ปลัด ศธ. “อรรถพล สังขวาสี” เร่งขับเคลื่อนงานออกแบบกลไกการบริหารและการจัดการศึกษาสู่ภูมิภาค (ภาคเหนือ) เน้นการจัดการศึกษาสอดคล้องบริบทพื้นที่ และ GDP ของประเทศ
ลิงก์ภาพการประชุม Facebook ศธ.360 องศา
จังหวัดลำปาง 6 กุมภาพันธ์ 2566 – กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อออกแบบกลไกการบริหารและการจัดการศึกษาในระดับพื้นที่ของกระทรวงศึกษาธิการ พื้นที่ภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ 2566 โดยนายอรรพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวเปิดงานผ่านคลิปวิดีโอ และมีนายพีระพล พูลทวี ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายชาตรี ม่วงสว่าง ศึกษาธิการภาค 15, นายกวิน เสือสกุล รองศึกษาธิการภาค 15 ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค 16, ศึกษาธิการจังหวัดกลุ่มภาคเหนือ 17 จังหวัด, ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน ณ ห้องประชุมเวียงแก้ว โรงแรมลำปางเวียงทอง
ปลัด ศธ. กล่าวว่า ต้องการให้ศึกษาธิการภาคและศึกษาธิการจังหวัดเห็นภาพบทบาทร่วมกัน โดยศึกษาธิการภาคเป็นผู้แทนของสำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจะมีอำนาจหน้าที่เพิ่มเติมอย่างไรที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย ส่วนกลางก็จะมอบอำนาจให้ไปดำเนินการขับเคลื่อน ในส่วนของศึกษาธิการจังหวัดนั้น ก็เป็นหน่วยงานสำคัญที่จะเชื่อมโยงงานด้านการศึกษากับผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งนโยบายการศึกษาที่ส่วนกลางจัดไว้มีมากมาย ทั้งมาจากงานวิจัย จากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนให้คนแต่ละภูมิภาคมีคุณภาพตามเป้าหมายอย่างชัดเจน
“สิ่งที่เรามาร่วมกันทำในวันนี้ คือ เครื่องมือที่จะขับเคลื่อนการทำงาน เรามาวางแผนเรื่องการพัฒนากำลังคน ซึ่งในเชิงพื้นที่ของภาคเหนือ อาชีพสำคัญอันดับหนึ่งคือเรื่องของการเกษตร แต่เราลงทุนการศึกษาด้านการท่องเที่ยวและโรงแรมมากมาย ทำให้เด็กเรียนจบมาล้นตลาดแรงงาน ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ ซึ่งผลผลิตเหล่านี้เป็นองค์ประกอบที่จะทำให้ GDP เปลี่ยนแปลงได้ ที่ผ่านมาเรามุ่งเน้นแต่ให้ผู้เรียนเรียนจบ แต่เราไม่ได้มองเรื่อง GDP ของประเทศ ดังนั้นโจทย์คือเราจะทำอย่างไรให้กลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาในเชิงพื้นที่ สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ และสอดคล้องกับ GDP ของประเทศ ตลอดจนทำให้กลไกเกิดเป็นรูปธรรมให้ได้” ปลัด ศธ. กล่าว
นายสมภพ อุณหชาติ ผอ.กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร สป.ศธ. กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อให้การขับเคลื่อนการศึกษาของ ศธ. เป็นเอกภาพ เกิดการบูรณาการในพื้นที่ร่วมกันทุกภาคีเครือข่าย ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมทั้งยกระดับคุณภาพของการศึกษาอันเป็นเป้าหมายสูงสุดที่คาดหวังไว้
โดยกลไกที่นำมาลงในพื้นที่นี้ เป็นเครื่องมือที่มีแนวปฏิบัติอย่างเป็นขั้นตอน เริ่มจากการออกแบบการบริหารร่วมกัน แล้วดำเนินการออกแบบระบบทั้งระบบ ทุกระดับ ทุกประเภท จากนั้นจะกำหนดเจ้าภาพร่วมกันว่าหน่วยงานไหนจะเข้ามาขับเคลื่อนในช่วงใดบ้างในทั้ง 4 ช่วงวัย ได้แก่ ปฐมวัย วัยรุ่น/วัยเรียน วัยแรงงาน และวัยสูงอายุ มีการออกแบบระบบงบประมาณ การทำแผนพัฒนาการศึกษาร่วมกับจังหวัดให้สอดคล้องกับแผนของจังหวัด รวมทั้งมีการออกแบบชุดโครงการสำคัญในระดับภาค พร้อมติดตามประเมินผล สร้างแรงจูงใจให้สามารถขับเคลื่อนงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับเครื่องมือที่นำมาลงในพื้นที่ 4 ภาคนั้น ครั้งแรกลงพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีได้เน้นเรื่องของการสร้างคนดี มีคุณภาพ สอดแทรกหลักสูตรเกี่ยวกับหน้าที่พลเมือง ศีลธรรม และการเรียนประวัติศาสตร์ ครั้งที่ 2 ภาคกลาง ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เน้นเรื่องให้มีศูนย์การเรียนรู้ชุมชนมากขึ้น ส่วนครั้งนี้พื้นที่ภาคเหนือขึ้นอยู่กับว่าเราจะเสวนาขับเคลื่อนการศึกษาในเรื่องใด ทั้งนี้แผนการจัดการศึกษาในพื้นที่ต้องสอดประสานกับแผนของจังหวัด เพื่อนำไปสู่การจัดระบบงบประมาณด้วย
นอกจากนี้ สิ่งที่ ปลัด ศธ. คาดหวังหลังจากลงพื้นที่ครบ 4 ภาคแล้ว คืออยากเห็นชุดโครงการสำคัญตามบริบทของภาคที่สามารถตอบนโยบายและจุดเน้นของ ศธ. ทั้ง 7 ด้าน ตัวอย่างเช่น เรื่องสถานศึกษาปลอดภัยในทุกระดับทุกประเภท, การสร้างหลักสูตรเชื่อมโยงตั้งแต่พื้นฐานสู่อาชีวศึกษา ส่งต่อการมีงานทำที่มั่นคงในพื้นที่, NEED (Non Education Employment Development) หากออกชุดโครงการสำคัญได้ แล้วดึงอาสาสมัครกระทรวงศึกษาธิการ (อส.ศธ.) ที่มีประสบการณ์มาทำงานร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน, เรื่องของการศึกษาปฐมวัย จะต้องเน้นความร่วมมือ 4 กระทรวงหลัก ประกอบด้วยกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงแรงงาน ตามแผน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 เป็นต้น
นายสมภพ กล่าวด้วยว่า ในช่วงบ่าย มีการแบ่งกลุ่มอภิปราย ออกแบบ (ร่าง) กลไกการบริหารและจัดการศึกษาจังหวัดที่ส่งผลไปถึงกระบวนการเรียนรู้ และผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ของผู้เรียนที่สอดรับกับทักษะในศตวรรษที่ 21 และทักษะอาชีพที่เป็นไปตามความต้องการของตลาดงาน ตามหลักความสัมพันธ์เชิงเหตุและผล (Causal Relationship : XYZ) ที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาจังหวัด (พ.ศ. 2566 – 2570) แบ่งเป็นกลุ่มช่วงการตั้งครรภ์/ปฐมวัย วัยเรียนและวัยรุ่นระดับประถมศึกษา วัยเรียนและวัยรุ่นระดับมัธยมศึกษา วัยเรียนและวัยรุ่นระดับอาชีวศึกษา วัยเรียนและวัยรุ่นระดับอุดมศึกษา วัยแรงงาน และวัยผู้สูงอายุ
นายพีระพล พูลทวี ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า สิ่งที่ส่วนกลางอยากจะเห็นก็คือ ต่อจากนี้ไปเรื่องการศึกษาใด ๆ ในจังหวัดจะต้องอยู่ในมือของศึกษาธิการจังหวัด ซึ่งรูปแบบการประชุมวันนี้วิทยากรได้พยายามจะนำเสนอให้เห็นว่า ศธ. มีภารกิจจะต้องดูแลเด็กตั้งแต่ยังไม่เกิดจนถึงวัยสูงอายุ จึงต้องระดมความคิดช่วยกันว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร การที่ส่วนกลางมาเก็บข้อมูลครั้งนี้ เพื่อจะดูว่าความคิดเห็นที่ร่วมกันนำเสนอมา ยังขาดเหลือสิ่งใดที่ส่วนกลางจะสามารถสนับสนุนให้การขับเคลื่อนงานเกิดเป็นรูปธรรมได้
โอกาสนี้ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบเกียรติบัตรให้สถานศึกษาที่ร่วมจัดนิทรรศการในงาน ได้แก่ โรงเรียนอนุบาลลำปาง (เขลางค์รัตน์อนุสรณ์) โรงเรียนอัสสัมชัญลำปาง โรงเรียนมัธยมวิทยา วิทยาลัยเทคนิคลำปาง สำนักงาน กศน.จังหวัดลำปาง สำนักงาน กศน.อำเภอเมืองลำปาง และสำนักงาน กศน.อำเภอห้างฉัตร
ปารัชญ์ ไชยเวช / สรุป
ณัฐพล สุกไทย / ถ่ายภาพ

ใส่ความเห็น