(24 กุมภาพันธ์ 2564) ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับมอบหมายจากนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ครั้งที่ 2/2564 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ
1 เห็นชอบ (ร่าง) การอุดหนุนเป็นเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวแก่ครู รร.เอกชน
ที่ประชุมเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เรื่อง การอุดหนุนเป็นเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวแก่ครูโรงเรียนเอกชน
ด้วยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้รับจัดสรรงบประมาณประจำปี พ.ศ.2563 จำนวน 10 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอในการเบิกจ่ายเงินเพิ่มค่าครองชีพของครูโรงเรียนเอกชน และในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายการเพิ่มการครองชีพชั่วคราวครูโรงเรียนเอกชน จำนวน 5 ล้านบาท เนื่องจากดำเนินการส่งรายชื่อครูไม่ทัน ซึ่งลดลงจำนวนครึ่งหนึ่งของเงินงบประมาณที่เคยได้รับ
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 สช.ดำเนินการส่งรายชื่อครูได้ทัน สำนักงบประมาณจะจัดสรรงบประมาณให้ตามเดิมคือ 10 ล้านบาท
นอกจากนี้ ที่ประชุมยกร่างประกาศใหม่ โดยมีสาระสำคัญ เช่น
- ยกเลิกประกาศฉบับเดิม
- ปรับแก้ไขคำนิยาม “โรงเรียน” โดยตัดโรงเรียนเอกชนประเภทอาชีวศึกษาออก เนื่องจากย้ายไปสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และปัจจุบันไม่มีการเบิกจ่ายค่าครองชีพดังกล่าวแล้ว
- “ครู” โดยตัด บุคลากรทางการศึกษาและผู้อำนวยการของโรงเรียน ออก เนื่องจากตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 ตำแหน่งดังกล่าวต้องบรรจุวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2555 ให้ปรับเพิ่มเงินเดือนครูโรงเรียนเอกชน วุฒิปริญญาตรี ให้ได้รับเดือนละ 15,000 บาท โดยปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการวุฒิปริญญาตรีต่อเนื่อง 3 ปี (ปี 2555-2557) ดังนั้น ครูที่บรรจุหลัง 1 มกราคม 2557 ที่จบวุฒิปริญญาตรี ควรได้รับการปรับเพิ่มเงินเดือนเป็น 15,000 บาท และไม่ควรได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพครูวุฒิต่ำกว่าปริญญา
- แก้ไขหน่วยงานในส่วนภูมิภาค จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เป็น สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด และสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน
- หลักเกณฑ์/วิธีการการให้เงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว
2 เห็นชอบปรับปรุงประกาศ สช. เรื่องเพิ่มเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียน
ที่ประชุมเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เรื่อง การอุดหนุนเงินเป็นค่าอาหารกลางวันของนักเรียน พ.ศ. ….
ด้วยรัฐบาลมีนโยบายให้ความช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนประเภทการกุศล ที่มีฐานะยากจน ขาดแคลนทุนทรัพย์ และนักเรียนที่มีปัญหาขาดแคลนอาหารกลางวันในโรงเรียนประเภทสามัญศึกษาทั่วไป เป็นค่าอาหารกลางวัน และได้จัดสรรงบประมาณให้ ศธ. ดำเนินการเป็นรายปีเพื่อพัฒนาร่างกายของนักเรียนในโรงเรียนเอกชนให้มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง มีน้ำหนักและส่วนสูงเพิ่มขึ้น
สช. จึงเห็นควรปรับปรุงประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอุดหนุนเป็นค่าอาหารกลางวันของนักเรียน พ.ศ.2552 โดยยกเลิกประกาศฉบับเดิม และปรับแก้ไขคำนิยาม เช่น
- “นักเรียนทุพโภชนาการ” ให้สอดคล้องกับ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
- “นักเรียนยากจนขาดแคลน” ที่สามารถขอรับเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวัน ให้เป็นไปตามที่สำนักงานกำหนด เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติ
- โรงเรียนที่มีสิทธิขอรับเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวัน ต้องเป็นโรงเรียนในระบบ ที่ได้รับเงินอุดหนุนรายบุคคล แต่ไม่รวมถึงโรงเรียนการศึกษาพิเศษ
- การจัดสรรเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวัน ให้คำนวณจากจำนวนนักเรียน ณ วันที่ 10 มิถุนายน ของปีการศึกษาที่ขอรับ โดยให้จัดสรรแก่โรงเรียนการกุศลก่อนอันดับแรก หากคงเหลือให้จัดสรรให้แก่โรงเรียนสามัญทั่วไป
- การยื่นขอรับเงินค่าอาหารกลางวัน ให้เป็นไปตามที่สำนักงานกำหนด และการรายงานผลการดำเนินงาน
กรณีที่ตรวจพบว่า โรงเรียนมีการเบิกเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันผิดพลาด หรือโดยทุจริต ให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด หรือสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด เรียกเก็บเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันคืน พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของจำนวนเงินที่เบิกโดยผิดพลาดหรือโดยทุจริต นับตั้งแต่วันที่เบิกจ่ายจนถึงวันที่ชำระเสร็จสิ้น
3 รายงานการคืนค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นให้แก่ผู้ปกครอง
ที่ประชุมรับทราบ รายงานการคืนค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นให้แก่ผู้ปกครองเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้โรงเรียนเอกชนต้องปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ ในเดือนมกราคม 2564 ดังนี้
- โรงเรียนเอกชนที่คืนค่าธรรมเนียมอื่น จำนวน 424 แห่ง (กรุงเทพ ฯ 116 แห่ง, ส่วนภูมิภาค 408 แห่ง) เป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน 561 ล้านบาทเศษ จำแนกเป็น ค่าอาหาร, ค่าอาหารเสริม (นม), ค่าอาหารว่าง, ค่ารถรับส่ง, ค่าเรียนดนตรี กีฬา และศิลปะ, ค่าทัศนศึกษา, ค่าเรียนคอมพิวเตอร์/ค่าอินเทอร์เน็ต/ค่าใช้บริการ ICT, ค่าเรียนสอนเสริมภาษาต่างประเทศ, ค่าเรียนว่ายน้ำ, ค่าเรียนเสริมวิชาการ, ค่ากิจกรรมค่ายเสริมทักษะวิชาการ/วิชาชีพ
- โรงเรียนที่ไม่คืนค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่น เนื่องจากโรงเรียนมีการจัดการเรียนการสอนชดเชยให้นักเรียนตามจำนวนเวลาเรียนที่ขาดไปจนครบตามหลักสูตร เช่น วันเสาร์ วันหยุดราชการ และวันหยุดอื่น ๆ และได้นำค่าธรรมเนียมอื่นมาใช้จ่ายเกี่ยวกับการเรียนการสอนออนไลน์ ใบงาน ใบความรู้ สื่ออุปกรณ์การเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมพัฒนาการ หนังสือนิทานแบบเรียน-หนังสือเรียน และคลิปวิดีโอให้กับนักเรียน และบางโรงเรียนเปิดสอนตามปกติ
4 รับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานของ สช.
ที่ประชุมรับทราบ รายงานผลการปฏิบัติงาน ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน 4 เรื่อง ดังนี้
- ขอให้ สช. ติดตามความคืบหน้าการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้กับโรงเรียนนอกระบบ โดยอยู่ในกระบวนการทางกฎหมายที่กระทรวงการคลังจะดำเนินการต่อไป
- เห็นชอบร่างประกาศการดำเนินงานของกองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบเพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการเสนอในส่วนของการบริหารกิจการโรงเรียน จำนวน 2 ฉบับ โดย รมว.ศธ. ลงนามในประกาศฯ 2 ฉบับแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการประกาศในราชกิจจานุเบกษา
- เห็นชอบการปรับเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนรายบุคคลในส่วนของเงินสมทบเป็นเงินเดือนครูสำหรับนักเรียนโรงเรียนเอกชน ประเภทอาชีวศึกษา ระดับ ปวช.ให้ได้รับเท่ากับการอุดหนุนนักเรียนในโรงเรียนเอกชน ประเภทสามัญศึกษา ระดับ ม.ปลาย โดยมอบ สอศ. เสนอ ศธ. พิจารณานำเสนอ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบ ขณะนี้อยู่ระหว่าง สอศ. ดำเนินการเสนอ ศธ. เพื่อเสนอ ครม. พิจารณาต่อไป
- เห็นชอบให้เลขาธิการ กช. แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบการเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นที่มีลักษณะแสวงหากำไรเกินสมควรก่อนเสนอผู้มีอำนาจพิจารณาต่อไป
การประชุมครั้งนี้มีผู้บริหารระดับสูงเข้าร่วม อาทิ นายพะโยม ชิณวงศ์ ประธานคณะทำงาน รมช.ศธ., นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการ สกศ., นายสุทิน แก้วพนา รองปลัด ศธ., นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ รองเลขาธิการ กอศ., นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการ กช., นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน, ผู้แทนจาก สพฐ. ผู้แทนจากสำนักงบประมาณ ผู้แทนสมาคมจากภาคเอกชนซึ่งเป็นคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
กำหนดการประชุมครั้งต่อไป ในวันพุธที่ 24 มีนาคม 2564











อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
กิตติกร แซ่หมู่ / ภาพ
ใส่ความเห็น