6 มีนาคม 2566 – ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เตรียมนำเสนอนิทรรศการ เรื่อง การสร้างภูมิคุ้มกันด้วยวิทยาศาสตร์และ CODING โชว์ผลงานความสำเร็จจากการขับเคลื่อนนโยบาย CODING ให้คณะรัฐมนตรีได้รับทราบ ในวันอังคารที่ 7 มีนาคม 2566 เวลา 08.30-09.30 น. ณ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า จากความสำเร็จในการจัดงาน “สร้างภูมิคุ้มกัน ด้วยวิทยาศาสตร์และ CODING” ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ผลงานวิชาการ ศักยภาพ และขีดความสามารถในการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ให้กับประชาชนทั่วไปได้ทราบ รวมไปถึงผลการดำเนินงานในการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาภายใต้การกำกับดูแลของตนตลอดระยะเวลา 4 ปี ณ MBK Center ประสบความสำเร็จด้วยดี และได้รับความสนใจจากครู นักเรียน บุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนประชาชนโดยทั่วไป จึงได้มีแนวคิดในการนำนิทรรศการจากโรงเรียนที่ได้รับความสนใจจากในงานมานำเสนอให้ที่ประชุม ครม.ได้มีโอกาสเยี่ยมชม และเห็นถึงศักยภาพในการจัดการเรียนการสอนเรื่อง CODING
โดยการจัดแสดงนิทรรศการในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงให้เห็นความก้าวหน้า และความสำเร็จในการขับเคลื่อนการการจัดการเรียนการสอน CODING ของประเทศไทยในทุกระดับ ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาศักยภาพคนไทยทุกช่วงวัย ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ข้อ 7 การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ข้อ 7.1 การสร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ใหม่ในระบบดิจิทัลเพื่อส่งเสริมให้เด็กไทยยุคใหม่เก่งฯ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา โดยได้จัดแสดงนิทรรศการเป็น 2 ส่วน จาก 2 โรงเรียนที่ถือเป็นตัวอย่างความสำเร็จได้อย่างชัดเจนในการสร้างองค์ความรู้ให้แก่นักเรียน ตั้งแต่กระบวนการคิด วางแผน และลงมือทำอย่างเป็นระบบ สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ให้เป็นทักษะชีวิต ประกอบด้วย
- ส่วนที่ 1 : โรงเรียนร่วมจิตประสาท กิจกรรมตัวอย่างการเรียนรู้วิชา CODING ระดับประถมศึกษาปีที่ 1-3 ที่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต 2 โดยโรงเรียนมุ่งเน้นการฝึกทักษะอาชีพ เพื่อตอบสนองนโยบายของโรงเรียนเกี่ยวกับนักเรียนเมื่อจบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ต้องมีอาชีพที่ถนัดอย่างน้อยหนึ่งอาชีพ และยังเป็นการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมและสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของอาชีพหลักให้เกิดกับนักเรียนและชุมชน
- ส่วนที่ 2 : โรงเรียนชุมชนบ้านดอยช้าง เป็นโรงเรียนนำร่องของโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน ที่มีความโดดเด่นในการดำเนินโครงการ ด้วยความยากลำบากของพื้นที่ เป็นที่สูงและเป็นดินลูกรัง จะปลูกอะไรก็ยาก เพราะฉะนั้นการใช้อัจฉริยะทางความคิด คิดวิเคราะห์แล้วใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยทำให้ได้ผลผลิตที่ดีจนเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จในเวลาอันรวดเร็วเพียง 6 เดือนเท่านั้น หลังจากเริ่มต้นโครงการในปี 2562
สำหรับการขับเคลื่อนนโยบาย CODING มีผลการดำเนินงานหลักประกอบด้วย
- การพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาเป็นขั้นเป็นตอนให้กับคนไทย โดยพัฒนาหลักสูตรการเรียน CODING แบบ Unplugged ในระดับประถมศึกษาตอนต้น ควบคู่ไปกับการให้ความรู้การจัดการเรียนการสอน CODING ให้แก่ผู้บริหารการศึกษา วิทยากรแกนนำ ครู ศึกษานิเทศก์ บุคคลทั่วไป
- ผลิตคลิปวีดิทัศน์การสอนออนไลน์ Project 14 ที่เน้นให้นักเรียนเกิดกระบวนการคิด เชื่อมโยงชีวิตจริง สะดวกในการเข้าถึง ใช้งานง่าย ทดแทนการสอนของครูในชั้นเรียนปกติ รวม 2,354 คลิป โดยมีผู้เข้าชมแล้วกว่า 12 ล้านครั้ง
- ต่อยอดพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และ CODING เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ให้กับนักเรียนปกปกติและกลุ่มเด็กพิเศษ ได้แก่ การดำเนินโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน Science Technology Innovation (STI) : Smart Intensive Farming และโครงวิทยาศาสตร์พลังสิบ เพื่อส่งเสริมศักยภาพและสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียน ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ให้กับนักเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา
- สนับสนุนอุปกรณ์สำหรับใช้ในการเรียนออนไลน์ของนักเรียน ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่ได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาดำเนินการ เพื่อเป็นการลดความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสและการเข้าถึงการศึกษาอย่างมีคุณภาพ และสร้างภูมิคุ้มกันทางดิจิทัลให้กับผู้เรียน โดยปัจจุบันนักเรียนได้รับบริจาค Smart Devices รวมทั้งสิ้นกว่า 8,000 เครื่อง ใน 650 โรงเรียนเป้าหมาย




ใส่ความเห็น