ศธ.รวมพลัง 3 หน่วยงาน ขับเคลื่อน รร.ประชารัฐฯ-อาชีวะฝีมือชนฯ ชายแดนใต้ 68 แห่ง “เรียนฟรี พักฟรี อาหารฟรี”

จังหวัดปัตตานี 13 มีนาคม 2566 / นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือการขับเคลื่อนโรงเรียนในโครงการ “โรงเรียนประชารัฐชายแดนใต้” และโครงการ “อาชีวะ ฝีมือชน พัฒนากำลังคนชายแดนใต้” ณ โรงแรมเซาท์เทิร์นวิว

โดยมีผู้บริหารระดับสูงเข้าร่วม อาทิ ว่าที่ ร.ต.ตระกูล โทธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี, พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้, ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายสุทิน แก้วพนา รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายชัยณรงค์ ป้องบ้านเรือ ศึกษาธิการภาค 7, นางสาวทรงศรี วิระรังษิยากรณ์ รองเลขาธิการสำนักงาน กศน., นายประพัทธ์ รัตนอรุณ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน, นายบุญสม ทองศรีพราย ผอ.สำนักงาน สกสค.ปัตตานี ในฐานะประธานสมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมในพิธีลงนามครั้งนี้

รมว.ศธ. กล่าวว่า โครงการความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เกิดขึ้นมาจากการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ณ จังหวัดสงขลา เมื่อปี 2560 ซึ่งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดทำโครงการในลักษณะที่จะเปิดโอกาสให้ครอบครัวผู้มีรายได้น้อย หรือนักเรียนที่ถูกทอดทิ้ง ไม่มีผู้อุปการะ รวมทั้งนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับโอกาสทางการศึกษามากขึ้น

ศธ. ได้ดำเนินโครงการตามข้อสั่งการดังกล่าว ปัจจุบันมีโรงเรียนและสถานที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 68 แห่ง ประกอบด้วยโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 64 แห่ง นักเรียน 9,360 คน และปีการศึกษาหน้าคาดว่าจะเพิ่มเป็น 1.2 หมื่นคน และวิทยาลัยในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาอาชีวศึกษา (สอศ.) จำนวน 4 แห่ง และจะเพิ่มสถานศึกษาอาชีวะเป็น 15 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา

โดยศูนย์ขับเคลื่อนการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศค.จชต.) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานประสานการขับเคลื่อนโครงการ โดยขณะนี้ดำเนินการส่งต่อนักเรียนระหว่างโรงเรียนในโครงการโรงเรียนประชารัฐชายแดนใต้ กับสถานศึกษาอาชีวะฝีมือชน พัฒนากำลังคนชายแดนใต้ ในลักษณะการพัฒนาความรู้ ควบคู่กับทักษะอาชีพ ในรูปแบบโรงเรียนประจำ เรียนฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย พร้อมที่พัก และอาหารฟรี

“ความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จะเป็นการเสริมสร้างโอกาสการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง พัฒนาทักษะฝีมือนักเรียนให้มีความเชี่ยวชาญในสิ่งที่สนใจตามความสามารถและความถนัด เพื่อต่อยอดในการประกอบวิชาชีพ ส่งผลต่อการหางานทำในสถานประกอบการในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เป็นอย่างดี หรืออาจจะเป็นผู้ประกอบการด้านอาชีพด้วยตนเองในพื้นที่ใกล้บ้าน ซึ่งจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและชุมชนให้เกิดขึ้น เป็นการขับเคลื่อนการศึกษาเพื่อวิชาชีพอย่างแท้จริง” น.ส.ตรีนุช กล่าว

สำหรับการลงนามความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงานของ ศธ. ในครั้งนี้ โดย

  • สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)  จะให้ความร่วมมือในการวางแผนการส่งต่อนักเรียนในโครงการโรงเรียนประชารัฐจังหวัดชายแดนภาคใต้  จากระดับชั้นประถมศึกษา สู่ระดับชั้นมัธยมศึกษา และระดับชั้น ปวช.ในสถานศึกษาอาชีวศึกษาโครงการอาชีวะ ฝีมือชน พัฒนากำลังคนชายแดนใต้
  • สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จะให้ความร่วมมือในการวางแผนการรับนักเรียน เข้าศึกษาต่อในสถานศึกษาอาชีวศึกษา และพัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐานให้สถานศึกษา ควบคู่พัฒนาด้านอาชีพระหว่างโรงเรียนในโครงการโรงเรียนประชารัฐจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับสถานศึกษาอาชีวศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้
  • สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) โดยศูนย์ขับเคลื่อนการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีหน้าที่เป็นผู้ประสานงานการดำเนินกิจกรรมของทุกฝ่าย ตลอดจนประสานการกำกับ ติดตาม และรายงานผลการดำเนินการให้ทราบ

ทั้งนี้ ในช่วงเช้าได้มีพิธีลงนามความร่วมมือระดับสถานศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นสถานศึกษาในสังกัด สอศ. และ สพฐ. เพื่อร่วมมือขับเคลื่อนโรงเรียนในโครงการ

บัลลังก์ โรหิตเสถียร / สรุป
อานนท์ วิชานนท์ / ภาพถ่าย
ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / วีดิทัศน์

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

Website Built with WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: