22 กุมภาพันธ์ 2566 / คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องประชุม 1 อาคาร สพฐ.4 โดยมีนายสุทธิ ปัญญาสกุลวงศ์ ที่ปรึกษา รมช.มท., นายสุทิน แก้วพนา รองปลัด ศธ., นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ., นายวิทยุต บุนนาค นายกสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย, นายเกรียงศักดิ์ สังข์ชัย ผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งผู้แทนในคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ เข้าร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์
รมช.ศธ. เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นชอบแผนการจัดการศึกษาสําหรับคนพิการ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2566 – 2570) มีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้คนพิการได้รับการศึกษาทุกระดับทุกระบบอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ ด้วยรูปแบบวิธีการที่หลากหลาย เหมาะสม และพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ เรียนรู้ทักษะวิชาการ พัฒนาทักษะชีวิต และประกอบอาชีพตามความสามารถ พึ่งตัวเองได้ ใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงหรือเทียบเท่าคนปกติ อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ปราศจากอุปสรรค หรือมีข้อจำกัดน้อยที่สุด
โดยกำหนดให้คนพิการทุกประเภทต้องได้รับการศึกษาและได้รับความช่วยเหลือทางการศึกษาตั้งแต่แรกเกิดหรือแรกพบความพิการ มีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา เน้นการสร้างโอกาสให้ได้รับการศึกษาทั่วถึง เสมอภาค และมีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาของแต่ละประเภทความพิการ ได้แก่ บุคคลที่มีความบกพร่องทางการเห็น, บกพร่องทางการได้ยิน, บกพร่องทางสติปัญญา, บกพร่องทางร่างกาย หรือการเคลื่อนไหว หรือทางสุขภาพ, บกพร่องทางการเรียนรู้, บกพร่องทางการพูดและภาษา, บกพร่องทางพฤติกรรม หรืออารมณ์, ออทิสติก และบุคคลพิการซ้อน
ด้วยการพัฒนาการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ให้สามารถเรียนรู้ตลอดชีวิต อย่างมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยวิถีพอเพียง มุ่งเน้นการเสริมสร้างโอกาสเข้าถึงบริการทางการศึกษาให้แก่คนพิการอย่างทั่วถึงและเสมอภาค สร้างการศึกษาที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานสำหรับคนพิการทุกระบบ โดยพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารการจัดการศึกษาและการจัดการทรัพยากรบุคคลที่เป็นมาตรฐาน และมีธรรมาภิบาล เพื่อให้คนพิการได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างมีคุณภาพสอดคล้องกับ ความต้องการจำเป็นของแต่ละบุคคล และมีทักษะการดำรงชีวิตสามารถประกอบอาชีพ พึ่งตนเองได้บนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
“การขับเคลื่อนการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการในประเทศไทยมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 20 ปี โดยการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน อาศัยปัจจัยสำคัญทั้งเชิงนโยบาย ทรัพยากร งบประมาณ บุคลากร และกลไกทางกฎหมาย ตลอดจนระเบียบต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับคนพิการให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม นำไปสู่การพัฒนาคนพิการให้ได้เรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพและมีคุณภาพชีวิตที่ดี อิสระ ปลอดภัย รู้เท่าทันโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่อไป”










อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / ภาพ
ใส่ความเห็น