ศธ.จัดงานมหกรรม​การเงินเพื่อ​ครูไทย ภาคตะวันออก​ ‘ตรีนุช’​ ตั้งเป้าแก้หนี้ครู​ 4,252 ล้านบาท​ ใน 8 จังหวัด มั่นใจลดหนี้ครู​ได้จริง​

จังหวัดสระแก้ว 11 มีนาคม 2566 / นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็น​ประธาน​​เปิด​มหกรรม​การเงิน​เพื่อครูไทย​ 4​ ภูมิภาค​ “Unlock a Better Life” สร้างโอกาสใหม่ เพื่อชีวิตครูไทยที่ดีกว่า​ ครั้ง​ที่​ 2 จัดระหว่างวันที่​ 11-12 มีนาคม​ 2566​ ณ​ มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสระแก้ว อำเภอวัฒนานคร เพื่อให้บริการ​แก้ไข​ปัญหา​หนี้สิน​ครู​และ​บุคลากร​ทาง​การศึกษา​ในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว​ ปราจีนบุรี​ นครนายก​ ​จันทบุรี ตราด​ ฉะเชิงเทรา​ ​ชลบุรี​ และระยอง​

รับชมภาพพิธีเปิด เฟซบุ๊ก ศธ.360 องศา

รมว.ศึกษาธิการ​ กล่าว​ว่า​ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ​ตั้งเป้าลดความเดือดร้อนทางด้านหนี้สินให้กับครู​ โดยที่ผ่านมาได้มีการเจรจากับสหกรณ์ออมทรัพย์​ครู​ 108 แห่ง และธนาคารออมสิน ในเรื่องของการลดดอกเบี้ยเงินกู้​ การปรับโครงสร้าง​หนี้​ การพักชำระหนี้​ ซึ่ง​ได้รับ​ความ​ร่วมมือ​เป็น​อย่างดี​ ขณะเดียวกัน​ก็มีเครือข่ายสถาบันการเงิน​ หน่วยงานที่เกี่ยวกับกระทรวง​ยุติธรรม​ เข้ามาร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครู​ในทุกภูมิภาค​

นอกจากนี้ สถาบันการเงินก็จะเข้ามาช่วยในเรื่องของการอบรมให้ความรู้ด้านการเงินกับครู​ การสร้างวินัย​ทางการเงิน​ รวมทั้ง​การวางแผนการเงิน​ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาหนี้สินในอนาคตด้วย​ ซึ่งได้จัดงานขึ้นครั้งแรกที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับกลุ่ม 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัด​กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ​มหาสารคาม และขอนแก่น ซึ่งสามารถช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครูแบบพุ่งเป้าที่กลุ่มลูกหนี้วิกฤติได้จำนวน 784,661,570.43 บาท

ในส่วนของที่พื้นที่ของภาคตะวันออก​ 8 จังหวัด​ ได้รับรายงานว่า มีครูลงทะเบียน​ขอรับความช่วยเหลือ​แก้ไข​ปัญหาหนี้สินในภาพรวมประมาณกว่า 2,000 ราย​ ​จำนวนมูลหนี้ประมาณ 4,252 ล้านบาท โดยเป็นกลุ่มลูกหนี้วิกฤติ 205 ราย จำนวนมูลหนี้ประมาณ 173.4 ล้านบาท ซึ่งจะพุ่งเป้าหมายให้ความช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้วิกฤติเป็นสำคัญ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนที่สุด​ ซึ่งที่ผ่านมา​สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา​ฯ​ เป็น​คนกลางประสานให้ลูกหนี้ได้มาเจรจากับเจ้าหนี้หรือสถาบันการเงิน​ เพื่อช่วยปรับโครงสร้างหนี้​ ส่วนกรณีที่อยู่ในขั้นตอนของการฟ้องร้องต่าง​ ๆ​ ก็จะได้ช่วยดำเนินการให้ชะลอเรื่อง และมาปรับโครงสร้าง​หนี้กันก่อน ซึ่งแต่ละคนก็จะมีแนวทางในการช่วยเหลือที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของรูปแบบหนี้​ ส่งผลให้จำนวนลูกหนี้วิกฤต​ในภูมิภาค​นี้​มีไม่มากนัก

“ดังนั้น​ มหกรรม​การเงิน​เพื่อครู​ไทย ​จึงจำเป็นต้องลงมาในแต่ละพื้นที่​ เพื่อให้เจ้าหนี้และลูกหนี้ได้เจอกันและได้เจรจากันโดยตรง​ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครูได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น​ ถือเป็นการจัดการปัญหาหนี้ในเชิงรุก ที่จะช่วยให้ครูในกลุ่มที่ยังต้องการความช่วยเหลือสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ทางการเงินสำหรับครูมากยิ่งขึ้น และเชื่อมั่นว่าการดำเนินการนี้จะช่วยลดหนี้ให้ครูไทยที่มีปัญหามานานได้จริง เพื่อให้ครูไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความรู้ทางการเงินที่ดี และสามารถปฏิบัติหน้าที่ในการถ่ายทอดองค์ความรู้และจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน และเป็นการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพครู” นางสาวตรีนุช​ กล่าว

นายอัมพร​ พินะสา​ เลขาธิการ​คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า​ สิ่งที่​ ศธ.​ จะเร่งดำเนินการ​ในอนาคต​ คือ​ เจรจากับธนาคาร​ออมสิน​ ขอลด​อัตราดอกเบี้ย​ให้ครู​ ไม่ว่าครูจะมีหนี้มากหรือน้อยก็ตาม​ ส่วน​สหกรณ์ออมทรัพย์​ครูแห่งใดให้ดอกเบี้ยสูงเกิน 5.3% ขึ้นไป อาจจะขอไม่ให้หักเงิน​ ณ​ ที่จ่าย​ แต่ถ้าลดลงมาต่ำกว่า 5.3% จึงจะหักให้​ ซึ่ง​จะเป็นมาตรการที่ทำให้ครูไทยทุกคนได้รับโอกาสเท่าเทียมกัน​

สำหรับ​กิจกรรมภายในงานครั้งนี้ ประกอบด้วยการไกล่เกลี่ยกรณีถูกฟ้องร้องดำเนินคดี/ การปรับโครงสร้างหนี้/ การวางแผนและให้คำปรึกษาทางการเงิน/ การอบรมให้ความรู้ด้านการวางแผนทางการเงินและการบริหารจัดการหนี้สิน/ และนิทรรศการการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูของกระทรวงศึกษาธิการ และที่สำคัญจะได้รับการผ่อนปรนและสิทธิพิเศษจากสถาบันการเงินเฉพาะ​ในงานนี้เท่านั้น​

ปารัชญ์​ ไชย​เวช, พบพร​ ผดุง​พล / สรุป​
สมประสงค์​ ชาหารเวียง, ณัฐ​พล​ สุกไทย / ถ่ายภาพ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

Website Built with WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: