หอประชุมคุรุสภา 29 มีนาคม 2566 – ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือโครงการ “โรงเรียนร่วมพัฒนา Partnership School Project” รุ่นที่ 3 โดยคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมลงนามกับภาคเอกชนกว่า 20 หน่วยงาน
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการนี้เกิดจากการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐที่มี ศธ.เป็นหลัก และภาคเอกชนที่มีนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญการจัดการศึกษา การจัดการชุมชน สมาคม มูลนิธิ ธนาคาร รวมทั้งหอการค้าหรือกลุ่มวิชาชีพต่าง ๆ จับมือร่วมกันปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปสังคม และแก้ปัญหาความยากจน บริหารจัดการสถานศึกษา ทั้งด้านวิชาการ ด้านงบประมาณ บริหารประชากร บริหารการศึกษา
รัฐบาลในขณะนั้นมีนโยบายเน้นในเรื่องของ 4.0 มีวิสัยทัศน์ที่จะพัฒนาผู้เรียนให้เป็นผู้มีความรู้ มีคุณธรรมความดี มีทักษะชีวิต มีทักษะความรู้ มีทักษะการประกอบอาชีพ อยู่ในระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตโดยมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง จากรุ่นที่ 1 จนปัจจุบัน 5 ปีผ่านไป หากมองมาจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ในเวลานั้นจะเห็นได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงาม จนสามารถจัดให้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนารุ่นที่ 3 ในครั้งนี้
ในนามของรัฐบาล ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมมือกันด้วยดีตลอดมาในการช่วยเหลือทรัพยากรต่าง ๆ ทำให้โครงการนี้ดำเนินการมาได้ด้วยดี ถือเป็นนวัตกรรมและกิจกรรมของการปฏิรูปการศึกษา เป็นโครงการที่ดีมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าสถานการณ์ในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาจะดำเนินงานจนมีรุ่นต่อไปและประสบความสำเร็จยิ่งขึ้นไป
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช กล่าวว่า โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา ได้สร้างการมีส่วนร่วมหลายภาคส่วน เพื่อพัฒนาคุณภาพและรังสรรค์การจัดสถานศึกษา ยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตให้กับผู้เรียน ให้สถานศึกษาเป็นแหล่งเรียนรู้ของคนในชุมชน เป็นศูนย์กลางการพัฒนาทักษะและคุณภาพชีวิต และเพื่อให้สถานศึกษาได้รับโอกาสในการพัฒนาอย่างทั่วถึงนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างเป็นรูปธรรม
จากผลงานการดำเนินการที่ผ่านมา เกิดการมีส่วนร่วมของแต่ละพื้นที่ได้อย่างแท้จริง ทั้งส่วนของการบริหารจัดการแต่ละแห่งและทุนสนับสนุนจากทุกภาคส่วน นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น มีทักษะชีวิตทักษะอาชีพ และมีการศึกษาที่ผ่านเกณฑ์และมีคุณภาพระดับดีมากภายในปี 2565 ชุมชนให้การยอมรับว่าสถานศึกษาเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต คนในชุมชนเป็นศูนย์กลางการพัฒนาทักษะและพัฒนาคุณภาพชีวิต
ผลสรุปที่ได้คือ เยาวชนของประเทศมีอนาคตที่ดี ส่งผลให้การดำเนินโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาขับเคลื่อนและก้าวหน้าไปอย่างต่อเนื่อง สามารถบอกกับสังคมได้ว่าปัจจุบันมีสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาแล้ว 206 โรงเรียน ใน 77 จังหวัดและมีหน่วยงานผู้สนับสนุนถึง 60 แห่ง ในนามของ ศธ. ขอขอบคุณทุกภาคส่วนในการทำหน้าที่เพื่อสร้างอนาคตให้เด็กไทย และอยากเชิญชวนให้ร่วมกันพัฒนาส่งต่อการศึกษาที่ดีสู่ลูกหลานของเราซึ่งเป็นอนาคตของประเทศ เชื่อว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการศึกษาไทยอย่างแน่นอน














พบพร ผดุงพล / ข่าว
สำนักงานรัฐมนตรี / ภาพ
ใส่ความเห็น