กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดการประชุมสรุปผลการดำเนินงาน เพื่อก้าวสู่ปีที่ 131 การศึกษาไทยในศตวรรษที่ 21 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 เพื่อรายงานความสำเร็จการขับเคลื่อนงานตามนโยบายและจุดเน้น 7 หน่วยงานหลัก ในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 131 รมว.ศธ. “ตรีนุช” ขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยกันขับเคลื่อน สร้างคุณภาพการศึกษาทุกมิติ พร้อมย้ำถึงความสำคัญของการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ให้ ศธ.เกิดความเชื่อมั่นไว้วางใจต่อสังคม อย่างต่อเนื่อง
ดาวน์โหลดเอกสารทั้ง 7 หน่วยงานที่นำเสนอได้ที่ลิงก์ shorturl.at/mpHR5
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.)
เริ่มที่สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ชี้แจงภาพรวมผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของ ศธ. ภารกิจที่เด่นชัดคือ “การดำเนินการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ของเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษา”
นอกจากนี้ มีอีกหลายเรื่องที่ประสบผลสำเร็จ ได้รับการตอบรับที่ดี และเป็นที่น่าภูมิใจ เช่น
- อาสาสมัครกระทรวงศึกษาธิการ (อส.ศธ.) ศธ.ได้สร้างเครือข่ายคุณครูหรือบุคลากรทางการศึกษาที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว ได้มีโอกาสทำงานให้ความรู้ด้านการศึกษาและช่วยเหลือชุมชน ปัจจุบันมียอดผู้สมัครทำงานเป็นอาสาสมัครมากถึง 43,885 คน
- การแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ด้วย 7 มาตรการ ซึ่งได้ทำ MOU กับหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการเงิน ดำเนินการจัดมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย แก้ไขปัญหาหนี้สินครู 4 ภาค ซึ่งช่วยให้ครูมีภาระหนี้สินลดลงกว่า 2,000 ล้านบาท มีการยกระดับปรับโครงสร้างหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ย ตัดเงินเดือนและควบคุมยอดหนี้ ชะลอการดำเนินการทางกฎหมาย รวมถึงจัดตั้งสถานีแก้หนี้ครู และติดอาวุธให้ความรู้ทักษะทางการเงิน
- ยูเนสโก (UNESCO) ได้เสนอการเฉลิมฉลองเนื่องในวาระครบรอบ 100 ปี ประสูติของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ วันที่ 6 พฤษภาคม 2566 ซึ่ง UNESCO ได้มอบรางวัลประกาศยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในปี 2565 – 2566 ศธ.ได้ดำเนินการจัดการแสดงดนตรีและนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติเพื่อเฉลิมฉลอง กำหนดจัดระหว่างวันที่ 13 – 17 พฤษภาคม 2566 ณ กรุงปารีส และเมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งในวันดังกล่าว สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานและทอดพระเนตรกิจกรรม
และอีกหนึ่งความพวกภาคภูมิใจในการขับเคลื่อนงาน ศธ.ได้ทำหนังสือถึงคณะรัฐมนตรี ในการเสนอพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ให้ UNESCO ประกาศยกย่องและร่วมเฉลิมฉลองในวาระ 100 ปีวันพระราชสมภพในปี 2570 เนื่องจากพระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการ ด้วยพระปณิธานแนวแน่ที่จะทำประโยชน์เพื่อประชาชนชาวไทยและสังคมโลก
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รายงานผลการดำเนินงานในฐานะที่ดูแลนักเรียนระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ทั้งเด็กที่อยู่ในระบบการศึกษาปกติ กลุ่มเด็กด้อยโอกาส อยู่ในศูนย์อพยพ และเด็กพิเศษโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย โดยกล่าวถึงภาพรวมใน 4 มิติ ที่เน้นด้านคามปลอดภัย คุณภาพ โอกาส และประสิทธิภาพทางการศึกษา มีหลายโครงการที่ดำเนินการ เช่น
- ความปลอดภัยในสถานศึกษา พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครอง โดยจัดตั้งศูนย์ความปลอดภัย กระทรวงศึกษาธิการ จัดทำคู่มือการดำเนินการ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สร้างโครงการ 1 โรงเรียน 1 ครูอนามัย เพื่อสร้างการรับรู้การช่วยชีวิตพื้นฐาน และดูแลสุขภาวะร่างกายสุขภาวะจิตใจ ประเมินความเสี่ยงโรคซึมเศร้าในเด็กหลังสถานการณ์ Covid-19
- โครงการพาน้องกลับมาเรียน ให้โอกาสไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตามเด็กที่ออกนอกระบบกลับมาศึกษาต่อ เด็กตกหล่นทุกคนต้องมีที่เรียน
- Active Learning การจัดการเรียนรู้เชิงรุก ดำเนินการให้โรงเรียนในสังกัดปรับมาตรการการสอนให้เป็นหลักสูตร Active Learning 100% ทุกโรงเรียน
- โรงเรียนคุณภาพ ทำโรงเรียนทุกขนาดให้มีคุณภาพเท่าเทียมกัน ลดความเหลื่อมล้ำได้
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงศ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รายงานการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงศึกษาธิการสู่การพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง เพื่อการพัฒนาประเทศ ด้วย 4 โครงการหลัก ได้แก่
- โครงการเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษา และมัธยมศึกษาตอนปลาย (ทวิศึกษา) มุ่งเน้นการจัดการเรียนหลักสูตรทวิศึกษา โดยเฉพาะในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ / ศึกษาสงเคราะห์ / โครงการพระราชดำริ มีผู้ประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ จำนวนมากกว่า 5,000 คน จัดแผนการเรียนแบบกลุ่มวิชาอาชีพ (โมดูลอาชีพ) การเรียนรู้แบบบูรณาการงานอาชีพ (Work Based Learning) เพื่อนำไปสู่การฝึกประสบการณ์ในสถานประกอบการ มีการทดสอบสมรรถนะวิชาชีพก่อนจบการศึกษา และมีสมรรถนะตามมาตรฐานการอาชีวศึกษา
- EXCELLENT CENTER เพื่อสร้างความเป็นเลิศเฉพาะทาง ตอบโจทย์กำลังคนสมรรถนะสูง ปัจจุบันมีจำนวน 170 ศูนย์ ดำเนินการพัฒนาความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สามารถส่งนักเรียน-นักศึกษาเข้าฝึกประสบการณ์จากสถานประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยระยะต่อไปจะมีการพัฒนาหลักสูตรให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับสมรรถนะที่สถานประกอบการต้องการ รวมถึงได้รับการรับรองมาตรฐานทั้งในประเทศและต่างประเทศ
- ทวิภาคีคุณภาพสูง โดยสถานศึกษาร่วมกับสถานประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพัฒนาหลักสูตร สนับสนุนการจัดการเรียนการสอน ส่งเสริมสมรรถนะด้านอาชีพ เรียนจบมีงานทำทันที โดยเปิดสาขาใหม่ เช่น สาขาโลจิสติกส์การบิน สาขายานยนต์ไฟฟ้า EV สาขาหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม เป็นต้น ขณะนี้มีสถานศึกษาของรัฐเข้าร่วม 433 แห่ง สถานศึกษาเอกชน 444 แห่ง ทั้งนี้ตั้งเป้าหมายปี 2568 ดึงสถานประกอบการเข้าร่วม 12,388 แห่ง มีจำนวนผู้เรียนทวิภาคี 511,177 คน คิดเป็น 50%
- อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ นำเด็กตกหล่นที่หลุดจากระบบการศึกษา กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ด้วยความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาของ สอศ. สพฐ. และ กศน. สามารถสร้างโอกาสให้ผุ้เรียนได้ 3,480 คน ซึ่งในอนาคตจะมีการเพิ่มจำนวนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ห่างไกล ชายแดน ชายขอบ เขตชนบท และเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีฐานะยากจน รวมถึงเพิ่มจำนวนสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการด้วย
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)
นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการศึกษา รายงานผลดำเนินงานสำคัญ ดังนี้
- การสรรหาคณะกรรมการสภาการศึกษา ชุดที่ 5 จำนวน 28 รูป/คน
- ประชุมคณะกรรมการสภาการศึกษา ชุดที่ 5 ซึ่งได้ประชุมไปแล้ว 3 ครั้ง โดยได้เห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา 9 คณะ และได้พิจารณาให้ความเห็นชอบประเด็นเชิงนโยบายที่สำคัญ
- ขับเคลื่อนการพัฒนาเด็กปฐมวัย ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ได้ขับเคลื่อนและติดตามแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย ติดตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย จัดทำฐานข้อมูลสารสนเทศด้านเด็กปฐมวัย ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ และนโยบายและผลงานสำคัญต่าง ๆ
- ขับเคลื่อนงานกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) ดำเนินกิจกรรมขับเคลื่อนงานตามมติ ค.ร.ม. และขับเคลื่อนงานภายใต้ความร่วมมือระดับภูมิภาคอาเซียน พร้อมลงพื้นที่สถานศึกษาประชุมติดตามการดำเนินการขับเคลื่อน NQF สู่การปฏิบัติ ปี 2566
สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)
นายคมกฤช จันทร์ขจร รองเลขาธิการ กศน. รักษาราชการแทนเลขาธิการ กศน. นำเสนอโครงการที่สำคัญ เช่น
- โครงการสูงวัย ใจสมาร์ท พัฒนาการทางกายจิตและสมองของผู้สูงอายุ พัฒนาทักษะชีวิตผู้สูงวัย 4 มิติ (สุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อมและเทคโนโลยี) เพื่อการมีสุขภาวะที่ดี สามารถดูแลสุขภาพช่วยเหลือตนเองได้ มีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 247,490 คน
- โครงการพาน้องกลับมาเรียน ในปีการศึกษา 2565 มียอดผู้เรียนหลุดออกจากระบบ 79,396 คน สามารถติดตามกลับเข้าสู่ระบบได้ 47,340 คน รวมถึง โครงการ กศน.เพื่อคนพิการ สร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับคนพิการและผู้ด้อยโอกาส มีการใช้ระบบ CAPER ในการจัดการเรียนรู้ จัดการศึกษาต่อเนื่อง จัดทำคู่มือในการนิเทศติดตามการใช้ระบบ CAPER นิเทศติดตามการใช้ระบบ CAPER จัดประชุมเพื่อนิเทศติดตามประเมินผล และสรุปรายงานผลการใช้ระบบ CAPER ในการจัดการเรียนรู้
- โครงการ กศน. WHITE ZONE (ศูนย์ความปลอดภัยสำนักงาน กศน.) จัดตั้งศูนย์ความปลอดภัยในระดับหน่วยงานจังหวัดสถานศึกษา 77 แห่ง คณะกรรมการศูนย์ความปลอดภัย 1,005 แห่ง และเจ้าหน้าที่ดูแลระบบ MOE Safety Center มีการจัดกิจกรรมประกวดสื่อสร้างสรรค์ “เยาวชนรุ่นใหม่ห่างไกลบุหรี่ไฟฟ้า” สถานศึกษาปลอดแอลกอฮอล์ WHITE ZONE สถานศึกษา กศน. ปลอดยาเสพติด ศูนย์อำนวยการและคณะกรรมการช่วยเหลือภัยพิบัติ ตลอดจนดำเนินการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาต่อเนื่อง และการศึกษาตามอัธยาศัย
นอกจากนี้ สำนักงาน กศน.ได้เตรียมเข้าสู่การจัดตั้งกรมส่งเสริมการเรียนรู้ มีหน้าที่จัดส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง การเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ ใช้ระยะเวลาในการจัดตั้ง 60 วัน โดยจะมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายในวันที่ 19 พฤษภาคม 2566
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)
นายประพัทธ์ รัตนอรุณ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สรุปผลการดำเนินงาน 3 เรื่อง ได้แก่
- การส่งเสริมประสิทธิภาพการจัดการศึกษาเอกชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีแนวทางดำเนินงานที่สำคัญ เช่น 1) พัฒนาการนิเทศติดตามส่งเสริมสนับสนุนผู้บริหารและครูโรงเรียนเอกชนในศูนย์ตาดีกา จัดสรรค่าใช้จ่ายในการตรวจติดตามและสัมมนา ฝึกอบรมบุคลากรในศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิดตาดีกาจำนวนทั้งสิ้น 2,144 ศูนย์ ทำให้บุคลากรจำนวน 15,910 คน ได้รับการนิเทศพัฒนาในด้านการจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น 2) พัฒนาการนิเทศติดตามและเพิ่มประสิทธิภาพสถานศึกษาให้มีความปลอดภัย จัดหายานพาหนะสำหรับใช้ในการนิเทศ ติดตาม ประเมินผลให้กับ สช.จังหวัด และสช.อำเภอ จำนวน 42 คัน ขณะนี้อยู่ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการเสนอของงบกลางไปยังสำนักงบประมาณ 3) การปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินอุดหนุนให้สถาบันศึกษาปอเนาะ ให้สามารถเบิกจ่ายผ่าน สช.อำเภอ สช.จังหวัด (เดิมเบิกจ่ายผ่าน ศธจ.) โดยสถาบันศึกษาปอเนาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบันมีจำนวน 445 แห่ง ได้รับความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
- การอุดหนุนอาหารกลางวัน สำหรับนักเรียนเอกชนในศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิดตาดีกา โดย ครม. มีมติเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 อนุมัติหลักการโครงการอาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียน (ตาดีกา) ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ 2566-2570 ซึ่งปีงบประมาณ 2566 มีนักเรียนได้รับจำนวน 172,473 คน ใช้งบประมาณสนับสนุนโครงการดังกล่าว จำนวน 331,148,166 บาท และการปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนโรงเรียนเอกชนตามขนาดของโรงเรียน โดยปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันให้แก่นักเรียนระดับชั้นเด็กเล็ก ถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ตามขนาดของโรงเรียน ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายนักเรียนโรงเรียนเอกชน จำนวน 487,819 คน ใช้งบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 2,175,578,200 บาท
- การปรับเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนรายบุคคลสำหรับนักเรียนพิการ ในโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญศึกษาและอาชีวศึกษา โดยปรับเพิ่มเงินอุดหนุนให้สมทบเงินเดือนครู ผู้ช่วยครู และค่าใช้จ่ายสำหรับนักเรียนพิการประเภทไป-กลับ โดยมีนักเรียนได้รับความช่วยเหลือ 4,762 คน ใช้งบประมาณจำนวน 118,739,045 บาท ซึ่งจะมีผลในปีงบประมาณพ.ศ 2566 เป็นต้นไป
สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.)
รองศาสตราจารย์ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. สรุป 13 เรื่องเด่น การพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลเพื่อพลิกโฉมวิชาชีพครู ดังนี้
- สร้างขวัญกำลังใจให้ครูที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ยากลำบาก โดยลดระยะเวลาขอวิทยฐานะ จาก 4 ปี เหลือ 3 ปี และเสนอเงินเพิ่มพิเศษจากสภาพการทำงาน เดือนละ 3,000 บาท
- จัดสวัสดิการและเพิ่มกรอบอัตรากำลังบุคลากรทางการศึกษา โดยเพิ่มกรอบอัตรากำลังสายสนับสนุนให้สถานศึกษา และเพิ่มเงินพิเศษเจ้าหน้าที่พัสดุ เดือนละ 2,000 – 6,000 บาท
- สร้างกลไกบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ประกาศใช้หลักเกณฑ์โรงเรียนคุณภาพ “จัดการเรียนการสอน และใช้ทรัพยากรร่วมกันกับโรงเรียนหลัก”
- ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมด้านคุณภาพให้โรงเรียน จัดสรรอัตรากำลังกว่า 20,453 อัตรา ตามเกณฑ์อัตรากำลังในรูปแบบใหม่
- ลดความซ้ำซ้อนในการประเมิน คืนครูสู่ห้องเรียน วางระบบเกณฑ์ประเมินใหม่ โดยใช้เกณฑ์ PA (ประเมินเงินเดือน เลื่อนวิทยฐานะ แลคงวิทยฐานะเป็นเรื่องเดียวกัน)
- ประเมินวิทยฐานะผ่านระบบออนโลน์ [DPA] ลดเอกสาร ระบบทันสมัย รวดเร็ว ยุติธรรม และมีประสิทธิภาพ
- มุ่งคุณภาพผลลัพธ์ที่ผู้เรียน ปรับมาตรฐานตำแหน่ง ให้ ผอ. / รอง ผอ. รร. เข้าถึงห้องเรียนอย่างน้อย 5 ชม. /สัปดาห์ และปรับการประเมินครูผ่าน 8 ตัวชี้วัด สะท้อน SMART TEACHING และ ACTIVE LEARNING
- วางระบบการสรรหาบุคคลเข้าสู่วิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกสายงานใหม่ทั้งหมด โดยกำหนดหลักเกณฑ์คัดเลือก ผอ. / รอง ผอ. เขตพื้นที่ฯ และสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ และหลักเกณฑ์การสอบครูผู้ช่วย
- สร้างระบบมาตรฐานทางจริยธรรมในการปฏิบัติงาน ประกาศใช้ประมวลจริยธรรมครูฯ ให้ครอบคลุมคณะกรรมการที่กฎหมายกำหนด และบรรจุเรื่องจริยธรรมไว้ในการสรรหา บรรจุ แต่งตั้ง และการประเมิน
- ปรับระบบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูใหม่ จัดประเภท แยกระดับคุณภาพ และปลดล็อก ให้ได้คนเก่งเข้าสู่วิชาชีพครู และพัฒนาสมรรถนะทางวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง
- วิจัยและพัฒนานวัตกรรม วางระบบการคัดเลือกผู้บริหารรูปแบบใหม่ / ระบบพัฒนาก่อนการคัดเลือก / ระบบบริหารงานบุคคลสถาบันการอาชีวศึกษา
- พัฒนาความก้าวหน้าและการประเมินในสถาบันอาชีวศึกษา สร้างความเข้มแข็งทางวิชาการในการผลิตกำลังคนด้านอาชีวศึกษาให้กับประเทศ
- แก้ปัญหาอัตรากำลังครู – ผอ. ในโรงเรียนขนาดเล็ก สามารถบรรจุผู้อำนวยการสถานศึกษา ในโรงเรียนที่มีนักเรียน 60 – 120 คน ได้ โดยเกลี่ยอัตราครูที่เกินในโรงเรียนขนาดใหญ่มาเปลี่ยนเป็น ผอ. เพื่อบรรจุในโรงเรียนขนาดเล็ก ปรับเกณฑ์การสอบบรรจุครูในยากลำบากเป็นการเฉพาะ

ภายหลัง 7 หน่วยงานได้รายงานผลสำเร็จการขับเคลื่อนงานตามนโยบาย, นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า นโยบายในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการท้าทายเรื่องโควิด หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมและเศรษฐกิจของโลกฉับพลัน ตลอดจนการสร้างคุณภาพ สร้างโอกาส ในฐานะที่ ศธ.ดูแลระบบการศึกษา ทั้งภาครัฐและเอกชน ตั้งแต่เด็กอนุบาลจนถึงมัธยมฯ และสายอาชีพ ถือเป็นความสำคัญอย่างยิ่ง
ขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้ช่วยกันจนประสบความสำเร็จ ทั้งเรื่องระบบการพัฒนาครู บุคลากรทางการศึกษา ปรับเปลี่ยนระเบียบหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้เหมาะสม ตลอดจนเรื่องการแก้ไขหนี้สินครู เรื่องความปลอดภัยของนักเรียนและสถานศึกษา การสร้างคุณภาพทุกมิติ ซึ่งได้เห็นความคืบหน้าจากการติดตามงานมาโดยตลอด ขอให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพราะหลายโครงการถือเป็นเรื่องที่ดีมากต่อส่วนรวม ที่สำคัญคือ การสื่อสารประชาสัมพันธ์ เพื่อบอกข่าวให้ประชาชนได้ทราบผลสำเร็จและความก้าวหน้าของการทำงาน ที่สำคัญผู้ปกครอง ครู และผู้เรียน เกิดความเชื่อมั่นในการทำงานของ ศธ.
นอกจากนี้ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้มีหนังสือชื่นชม ศธ.ในการให้ความสำคัญด้านการศึกษาปฐมวัย เกี่ยวกับความก้าวหน้าในการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่โดดเด่นของไทย ในการประชุมระดับโลกว่าด้วยการศึกษาและการดูแลเด็กปฐมวัย ณ กรุงทาชเคนต์ สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 อีกทั้ง ศธ.ได้เข้าร่วมการรับรองปฏิญญาทาชเคนต์ (Tashkent Declaration) และเจตนารมณ์สู่การปฏิบัติเพื่อการพลิกโฉมการศึกษาและการดูแลเด็กปฐมวัย (Commitments to Action for Transforming Early Childhood Care and Education) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
“ไม่ว่าสถานการณ์ของโลกจะปรับเปลี่ยนเฉียบพลันไปในทิศทางใด การศึกษาของไทยก็ต้องดำเนินต่อไป พร้อมสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจ “TRUST” ให้กับสังคม โดยมีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต เพื่อให้ประเทศมีกำลังคนสมรรถนะสูง มีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง มีทักษะชีวิต เป็นคนดี มีวินัย และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม เพราะเสียงของสังคม ประชาชน ครู นักเรียน ยังคงดังก้อง และเรียกร้องให้พัฒนาและก้าวไปข้างหน้าให้ทัดเทียมสากล และไม่ว่าปัญหาจะมาในรูปแบบใด ศธ.ต้องพร้อมที่จะดำเนินการแก้ไข และร่วมบูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เดินหน้าการศึกษาไทยให้เกิดมาตรฐาน ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้มากที่สุด จนหมดไปจากประเทศไทย …”











ปารัชญ์ ไชยเวช, พบพร ผดุงพล / ข่าว
ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ, ณัฐพล สุกไทย / ภาพและวิดีโอ
บัลลังก์ โรหิตเสถียร / เรียบเรียง
ใส่ความเห็น