‘อรรถพล’ ย้ำความสำคัญของทวิภาคี งานนโยบายและยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการศึกษาสู่การปฏิบัติ “CP All Education Best Practice”

วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ 2 กุมภาพันธ์ 2566 / นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในงานนโยบายและยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการศึกษาสู่การปฏิบัติ ประจำปี 2566 “CP All Education Best Practice” ของวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์

ปลัด ศธ. กล่าวตอนหนึ่งว่า ผู้เรียนที่สำเร็จการศึกษาในระบบทวิภาคี (Dual Vocational Education : DVE) เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานเป็นอย่างมาก เพราะมีองค์ความรู้ ทักษะในการประกอบอาชีพและประสบการณ์ เนื่องจากมีการแสวงหาความร่วมมือกันของสถานศึกษา หน่วยงานเอกชน เข้ามาจัดการเรียนการสอน การส่งเด็กไปฝึกอบรม ทดลองทำงานในสายงานจริง

อีกทั้งปัจจุบัน การศึกษามีการเติบโตเป็นอย่างมาก ทำให้สถานศึกษาต้องปรับตัวเข้าสู่ระบบการศึกษาในยุคเปลี่ยนผ่านของระบบอุตสาหกรรม และจากสถานการณ์โควิด 19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบอุตสาหกรรม การใช้แรงงานคนถูกลดกำลังลง มีการนำเข้าเครื่องจักรอุตสาหกรรมมาแทนที่กำลังคน การศึกษาแบบเดิมจึงต้องเปลี่ยนไป ต้องจัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนรู้จักระบบต่าง ๆ ของเครื่องจักรและภาคอุตสาหกรรมการผลิต โดยใช้วิธีการศึกษาแบบทวิภาคี ซึ่งสถานศึกษาร่วมมือกับบริษัทที่ผลิตเครื่องจักรหรือสถานประกอบการ ส่งเด็กของเราเข้าไปเรียนรู้วิธีการทำงานระบบต่าง ๆ ทำให้สามารถแก้ปัญหาได้เมื่อมีการชำรุด

ระบบทวิภาคีมี 2 สถานภาพในบุคคลเดียวกัน คือ เป็นนักเรียนนักศึกษาในโรงเรียน และในขณะเดียวกันก็เป็นพนักงานฝึกอาชีพของสถานประกอบการด้วย การจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี จึงเป็นการจัดการศึกษาด้านอาชีพอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งการศึกษาในระบบนี้ผู้เรียนหรือผู้ฝึกหัด (Trainee) จะต้องเรียนรายวิชาสามัญ รายวิชาชีพพื้นฐาน โดยเรียนและฝึกปฏิบัติเบื้องต้นที่สถานศึกษา ความรู้ทางทฤษฎีที่เรียนกับสถานศึกษา จึงสามารถนำไปใช้ประยุกต์เข้ากับภาคปฏิบัติในสถานประกอบการได้ทันที ไม่ต้องรอให้จบการศึกษา เป็นการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้ถ่องแท้ และช่วยให้ผู้เรียนมีทักษะในการปฏิบัติงานวิชาชีพที่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ เพราะนักเรียนนักศึกษาฝึกอาชีพจริงอยู่ในสถานประกอบการอยู่แล้ว ดังนั้นโอกาสที่จะได้งานทำจึงมีสูงมาก

นายปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การผนึกกำลังและร่วมมือกันจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาเยาวชนในชาติ ให้ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง การศึกษาแบบระบบทวิภาคี สามารถรับนักเรียนนักศึกษาที่จบออกไปทำงานได้เลย เพราะเป็นที่ต้องการของตลาดงาน มีองค์ความรู้ และประสบการณ์ในสายงานมากกว่านักเรียนที่จบในภาคการศึกษาปกติ

นายวิเชียร เนียมน้อม ผอ.วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ กล่าวถึงการจัดงานนโยบายและยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการศึกษาสู่การปฏิบัติ ประจำปี 2566 ในครั้งนี้ เพื่อสร้างการสื่อสาร การรับรู้ และแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ แนวความคิด กระบวนการ และหลักการบริหารสู่ความเป็นเลิศ ในการพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการศึกษาสู่การปฏิบัติ ให้มีความทันสมัย เข้ากับโลกของการศึกษาปัจจุบัน และให้ผู้สนใจเยี่ยมชมนวัตกรรมเทคโนโลยีการศึกษา การเรียนการสอนที่ทันสมัยของ CP All Company (The Tara) และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ โดยภายในงานมีการออกบูธการจัดการเรียนการสอนของวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ มีการจัดแสดงเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ประกอบการสอนที่ทันสมัยให้ผู้เข้าร่วมได้ชมอีกด้วย

ณัฐพล สุกไทย / สรุป
อธิชนม์ สลางสิงห์ / ภาพ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

Website Built with WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: