ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 เผยแพร่กระทู้ถามที่ 005 ร เรื่อง ขอทราบผลการประเมินการดำเนินงาน การบริหารจัดการ และผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งพลเอก บุญธรรม โอริส สมาชิกวุฒิสภา ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตอบในราชกิจจานุเบกษา
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 12 “ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต” ได้ระบุถึงสถานการณ์การพัฒนาที่ผ่านมาว่า ได้มีความพยายามปรับปรุงคุณภาพการศึกษาทุกระดับ ทั้งการยกระดับมาตรฐานการศึกษา การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ การใช้เทคโนโลยีและการพัฒนานวัตกรรมการเรียน รวมถึงการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมที่เป็นแบบอย่างด้านการศึกษา ทำให้สถานศึกษามีความเป็นอิสระควบคู่กับมีความรับผิดชอบต่อสังคม
สำหรับพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา ได้มีการพัฒนามาโดยลำดับ ดังนี้
- กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการบริหารจัดการศึกษาตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 54 โดยออกประกาศจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษานำร่องขึ้น จำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสตูล ระยอง ศรีสะเกษ เชียงใหม่ กาญจนบุรี นราธิวาส ยะลา และจังหวัดปัตตานี ในห้วงเดือนสิงหาคม – ตุลาคม 2561 ตามลำดับ เพื่อให้เกิดรูปแบบการบริหารจัดการการศึกษารูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นการทดลองการกระจายอำนาจการบริหารจัดการจากส่วนกลางไปยังจังหวัด โดยมีระบบและกลไกการบริหารจัดการพื้นที่ด้วยตนเอง ส่งเสริมให้สถานศึกษามีอิสระในดัานวิชาการ การบริหารบุคลากรและการบริหารทั่วไป ด้วยความรับผิดชอบต่อคุณภาพการศึกษา นำไปสู่การพัฒนาสมรรถะของผู้เรียนให้เหมาะสมกับศักยภาพของผู้เรียน บริบทพื้นที่และความต้องการของประเทศ
- พระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป เป็นเวลาเจ็ดปี และอาจขยายเวลาใช้บังคับได้อีกเพียงหนึ่งครั้ง แต่ไม่เกินเจ็ดปี โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อ (1) คิดค้น พัฒนานวัตกรรมเพื่อยกผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนอย่างรอบด้าน (2) ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา (3) กระจายอำนาจและให้อิสระแก่หน่วยงานทางการศึกษาและสถานศึกษานำร่อง เพื่อเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพการจัดการศึกษา และ (4) สร้างและพัฒนากลไกในการจัดการศึกษาร่วมกันของทุกภาคส่วนในพื้นที่ และกำหนดให้มีการประเมินผลการดำเนินงาน และการบริหารจัดการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทุกสามปี โดยคณะผู้ประเมินอิสระ
- เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี กำหนดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพิ่มขึ้นอีก 11 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กระบี่ จันทบุรี ตราด ภูเก็ต แม่ฮ่องสอน สงขลา สระแก้ว สุโขทัย สุราษฎร์ธานี และอุบลราชธานี

1 ผลการประเมินการดำเนินงานและการบริหารจัดการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาใน 8 จังหวัดนำร่อง เป็นอย่างไร
กระทรวงศึกษาธิการ ขอเรียนว่า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะคณะผู้ประเมินอิสระ ที่คณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาแต่งตั้ง ตามมาตรา 15 (4) และมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 อยู่ระหว่างดำเนินการประเมินผลการดำเนินงาน และการบริหารจัดการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 8 จังหวัด ได้แก่ พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดระยอง จังหวัดสตูล จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส ซึ่งการประเมินจะเสร็จสิ้นภายในวันที่ 17 เมษายน 2566
อย่างไรก็ตาม คณะผู้ประเมินอิสระ ได้รายงานความคืบหน้าผลการศึกษาวิจัยต่อคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรม เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2565 ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
- การกระจายอำนาจและให้อิสระพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในการเลือกใช้หลักสูตร พบว่า มีอิสระในการเลือกใช้หนังสือเรียน และมีอิสระในการพัฒนาการศึกษาของตน โดยในแต่ละพื้นที่มีการพัฒนากรอบหลักสูตรของจังหวัดเพื่อใช้เป็นแนวทางพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาของตนเอง
- การสร้างและพัฒนากลไกความร่วมมือจากทุกภาคส่วน พบว่า แต่ละพื้นที่ได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วน เพื่อจัดการศึกษาสำหรับคนในพื้นที่ การระดมทรัพยากรทางการเงินส่วนใหญ่มาจากงบประมาณแผ่นดิน การระดมทรัพยากรทางการเงินนอกเหนือจากนี้เป็นไปอย่างจำกัด
- การเพิ่มผลสัมฤทธิ์/ผลิต/พัฒนา/ขยายผลนวัตกรรมการศึกษา พบว่า มีการขยายผลเชิงปริมาณ โดยเพิ่มจำนวนสถานศึกษานำร่อง และเพิ่มจำนวนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอีก 11 พื้นที่
- การยกระดับผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน พบว่า สถานศึกษานำร่องส่วนใหญ่ประสบปัญหาการออกแบบ การทดสอบผู้เรียนให้สอดคล้องกับหลักสูตรที่เลือกใช้ ซึ่งคณะผู้ประเมินอิสระอยู่ระหว่างการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ผลการทดสอบระดับชาติ (NT, RT และ O-NET) ของผู้เรียน เพื่อวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาใน 8 จังหวัดนำร่อง เมื่อเปรียบเทียบกับผลสัมฤทธิ์ก่อนเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่เห็นประจักษ์เป็นอย่างไร
กระทรวงศึกษาธิการ ขอเรียนว่า สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ศึกษาเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 ก่อนสถานศึกษาจะเข้าร่วมเป็นสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และหลังเข้าร่วมเป็นสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ในช่วง 1 ปีแรกของการดำเนินการ ซึ่งเป็นการศึกษาเฉพาะในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดระยอง โดยการประเมินผลสัมฤทธิ์ด้านเจตคติ (Attiude) ได้ใช้เครื่องมือผังกราฟฟิก (Graphic Organizer) มีการวัดและประเมินผลนักเรียน จำนวน 175 คน ส่วนผลสัมฤทธิ์ด้านความรู้ (Knowledge) และทักษะ (Skill) ใช้การวิเคราะห์เชิงถดถอย (Regression Analysis) จากข้อมูลคะแนนผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ปีการศึกษา 2561 และปีการศึกษา 2562 ของนักเรียนจำนวน 40,244 คน ในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 1,000 แห่ง ประกอบด้วยสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จำนวน 54 แห่ง และสถานศึกษาที่ไม่ใด้เข้าร่วมเป็นสถานศึกษานำร่องอีก 946 แห่ง
ผลการศึกษาวิจัย พบว่า เจตคติด้านแรงจูงใจในการเรียน (Learning Motivation) ของผู้เรียน ภายหลังสถานศึกษาเข้าร่วมในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มีการเปลี่ยนแปลงในทางบวก นักเรียนมีความสุขในการมาเรียน และมีส่วนร่วมในการเรียนมากขึ้น สำหรับเจตคติทางปัญญา (Intellectual Attitude) พบว่า นักเรียนกลุ่มอ่อนมีความเข้าใจในการเรียนมากขึ้น ซึ่งสาเหตุที่สำคัญคือครูเปลี่ยนวิธีการสอน โดยให้นักเรียนมีปฏิสัมพันธ์กับครูและเพื่อนร่วมชั้นมากขึ้น มีวิธีการสอนรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถออกแบบผลงานได้เอง
ด้านผลสัมฤทธิ์ด้านความรู้ และทักษะ ยังไม่พบความเปลี่ยนแปลงทั้งก่อนและหลังเข้าร่วมเป็นสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจเกิดจากผลลัพธ์ด้านความรู้และทักษะต้องใช้ระยะเวลาจึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลง สอดคล้องกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาที่มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติจริง ที่พบว่าการเปลี่ยนแปลงจะเห็นได้ชัดเจนต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี และจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี
นอกจากนี้ ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาระหว่างผู้เรียนในสถานศึกษานำร่อง และผู้เรียนในสถานศึกษาที่ไม่ได้เข้าเป็นสถานศึกษานำร่อง โดยใช้วิธีการลงพื้นที่ติดตามการบริหารและการสัมภาษณ์ผู้ปกครองและนักเรียน พบว่า มีความพืงพอใจต่อการจัดการเรียนการสอนที่ให้อิสระในการปรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เข้ากับบริบทของพื้นที่ และผู้เรียนมีความสนใจต่อกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning
กระทรวงศึกษาธิการได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับจังหวัด/สถานศึกษาที่ยังไม่เสนอเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาหรือไม่ อย่างไร
กระทรวงศึกษาธิการ ขอเรียนว่า ได้มีการวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ข้อมูลผลการทดสอบความสามารถพื้นฐานของผู้เรียนระดับชาติ (NT) ผลการทดสอบการประเมินความสามารถด้านการอ่านของผู้เรียน (RT) รายบุคคล และผลการทดสอบการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) เป็นรายวิชาเพื่อเป็นข้อมูลในการในการพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้ การพัฒนาครู และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
กระทรวงศึกษาธิการมีแผนในการขยายเวลาใช้บังคับตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เมื่อครบกำหนดเจ็ดปีแรกหรือไม่ อย่างไร
กระทรวงศึกษาธิการ ขอเรียนว่า ยังไม่มีแผนการขยายเวลาใช้บังคับพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เมื่อครบกำหนดเจ็ดปีแรก เนื่องจากเป็นอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ตามมาตรา 15 (9) ที่จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ในการตราพระราชกฤษฎีกาใช้บังคับตามพระราชบัญญัตินี้ โดยจะต้องใช้ข้อมูลการประเมินผลการดำเนินงานและการบริหารจัดการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษามาประกอบการพิจารณาด้วย
ที่มา ราชกิจจานุเบกษา
ใส่ความเห็น