเทอร์เน็ตของโรงเรียนที่ยังขาดแคลน ขอให้ ศธ.ทำเรื่องขอทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยจัดทำแผนให้ชัดเจนว่าจะดำเนินการกี่โรงเรียน ใช้เวลาดำเนินการกี่ปี ใช้งบประมาณเท่าไหร่ เพราะเรามีเงินกองทุนสนับสนุนด้านนี้อยู่แล้ว ซึ่งอาจจะทำเป็นทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางการศึกษากับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อวางแนวทางให้ชัดเจนว่าใครจะเป็นผู้กำหนดหรือรับผิดชอบเรื่องใดบ้าง






















ปารัชญ์ ไชยเวช / สรุป
ธนภัทร จันทร์ห้างหว้า / ถ่ายภาพ
ใส่ความเห็น