มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 เห็นชอบในหลักการ เรื่อง การสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (สำนักงาน กกต.) เสนอ ดังนี้
- ให้มีการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แก่กลุ่มเป้าหมายหลักที่เป็นเด็ก เยาวชน นักเรียน นิสิต และนักศึกษา ในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา ด้วยกระบวนการปลูกฝังตามหลักสูตรที่กำหนดร่วมกันและกิจกรรมส่งเสริมการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบในกลุ่มเป้าหมายแต่ละช่วงชั้น ตั้งแต่ระดับปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา ส่วนกลุ่มเป้าหมายประชาชนทั่วไป ใช้การรณรงค์ ชี้แจง ทำความเข้าใจให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนและชุมชน ผ่านองค์กรและเครือข่ายศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยระดับต่าง ๆ ที่สำนักงาน กกต. ส่งเสริม สนับสนุนให้มีการจัดตั้งขึ้นโดยบูรณาการและประสานการดำเนินงานร่วมกับองค์กรและเครือข่ายของกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ในพื้นที่
- กำหนดให้เรื่องดังกล่าวเป็นวาระแห่งชาติ และเป็นวาระสำคัญในแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ โดยให้กระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการดำเนินงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง และให้สำนักงบประมาณ (สงป.) พิจารณาสนับสนุนงบประมาณตามแผนงานและโครงการตามความจำเป็นและเหมาะสม เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
- ให้สำนักงาน กกต. เป็นหน่วยงานบูรณาการและประสานการดำเนินงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมายที่กำหนดและเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 ที่บัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีหน้าที่และอำนาจในการส่งเสริม สนับสนุน หน่วยงานของรัฐ สถาบันการศึกษาและองค์กรเอกชน ในการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
สาระสำคัญ
สำนักงาน กกต. รายงานว่า กกต. เห็นว่า หัวใจหลักในการสร้างพลเมืองคุณภาพ อยู่ที่การสร้างต้นน้ำให้ใสสะอาดการสร้างพลเมืองคุณภาพที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างมีคุณภาพ และการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเน้นการดำเนินงานในเชิงคุณภาพไม่เฉพาะแต่ในช่วงการเลือกตั้งเท่านั้น โดยได้ดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 2561 สรุปได้ ดังนี้
1. กำหนดกรอบเนื้อหาหลักในการให้การศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองคุณภาพ (Civic Education) และสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยพัฒนาจากหลักสูตรพลเมืองวิถีประชาธิปไตยที่ดำเนินการมาแล้ว และกรอบเนื้อหาหลักดังกล่าวได้รับความเห็นชอบในหลักการร่วมกัน จากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีเนื้อหาหลัก ได้แก่ (1) การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (2) การสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย (3) การยึดมั่นในสถาบันหลักของชาติ (4) ความผูกพัน ความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ ประเพณี วิถีชีวิต และค่านิยมที่ดีของสังคมไทย (5) คุณลักษณะความเป็นพลเมืองระบอบประชาธิปไตย (6) การมีส่วนร่วมทางการเมืองและการตรวจสอบการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรม (7) การเสริมสร้างวิถีประชาธิปไตยในชีวิตประจำวัน และ (8) การดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
2. ปลูกฝังและสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่กลุ่มเป้าหมายหลัก ดังนี้
(1) กลุ่มเด็ก นักเรียน นิสิต นักศึกษาในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา โดยนำเนื้อหาหลัก (ตามข้อ 1) มาออกแบบและพัฒนาเป็นหลักสูตร 4 ช่วงชั้น ได้แก่ ช่วงชั้นที่ 1 ระดับปฐมวัย ช่วงชั้นที่ 2 ระดับประถมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย ช่วงชั้นที่ 3 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น-ตอนปลายและอาชีวศึกษา และช่วงชั้นที่ 4 ระดับอุดมศึกษา เพื่อให้เหมาะสมกับแต่ละระดับช่วงวัยเพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนให้มีลักษณะเป็นพลเมืองคุณภาพ
(2) กลุ่มประชาชนทั่วไป โดยสนับสนุนให้ศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตย (ศส.ปชต.) ในพื้นที่ระดับตำบล/หมู่บ้าน ซึ่งสำนักงาน กกต. ได้ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งขึ้นแล้วทุกตำบลทั่วประเทศและในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นกลไกหลักในการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2557 และได้มีการปรับปรุงโครงสร้างของกรรมการ ศส.ปชต. ด้วย
(3) บูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงหลักที่เกี่ยวข้องในเบื้องต้น 5 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อว. กระทรวงมหาดไทย (มท.) ศธ. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เช่น การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประธานกรรมการการเลือกตั้งกับรัฐมนตรีแต่ละกระทรวง การกำหนดนโยบาย “การเสริมสร้างความเป็นพลเมืองคุณภาพและความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” และการจัดทำแผนบูรณาการในการดำเนินการเสริมสร้างความเป็นพลเมืองคุณภาพฯ ในด้านต่าง ๆ เป็นแผนต่อเนื่อง
(4) บูรณาการเพื่อผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีมติ (17 พฤษภาคม 2565) รับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การส่งเสริมความรู้ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ตามที่ ศธ. เสนอ ซึ่งทุกหน่วยงานมีความเห็นตรงกันว่าสภาพปัญหาการเมืองการปกครองของไทย คือ การที่ประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้น รัฐบาลอาจต้องกำหนดเป็นนโยบายที่สำคัญ “วาระแห่งชาติ” เพื่อขับเคลื่อนการให้การศึกษาและสร้างพลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตย โดยมีสำนักงาน กกต. เป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนที่สามารถบูรณาการเครือข่ายพลเมืองร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(5) การจัดสรรงบประมาณ สำนักงาน กกต. ได้รับจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการตามยุทธศาสตร์การสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างเสริมความรู้ พลังศรัทธา และพลังร่วมวิถีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ภายใต้ความรับผิดชอบของกลุ่มภารกิจการมีส่วนร่วม โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 3,524.09 ล้านบาท และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 3,287.98 ล้านบาท
บัลลังก์ โรหิตเสถียร / ข่าว
ใส่ความเห็น