จังหวัดปทุมธานี 27 มีนาคม 2566 / นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมด้วย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) ร่วมแถลงผลงานการส่งเสริมการศึกษาและการมีงานทำ ให้แก่นักเรียน นักศึกษา และแรงงานทุกระดับ ณ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี
รมว.ศธ. กล่าวว่า จากการผนึกกำลังของกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงแรงงาน ที่ได้ลงนามในความร่วมมือกันเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 เพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมการศึกษาและการมีงานทําให้แก่นักเรียน นักศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และได้ขยายผลการดําเนินงานไปสู่ภาคประชาชน ด้วยการพัฒนาศักยภาพนักเรียน นักศึกษา และแรงงานทุกระดับ ให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะฝีมือตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานทั้งด้านปริมาณ คุณภาพ รวมถึงรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต และการพัฒนาประเทศด้วยการยกระดับขีดความสามารถของแรงงานฝีมือคนไทย สิ่งสําคัญคือแรงงานฝีมือคุณภาพของคนไทย จะเป็นกลไกสําคัญในการสร้างรากฐานและเป็นหลักประกันความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของครอบครัว
ศธ. จึงได้มอบหมายให้สํานักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการความร่วมมือทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีสถานศึกษา (สพฐ., สช., กศน.) ขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับกระทรวงแรงงาน ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากสถานประกอบการภาคเอกชน
โดยตลอดระยะเวลาการดําเนินการร่วมกัน 1 ปีเศษ เกิดผลสําเร็จของความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมของทั้งสองกระทรวง ที่เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ดังนี้
- พัฒนาหลักสูตร พัฒนาบุคลากรและครูผู้สอน ให้เหมาะสมในแต่ละบริบทของพื้นที่ โดยยกระดับวิชาชีพให้เป็นแรงงานฝีมือคุณภาพ มีความเป็นมาตรฐานสากลสอดคล้องกับมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ทั้งในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และภาคธุรกิจบริการ รวมทั้งการพัฒนาหลักสูตรใหม่ยานยนต์ไฟฟ้า EV และหลักสูตรที่เป็นธุรกิจอุตสาหกรรมในอนาคต (S-curve)
- ส่งเสริมการจัดอาชีวศึกษาด้านระบบทวิภาคี โดยให้สถานประกอบการภาคเอกชนในแต่ละพื้นที่มีส่วนร่วมในการจัดทําหลักสูตร และสนับสนุนการเรียนการสอนในสถานประกอบการจริง โดยมีการมอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้แก่ภาคเอกชนที่ให้ความช่วยเหลือ เพื่อมุ่งประโยชน์ในการพัฒนานักเรียนนักศึกษาให้มีสมรรถนะสูงตามมาตรฐานสากล รวมทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมการแข่งขันฝีมือแรงงาน เพื่อยกระดับขีดความสามารถให้เพิ่มสูงมากขึ้น
- จัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน และศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถในสถานศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ครอบคลุม 76 จังหวัด 1 เขตปกครองพิเศษ (กรุงเทพฯ) ซึ่งปัจจุบันมีจํานวนทั้งสิ้น 264 แห่งทั่วประเทศ ขณะเดียวกันด้วยการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากกระทรวงแรงงานในการวางแผนการผลิตกําลังคนที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในภาคเอกชน ผ่านระบบ ฐานข้อมูล Big Data เพื่อส่งเสริมการมีงานทํา มีแพลตฟอร์มกลาง “ไทยมีงานทํา” ใช้ในการบริหารจัดการส่งเสริมการศึกษา และการมีงานทําให้แก่นักเรียน นักศึกษา และแรงงานทุกระดับ ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานภาคการศึกษารับทราบข้อมูลความต้องการแรงงานเพื่อการวางแผนการผลิตและพัฒนากําลังคนให้ตรงกับความต้องการด้านแรงงานของสถานประกอบการในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งยังเป็นสื่อกลางในการหางานทําของนักเรียน นักศึกษาอีกด้วย
- สอศ. และภาคีเครือข่ายได้จัดการศึกษาด้านอาชีวะกระจายสู่ประชาชน ในทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย ทั้งสถานศึกษาของภาครัฐ เอกชน และการศึกษานอกระบบ เน้นหลักสูตรระยะสั้น เพื่อการสร้างงาน สร้างอาชีพ ทั้ง Upskill Reskill และสร้าง New skill ให้กับประชาชนทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย โดยเชื่อมโยงกับมาตรฐานฝีมือแรงงาน และเป็นการ ส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต
- สนับสนุนการเรียนการสอนด้านสายอาชีพในรูปแบบทวิศึกษา ให้กับโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา ในสังกัด สพฐ. เพื่อให้เด็กนักเรียนได้มีทางเลือกทางการศึกษาของตนเอง นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้ สกศ. ดําเนินการเชื่อมโยงหลักสูตรต่าง ๆ ให้เป็นไปตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และสามารถเทียบโอนสะสมในธนาคารหน่วยกิต หรือ Credit Bank ได้อีกด้วย
ทั้งนี้ ในการจัดการศึกษานั้น ศธ.ให้ความสําคัญในการพัฒนาผู้เรียนทุกระดับการศึกษาให้มีวิธีคิดและทักษะที่เป็นสากล สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 ควบคู่ไปกับสํานึกและความเข้าใจในความเป็นไทย โดยเน้นการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ทั้งในด้านการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ มุ่งเน้นการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย โดยยึดความสามารถของผู้เรียนเป็นหลัก และพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะที่ต้องการสอดคล้องกับมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับ อีกทั้งเป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม และจิตสาธารณะ เป็นคนดีควบคู่กับการเป็นคนเก่งของสังคม
“การบูรณาการการทํางานร่วมกันระหว่าง 2 กระทรวง ส่งผลทําให้เกิดประโยชน์ต่อนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วประเทศ ที่จะได้รับการพัฒนา และเติบโตเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพของประเทศไทย โดยนําการศึกษามาเป็นปัจจัยพื้นฐานในการพัฒนาฝีมือ เพื่อเป็นกลไกในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนทุกกลุ่ม และทุกช่วงวัย ในทุกครอบครัวมีอาชีพ มีรายได้ อยู่ดี กินดี มีความสุข นําไปสู่สังคมคุณภาพ ขณะเดียวกันสถานประกอบการทุกแห่งในประเทศไทยจะมีบุคลากรที่มีฝีมือระดับมาตรฐานสากลเป็นผู้ร่วมงาน เพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าต่อธุรกิจ และผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างเป็นระบบ”

รมว.รง. กล่าวว่า จากการที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้คลี่คลายลง ทำให้ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวและบริการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว สถานประกอบการมีความต้องการแรงงานเพิ่มมากขึ้น ความร่วมมือในระดับทวิภาคีระหว่างกระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และสถานประกอบกิจการ จึงเป็นการตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานให้กับภาคธุรกิจเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของ ประเทศได้อย่างตรงจุด
ในส่วนของกระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นหน่วยงานหลักในการเชื่อมโยงข้อมูลกับกระทรวงศึกษาธิการ ผ่านฐานข้อมูลระบบ Big Data ประกอบด้วย ข้อมูลนักเรียน นักศึกษาที่กำลังศึกษาและผู้สำเร็จการศึกษา รวมทั้งข้อมูลด้านแรงงาน เช่น ตำแหน่งงานว่าง สถานประกอบการที่ต้องการแรงงาน ข้อมูลการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพื่อให้ทั้งสองหน่วยงานสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในการทำงานร่วมกัน สามารถนำไปวิเคราะห์ข้อมูลกำลังแรงงานด้านอุปสงค์และอุปทาน ตลอดจนเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน
ปัจจุบันกระทรวงแรงงานได้เชื่อมโยงข้อมูลนักเรียน นักศึกษา กับกระทรวงศึกษาธิการ ในพื้นที่นำร่อง ได้แก่ ปทุมธานี นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา และกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้นกว่า 7 แสนคน ในส่วนของกรมการจัดหางาน ได้ใช้ฐานข้อมูลดังกล่าว เพื่ออำนวยความสะดวก ช่วยลดขั้นตอนการกรอกข้อมูล และเพิ่มช่องทางให้แก่นักเรียน นักศึกษาในการให้บริการ จัดหางานผ่านแพลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ” สำหรับนักเรียน นักศึกษา ที่ต้องการทำงาน ทั้งในระหว่างที่กำลังศึกษาหรือจบการศึกษาแล้ว ได้ลงทะเบียนข้อมูลในระบบเพื่อจับคู่ตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับความรู้ความสามารถ รวมทั้งการอบรมเพิ่ม ทักษะตามความต้องการของตนเอง
ขณะที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้บูรณาการในการพัฒนาหลักสูตรสำหรับการศึกษาของนักเรียน นักศึกษา ให้สอดคล้องกับมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติและความ ต้องการของสถานประกอบกิจการ โดยดำเนินการ up skill นักเรียน นักศึกษาชั้นสุดท้าย (ม.6, ปวช., ปวส., ป.ตรี) ก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ตลอดจนทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน และมาตรฐานฝีมือแรงงานตามอัตราค่าจ้างฝีมือแรงงาน (โดยยกเว้นอัตราค่าธรรมเนียมการทดสอบ) มีนักเรียน นักศึกษา ได้รับประโยชน์กว่า 6 แสนคน
“ขอชื่นชมและขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ได้บูรณาการความร่วมมือในการส่งเสริมการศึกษาและการมีงานทำให้แก่นักเรียน นักศึกษา และแรงงานทุกระดับ ให้มีทักษะฝีมือ มีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญและมีศักยภาพในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป”

ในการนี้ รัฐมนตรีและผู้บริหารทั้งสองกระทรวง ได้เยี่ยมชมนิทรรศการภายในงาน เช่น กิจกรรมการพัฒนาหลักสูตรและพัฒนาบุคลากรครูผู้สอน, การส่งเสริมพัฒนางานในการจัดการอาชีวศึกษาด้านทวิภาคีและการแข่งขันฝีมือแรงงาน, การทดสอบและการจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานรวมถึงการประเมินการจัดตั้งศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถ และกิจกรรมมหกรรมตลาดนัดแรงงาน เป็นต้น

















การแถลงผลงานในครั้งนี้ มีผู้บริหารระดับสูงเข้าร่วม อาทิ นายสิทธิชัย สวัสดิ์แสน รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี, นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วย รมว.รง., นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการ รมว.รง., นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัด รง., ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กอศ., นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการ สกศ., นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัด ศธ., เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการ กอศ., นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการ กช., นายคมกฤช จันทร์ขจร รองเลขาธิการ กศน. รักษาราชการแทนเลขาธิการ กศน. และนายภูธร จันทะหงษ์ ปุญยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.
อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / ภาพ
ใส่ความเห็น