28 กุมภาพันธ์ 2566 - นายสุทิน แก้วพนา รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการทำงานร่วมกับ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เพื่อขับเคลื่อนธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565
รองปลัด ศธ. กล่าวว่า “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ” เป็นกรอบและแนวทางผ่านการส่งเสริมสุขภาวะ ใน 4 ประเด็น คือ 1) เกิดความร่วมมือของครู อาจารย์ ผู้ปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ ร่วมกัน เช่น สิ่งแวดล้อม อาหารกลางวัน 2) ใช้เนื้อธรรมนูญเป็นกรอบกำหนดเแผนปฏิบัติราชการประจำปี 3) เผยแพร่เนื้อหาของธรรมนูญสุขภาพฯ 4) การทำความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง ศธ.และ สช. ทำให้เกิดธรรมนูญสุขภาพของโรงเรียนต่างๆ
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนต้องให้ความสำคัญกับพื้นที่ คือ โรงเรียน การวางระบบด้วย MOU จะเป็นเครื่องมือที่จะส่งผลเชิงรูปธรรม ต้องรู้ว่าจะใส่อะไรที่เป็นปัจจัยสำคัญ เช่น กรณีพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพื่อให้พื้นที่จัดการตนเองตามบริบทและความพร้อมของพื้นที่เอง รวามทั้งมีระบบบริหารจัดการที่ดีด้วยเช่นกัน ธรรมนูญสุขภาพถือว่าเป็นกรอบทิศทางให้กระทรวงศึกษาธิการได้ใช้ประโยชน์
นอกจากนี้ ปัจจุบันมีโรงเรียนขนาดเล็กกว่าหนึ่งหมื่นโรง ที่ไม่มีครูจบด้านจิตวิทยา แต่อาจมีครูสุขศึกษา เพราะต้องบรรจุครูเอกหลักก่อน ยิ่งอัตราการเกิดของเด็กลดลง ทำให้เกิดโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มขึ้น แต่การจัดสรรงบประมาณยังเป็นรายหัว ศธ.จึงต้องปรับระบบบริการดูแลเด็ก ซึ่งการใช้ธรรมนูญสุขภาพจะสามารถเชื่อมโยงกับคุณภาพสุขภาพของเด็กได้อย่างยั่งยืน




ภาพ/ข่าว: กองส่งเสริมและพัฒนาการบริหารการศึกษาในภูมิภาค สป.ศธ.
ใส่ความเห็น