“คุณหญิงกัลยา” ปรับนโยบายป้อนนักวิทยาศาสตร์สู่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล

รักษาราชการแทน รมว.ศธ. “คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช” ปรับนโยบายป้อนนักวิทยาศาสตร์สู่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล ตอบโจทย์กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต พร้อมขยายฐานส่งนักวิจัย/นักวิทยาศาสตร์ทุน พสวท. ชดใช้ทุนในหน่วยงานวิจัยเอกชนที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐ

(17 มีนาคม 2564) คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ รักษาราชการแทน รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 38-1/2564 ณ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มีมติเห็นชอบให้ขยายฐานหน่วยงานเอกชนที่มีหน่วยปฏิบัติงานวิจัยและพัฒนาสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ให้ผู้สำเร็จการศึกษาทุนพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ทุน พสวท.) สามารถปฏิบัติงานตอบแทนทุนได้ในเบื้องต้น 46 แห่ง

โดยมีผู้สำเร็จการศึกษาจากทุน พสวท. เข้าปฏิบัติงานในหน่วยงานเอกชนเป็นกรณีนำร่องแล้ว เช่น บริษัท เอสบีซี อบาคัส จำกัด  สถาบันวิทยสิริเมธี  บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เป็นต้น ทั้งนี้ผู้สำเร็จการศึกษา จะต้องรายงานความก้าวหน้าการทำวิจัยทุก 6 เดือน  และในการประชุมครั้งนี้ได้มีมติให้เพิ่มหน่วยงานเอกชนอีก 1 แห่ง คือ บริษัท ฮอทิเจนเนติคส์  รีเสิร์ช (เอส.อี.เอเซีย) รวมเป็น 47 แห่ง

การที่นักวิจัยเป็นผู้สำเร็จการศึกษาทุน พสวท.  ได้เข้าร่วมในหน่วยปฏิบัติงานวิจัยและพัฒนาที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในหน่วยงานเอกชน ตามที่มีแผนพัฒนาร่วมกัน นับว่าเป็นการขยายฐานการวิจัยเพื่อตอบสนองการพัฒนาประเทศได้ตรงจุด รวมทั้งทำให้นักวิจัยได้รับการสนับสนุนในด้านเทคโนโลยีและทรัพยากรที่เหมาะสม ทันสมัยจากภาคเอกชน ส่งผลให้เกิดขวัญกำลังใจที่จะสร้างงานวิจัยตอบแทนประเทศ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์แรกเริ่มของการให้ทุน พสวท. คือ ต้องการสร้างนักวิจัยหรือนักวิทยาศาสตร์ศักยภาพสูงมาร่วมพัฒนาประเทศ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีมติให้ปรับเพิ่มสาขาวิชาที่สามารถเลือกศึกษาในระดับปริญญาตรีสู่  10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล เพื่อตอบโจทย์กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต ภายใต้แนวคิดที่ว่า ประเทศไทยสามารถผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจใน 2 รูปแบบ ได้แก่ 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ  และ 5 อุตสาหกรรมอนาคต

5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (FIRST S-CURVE) คือ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และการแปรรูปอาหาร
5 อุตสาหกรรมอนาคต (NEW S – CURVE) คือ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม การบินและโลจิสติกส์ ดิจิทัล เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ และการแพทย์ครบวงจร

จากเดิมการรับทุน พสวท. ระดับปริญญาตรี สามารถเลือกศึกษาได้เฉพาะด้านวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ 6 สาขาวิชา (คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ธรณีวิทยา และพฤกษศาสตร์) จึงได้ปรับเพิ่มให้สามารถเลือกศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ได้ โดยให้พิจารณาสัดส่วนระหว่างวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์กับวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ อีก 42 หลักสูตร เช่น จุลชีววิทยา เคมีบูรณาการ เคมีอุตสาหกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ วัสดุศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์การกีฬา วิทยาการข้อมูล วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม  วิทยาศาสตร์พอลิเมอร์ วิทยาศาสตร์ชีวภาพรังสี วิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ เป็นต้น

ศาสตราจารย์ ดร. ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการกำหนดนโยบายการดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้สำเร็จการศึกษาทุน พสวท. 1,732 คน เข้าปฏิบัติงานตอบแทนทุนตามหน่วยงานต่าง ๆ 1,692 คน  อยู่ระหว่างรอบรรจุเข้าตอบแทนทุน 40 คน  ซึ่งผู้สำเร็จการศึกษาได้สร้างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ รวมถึงสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมจำนวนมาก และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ 19 คน  ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติในระดับชาติและนานาชาติ และทุนวิจัยจากหน่วยงานต่าง ๆ 62 รางวัล และยังมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติจนเป็นที่ยอมรับในวงการวิทยาศาสตร์  ขณะที่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ผู้สำเร็จการศึกษาจำนวนหนึ่งได้สร้างนวัตกรรม งานวิจัย พัฒนา และสื่อสารข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ COVID-19 ที่ถูกต้อง

ในส่วนของการดำเนินโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) ตลอดระยะเวลา 24 ปีที่ผ่านมา มีผู้สำเร็จการศึกษาทุน สควค. และเข้าปฏิบัติงานในโรงเรียนและหน่วยงานทางการศึกษา 5,397 คน ซึ่งนอกจากได้ปฏิบัติงานสอน พัฒนาและส่งเสริมนักเรียนให้ได้รับรางวัลในเวทีการประกวดต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศแล้ว ยังมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการเรียนการสอนของประเทศ โดยร่วมเป็นวิทยากรแกนนำในโครงการต่าง ๆ ของ สสวท.  ร่วมเป็นคณะทำงานในโครงการต่าง ๆ ของ สพฐ.  ตลอดจนได้รับรางวัลหนึ่งครูแสนดี 44 คน  รางวัลครูสอนดี ครูดีเด่น ครูดีเยี่ยม ครูดีในดวงใจ 94 คน รางวัล OBEC AWARDS 18 คน รางวัลวิจัยคุรุสภา 9 คน รางวัลครูวิทยาศาสตร์ดีเด่น 4 คน และรางวัลอื่น ๆ อีกจำนวนมาก และบางส่วนได้รับเชิญเป็นกรรมการระดับนานาชาติ

ทั้งนี้ สสวท. ได้เสนอขออนุมัติการดำเนินงานโครงการ สควค. ระยะที่ 4 (พ.ศ. 2564-2567)  โดยมุ่งเน้นพัฒนาทักษะสำคัญต่าง ๆ โดยเฉพาะในด้าน Digital Literacy  การทำวิจัยในชั้นเรียน และการนำการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ หรือใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาพัฒนาการเรียนการสอน  เพื่อให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

ปารัชญ์ ไชยเวช /สรุป
กิตติกร แซ่หมู่ /ถ่ายภาพ

ใส่ความเห็น

Website Built with WordPress.com.

Up ↑