28 มีนาคม 2566 – สรุปมติคณะรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ เห็นชอบให้ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างลาเข้าร่วมโครงการบรรพชาอุปสมบทฯ 97 รูป ถวายพระกุศลสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 8 รอบ 26 มิถุนายน 2566 เป็นเวลา 17 วัน ระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม 2566 โดยไม่ถือเป็นวันลา และรับทราบรายงานประจำปี 2565 ของ สสวท.
เห็นชอบให้ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้าง ลาอุปสมบท
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ข้าราชการทุกประเภท พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ลาเข้าร่วมโครงการบรรพชาอุปสมบท 97 รูป ถวายพระกุศล สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 8 รอบ 26 มิถุนายน 2566 โดยไม่ถือเป็นวันลา เสมือนเป็นการปฏิบัติราชการและได้รับเงินเดือนตามปกติ ระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม 2566 (รวม 17 วัน) ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม รายละเอียดดังนี้
การดำเนินการ | วัน/เวลา/สถานที่ |
(1) การรับสมัครเข้าร่วมโครงการฯ | วันที่ 20 กุมภาพันธ์-31 มีนาคม 2566 |
(2) การตรวจสอบคุณสมบัติ | เดือนเมษายน 2566 |
(3) การประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการฯ | เดือนพฤษภาคม 2566 |
(4) การเตรียมดำเนินโครงการฯ เช่น จัดหาเครื่องอัฐบริขารและการขอมติคณะรัฐมนตรีโดยไม่ถือเป็นวันลา | เดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2566 |
(5) พิธีปลงผม | วันที่ 15 มิถุนายน 2566 ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม |
(6) พิธีรับประทานผ้าไตรและเข้ารับประทานพระโอวาทจากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก | วันที่ 16 มิถุนายน 2566 ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม |
(7) พิธีบรรพชาอุปสมบท | วันที่ 17 มิถุนายน 2566 ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม |
(8) ศึกษาและปฏิบัติธรรม | วันที่ 18-30 มิถุนายน 2566 ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดพระยายัง กรุงเทพมหานคร |
(9) พิธีทำบุญตักบาตร ถวายพระกุศลแด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก | วันที่ 26 มิถุนายน 2566 |
(10) พิธีลาสิกขา | วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม |
รับทราบรายงานประจำปี 2565 ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอรายงานประจำปี 2565 ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) (เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2541 มาตรา 33 ที่บัญญัติให้ สสวท. จัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยแสดงงบดุลบัญชีทำการและบัญชีกำไรขาดทุนที่ผู้สอบบัญชีรองรับว่าถูกต้องพร้อมกับรายงานของผู้สอบบัญชี รวมทั้งแสดงผลงานของ สสวท. ในปีที่ล่วงมาและแผนงานที่จะจัดทำในปีต่อไปภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอรายงานประจำปีต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานของ สสวท. ประจำปี 2565 ใน 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
1.1 การพัฒนาหลักสูตร สื่อ และกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการปฏิบัติการและการสร้างความเข้าใจในระดับที่เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละกลุ่มโดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น การพัฒนาหลักสูตร สื่อ และกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการวิเคราะห์การแก้ปัญหา และกระตุ้นให้เกิดและใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างเป็นระบบสำหรับโรงเรียนในโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ1 (เช่น พัฒนากิจกรรมวิทยาศาสตร์ในเนื้อหาด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสะเต็มศึกษา2) และการพัฒนาเครื่องมือที่เป็นกรอบการประเมินและข้อสอบวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์สำหรับคัดเลือกนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2565 (TCAS 65) นอกจากนี้ ยังได้จัดทำรายงานการวิจัยเพื่อศึกษาคุณภาพของข้อสอบวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่ใช้ในการคัดเลือกนักเรียน ทำให้ได้ประเด็นและสารสนเทศสำหรับใช้เป็นแนวทางในการวางแผนเชิงนโยบายในการพัฒนาการเรียนการสอนและเตรียมนักเรียนให้มีคุณลักษณะที่สอดคล้องและเหมาะสมกับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาต่อไป
1.2 การขับเคลื่อนการพัฒนาและยกระดับการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี และสถานศึกษาผ่านเครือข่าย สสวท. ให้มีคุณภาพทั่วประเทศอย่างเป็นระบบ เช่น การพัฒนาครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี และบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนโครงการพระราชดำริในรูปแบบออนไลน์ด้านการจัดการเรียนรู้ตามแนวทาง สสวท. ด้วยสื่อ Project 143 วิชาคณิตศาสตร์ ให้แก่ครูโรงเรียนตำรวจตะเวนชายแดน จำนวน 608 คน และการยกระดับคุณภาพโรงเรียนระดับอำเภอด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี (โรงเรียนคุณภาพ SMT)4 ตามมาตรฐาน สสวท. มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปี 2561-2565 จำนวน 1,659 โรงเรียน
1.3 การขับเคลื่อนกระบวนการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ให้เน้นความเข้าใจ ลงมือปฏิบัติการ และสามารถนำไปใช้จริงทั้งในและนอกระบบตามแนวทาง สสวท. เช่น การบริหารจัดการเพื่อให้บริการศูนย์เรียนรู้ดิจิทัลด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี (IPST Learning Space)5 โดยระบบคลังความรู้ SciMath เผยแพร่สื่อ จำนวน 148 รายการ ระบบอบรมครูเผยแพร่หลักสูตร 50 หลักสูตร ระบบการสอบออนไลน์มีข้อสอบเพิ่ม 81 ข้อ และแบบฝึกหัด 1,303 ข้อ และมีปริมาณการใช้งานระบบต่าง ๆ นับเป็น Sessions จำนวน 22,971,052 ราย
1.4 การเร่งรัด พัฒนา และส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมตามนโยบายประเทศไทย 4.0 เช่น การบริหารการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) โดยบรรจุผู้รับทุนโครงการ สควค. ที่สำเร็จการศึกษาในตำแหน่งครูผู้ช่วย จำนวน 928 คน สร้างเครือข่ายและความเข้มแข็งทางวิชาการหลังสำเร็จการศึกษาให้แก่เครือข่ายวิชาการครู ผ่านการจัดประชุมวิชาการต่าง ๆ การบริหาร การพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) โดยคัดเลือกนักเรียน นิสิต นักศึกษาเข้ารับทุน พสวท. จำนวน 108 คน รวมทั้งได้คัดเลือกผู้แทนประเทศไทยไปแข่งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ประจำปี พ.ศ. 25656 จำนวน 23 คน โดยได้รับรางวัล เช่น คณิตศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 63 ได้ 3 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง ทำคะแนนรวมได้ 193 คะแนน เป็นลำดับที่ 6 จาก 104 ประเทศ นอกจากนี้ ได้มีการสนับสนุนทุนการศึกษานักเรียน นักศึกษา และครู เพื่อพัฒนาให้เป็นผู้มีความสามารถพิเศษ ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี และตอบสนองต่อความต้องการของประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ทุนพสวท. จำนวน 1,574 ทุน ทุน สควค. จำนวน 7 ทุน และทุนโอลิมปิกวิชการ จำนวน 158 ทุน
1.5 การส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กรและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพิ่มการยอมรับ สสวท. ในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีของเยาวชนให้ทันสมัย เช่น การพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถ และสมรรถนะตามกลุ่มงานอย่างเป็นระบบและการประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในการทำงานของ สสวท. และสร้างความตระหนักรู้ทางวิทยาศาสตร์ เช่น จัดเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ครั้งที่ 17 ในหัวข้อ “สุขภาพที่ดีขึ้นจากความเข้าใจที่มากขึ้น (Better Health Through Better Understanding)” โดยมีภาพยนตร์วิทยาศาสตร์จากนานาชาติจัดฉาย 30 เรื่อง ให้ได้รับชมฟรีที่ศูนย์ฉายภาพยนตร์ทั่วทุกภูมิภาค มีครูและนักเรียนเข้าชมภาพยนตร์ในเทศกาล จำนวน 286,823 คน
2. รายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินของ สสวท. สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2565 ซึ่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบแล้ว เห็นว่าถูกต้องตามที่ควรในสาระสำคัญตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบายการบัญชีภาครัฐที่กระทรวงการคลังกำหนด สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
หน่วย : ล้านบาท
รายการ | ปี 2565 | ปี 2564 | เพิ่มขึ้น/(ลดลง) |
1. งบแสดงฐานะทางการเงิน ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 | |||
รวมสินทรัพย์ | 1,684.01 | 1,773.96 | (89.95) |
รวมหนี้สิน | 302.34 | 281.78 | 20.56 |
รวมสินทรัพย์สุทธิ/ส่วนทุน | 1,381.67 | 1,492.18 | (110.51) |
2. งบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงิน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ วันที่ 30 กันยายน 2565 | |||
รวมรายได้ | 1,442.96 | 1,800.12 | (357.16) |
รวมค่าใช้จ่าย | 1,553.47 | 1,782.00 | (228.53) |
รายได้สูง/(ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายสุทธิ | (110.51) | 18.12 | (128.63) |
หมายเหตุ : รายได้ที่ลดลงเกิดจากรายได้จากงบประมาณปี 2565 รายได้จากการขายสินค้าและบริการ รายได้จากการอุดหนุนจากหน่วยงานภาครัฐ รายได้จากการอุดหนุนอื่นและบริจาค และรายได้อื่น เช่น รายได้จากดอกเบี้ยเงินฝากลดลง
_____________________
1 คณะรัฐมนตรีมีมติ (15 กุมภาพันธ์ 2564) เห็นชอบโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ระยะเวลา 10 ปี (ตั้งแต่ปีการศึกษา 2564-2573) ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอเพื่อพัฒนาสมรรถนะนักเรียนทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี
2 สะเต็มศึกษา เป็นแนวทางการจัดการศึกษาที่ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และสามารถบูรณาการความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี กระบวนการทางวิศวกรรม และคณิตศาสตร์ไปใช้ในการเชื่อมโยงและแก้ปัญหาในชีวิตจริง รวมทั้งการพัฒนากระบวนการหรือผลผลิตใหม่ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เช่น ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม และทักษะสารสนเทศ สื่อ เทคโนโลยี
3 Project 14 เป็นชุดคลิปการสอนออนไลน์ที่ สสวท. ผลิตขึ้น ครอบคลุมเนื้อหาวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา รวมทั้งเน้นการกระตุ้นให้นักเรียนคิดและค้นพบความรู้โดยใช้การสังเกตปรากฏการณ์รอบตัวทำให้สามารถประยุกต์ใช้อุปกรณ์ที่หาได้ง่ายมาทำกิจกรรมหรือการทดลองช่วยให้เกิดการเรียนรู้ แบบ Active Learning
4 โครงการโรงเรียนคุณภาพ SMT เป็นการยกระดับและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในระดับตำบลและอำเภอและมุ่งการพัฒนาการศึกษาเชิงพื้นที่รายจังหวัด โดยแต่ละจังหวัดต้องบรรจุโครงการฯ ไว้ในแผนพัฒนาจังหวัด
5 IPST Learning Space ได้รวบรวมสื่อการเรียนรู้ที่มีมาตรฐานและได้รับคัดกรองคุณภาพและความถูกต้องโดยผู้เชี่ยวชาญรวมถึงสอดคล้องกับหลักสูตรในโรงเรียน ซึ่งเป็นการมุ่งยกระดับคุณภาพการศึกษาและขยายโอกาสการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงผู้คน ข้อมูลข่าวสาร และแหล่งการเรียนรู้สู่ทุกคนอย่างเท่าเทียม เพื่อให้นักเรียน ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้ปกครอง และบุคคลทั่วไป สามารถเข้าถึง แบ่งปัน และเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา ภายใต้การดำเนินงานของ สสวท.
6 การแข่งขันประกอบด้วย 5 วิชา ได้แก่ คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ เคมี ชีววิทยา และฟิสิกส์
ใส่ความเห็น