กรุงเทพมหานคร 3 กุมภาพันธ์ 2566 / นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่โรงเรียนวัดอมรินทราราม เขตบางกอกน้อย พบค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีส้ม ต้องเฝ้าระวัง ย้ำ ผอ.สถานศึกษา ใช้ดุลยพินิจเปิด-ปิดสถานศึกษาได้ ตามระเบียบ ศธ. ว่าด้วยปีการศึกษา การเปิดและปิดสถานศึกษา พ.ศ. 2549 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2558 หากคุณภาพอากาศเกินเกณฑ์มาตรฐาน มีผลกระทบต่อสุขภาพ
รมว.ศธ. เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ว่า ปัจจุบันปัญหาสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ในประเทศไทยมีแนวโน้มสูงเกินมาตรฐานระดับสีแดงและสีส้มในหลายจังหวัด โดยเฉพาะภาคเหนือและกรุงเทพฯ ถ้าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นอาจพิจารณาโดยมอบอำนาจให้ผู้บริหารสถานศึกษาสามารถใช้ดุลยพินิจในการเปิด-ปิดสถานศึกษาตามสถานการณ์และความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ต้องหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น ๆ ด้วย เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน
กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้ความสำคัญต่อสุขภาพของนักเรียนและครูทุกคน ทั้งที่อยู่ในพื้นที่มีฝุ่น และพื้นที่ที่ค่าฝุ่นเกินมาตรฐานในทุกมิติ วันนี้จึงได้สุ่มลงตรวจเยี่ยมในพื้นที่โรงเรียนวัดอมรินทราราม เขตบางกอกน้อย พบว่ามีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานในระดับสีส้มที่ต้องเฝ้าระวัง จึงกำชับไปยังผู้บริหารสถานศึกษาให้เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ปรับกิจกรรมการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ โดยย้ำให้ดูแลผู้เรียนกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัวอย่างใกล้ชิด ทั้งโรคภูมิแพ้ต่าง ๆ โรคหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งเด็กเล็ก หากมีอาการผิดปกติควรไปพบแพทย์ทันที
“ศธ.ได้ออกมาตรการแนวทางเร่งด่วนในการป้องกัน เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ปัญหาฝุ่น PM 2.5 อาทิ ให้ครูและนักเรียนล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ เพื่อเป็นการลดเชื้อโรค ของเสีย และสารก่อภูมิแพ้ งดกิจกรรมกลางแจ้งหรือให้จัดเฉพาะกิจกรรมที่จำเป็นจริง ๆ สวมหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น ปิดประตูหน้าต่างช่วงมีฝุ่นสูง เพื่อป้องกันอาการแพ้ต่าง ๆ ของครูและนักเรียนที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งให้ครูสื่อสารข้อมูลสถานการณ์ฝุ่นในชั้นเรียนอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนให้ติดตามและเฝ้าสังเกตรายงานสถานการณ์จากกรมควบคุมมลพิษอย่างต่อเนื่อง”

นางภารดี ผางสง่า ผอ.โรงเรียนวัดอมรินทราราม กล่าวว่า โรงเรียนวัดอมรินทราราม เปิดสอนตั้งแต่ระดับ อ.1 – ป.6 มีนักเรียน 1,268 คน ได้รับการสนับสนุนจากโรงพยาบาลศิริราช ตามโครงการ “ห้องเรียนอากาศสะอาด” ในการปรับปรุงระบบระบายอากาศในห้องเรียนลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อโควิด-ลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในห้องเรียนจำนวน 12 จากทั้งหมด 41 ห้องเรียน
ผลพลอยได้จากระบบนี้ จะทำให้ผู้เรียนลดภาวะง่วงนอนระหว่างเรียนได้ เนื่องจากทุกครั้งที่เติมอากาศเข้าไปในห้องปิด จะเป็นการเติมอากาศใหม่ที่สะอาดกว่าจากภายนอก ทำให้เด็กได้รับออกซิเจนเข้าไปมากขึ้น ง่วงน้อยลง (เนื่องจากในภาวะที่มีการสะสมของคาร์บอนไดออกไซด์เยอะ ซึ่งเกิดจากการหายใจออกของคนภายในห้องและมีการระบายอากาศที่ไม่ดี จะทำให้เด็กจะง่วงนอน) ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีและเป็นการช่วยเหลือโรงเรียนและกระทรวงศึกษาธิการในการดูแล ป้องกันลูก ๆ หลาน ๆ จากภัยมลพิษทางอากาศได้เป็นอย่างดีอีกทางหนึ่ง







อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
อธิชนม์ สลางสิงห์ / ภาพ
ใส่ความเห็น