ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566 เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยแต่งตั้งรองศาสตราจารย์ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (26 พฤษภาคม 2563) อนุมัติแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จำนวน 8 คน ซึ่งในจำนวนนี้มี รองศาสตราจารย์ทิศนา แขมมณี เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิรวมอยู่ด้วย โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเป็นต้นไป และได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 นั้น
บัดนี้ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิรายดังกล่าวข้างต้นได้พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากขอลาออก อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 (4) แห่งพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 อนุมัติแต่งตั้ง รองศาสตราจารย์ประวิต เอราวรรณ์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และผู้ได้รับแต่งตั้งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ประธานกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเสนอ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2566
วิษณุ เครืองาม
รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี
“พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” เป็นพื้นที่ปฏิรูปการบริหารและการจัดการการศึกษา เพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมการศึกษา เป็นการนำร่องในการกระจายอำนาจและให้อิสระแก่หน่วยงานทางการศึกษาและสถานศึกษานำร่อง ให้เกิดการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งมีการขยายผลนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนและวิธีการปฏิบัติที่ดีไปใช้ในสถานศึกษาอื่น เป็นการส่งเสริมการกระจายอำนาจ เน้นกลไกการจัดการศึกษาร่วมกันของทุกภาคส่วน เพิ่มความอิสระคล่องตัวในการบริหารและการจัดการศึกษา ของหน่วยงานทางการศึกษาและสถานศึกษานำร่อง ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

เรื่องน่ารู้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (Education Sandbox)
- ปี 2561 จัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษานำร่อง 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสตูล ระยอง ศรีสะเกษ เชียงใหม่ กาญจนบุรี นราธิวาส ยะลา และจังหวัดปัตตานี
- ปี 2565 กำหนดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพิ่ม 11 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กระบี่ จันทบุรี ตราด ภูเก็ต แม่ฮ่องสอน สงขลา สระแก้ว สุโขทัย สุราษฎร์ธานี และอุบลราชธานี
- อ่านเพิ่มเติม ผลการประเมินการดำเนินงาน การบริหารจัดการ และผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
ใส่ความเห็น