(31 มีนาคม 2564) ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ ประจำปีการศึกษา 2563 ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ โดยนายสมบัติ นาหลวง ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา นักเรียนนักศึกษาวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ ร่วมพิธี
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวแสดงความชื่นชมยินดีกับนักเรียนระดับ ปวช.3 และนักศึกษาระดับปวส.2 ที่สำเร็จการศึกษา ซึ่งกว่าจะมาถึงวันนี้ ทุกฝ่ายต้องทุ่มเทและเสียสละอย่างมากที่จะทำให้นักเรียนนักศึกษาเป็นผู้ที่มีคุณภาพ เป็นบุคคลที่มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ มีความรู้ มีทักษะ มีความสามารถในการประยุกต์ใช้ มีความรับผิดชอบ เป็นกำลังคนที่มีศักยภาพ เป็นฝีมือชนคนสร้างชาติ ซึ่งผ่านกระบวนการอบรมบ่มเพาะจากหลักสูตรของอาชีวศึกษา ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน และความต้องการกำลังคนในประเทศ
ทั้งนี้ นักเรียนนักศึกษาที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ประกอบธุรกิจส่วนตัว หรือเข้าศึกษาต่อในระดับต่าง ๆ จำเป็นต้องเรียนรู้ ยอมรับ ปรับตัว เพื่อพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา และต้องรู้จักให้เกียรติ ให้โอกาส ให้กำลังใจ และให้อภัย จะทำให้ตนเองประสบความสำเร็จในชีวิต
ผอ.วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ กล่าวว่า วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ จัดการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง จำนวน 4 ประเภทวิชา ได้แก่ ประเภทวิชาบริหารธุรกิจ ประเภทวิชาศิลปกรรม ประเภทวิชาคหกรรม และประเภทวิชาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในการจัดการเรียนการสอนระบบทวิศึกษา ร่วมกับโรงเรียนพร้าววิทยาคม โรงเรียนแม่ตื่นวิทยาคม และโรงเรียนเวียงแหงวิทยาคม มีการบริหารจัดการศึกษาวิจัยความมีประสิทธิภาพทางการเรียนการสอน ด้วยการจัดให้มีการประเมินมาตรฐานวิชาชีพ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยปีการศึกษา 2563 มีผู้สำเร็จการศึกษาจำนวนทั้งสิ้น 1,241 คน









จากนั้น รมช.ศึกษาธิการ เดินทางไปตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ ผู้ร่วมโครงการอบรมสัมมนาหลักสูตรการดำเนินการทางวินัยสำหรับผู้ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการสอบสวน (ตามหลักสูตร ก.ค.ศ.) ประจำปีงบประมาณ 2564 ณ โรงแรมเชียงใหม่ออร์คิด
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ขอฝากให้ผู้บริหารสถาบันอาชีวศึกษาทุกแห่ง เน้นการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และออกไปหาเครือข่ายภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ผู้ประกอบการในพื้นที่ เพื่อร่วมมือกันพัฒนาผู้เรียนสายอาชีพให้มีโอกาสเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ เมื่อเรียนจบไปก็จะเป็นแรงงานที่มีฝีมือเชี่ยวชาญ ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน โดยอาจเริ่มจากการขอความร่วมมือหอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัดก่อน แล้วจึงขยายเครือข่ายให้กว้างขวางขึ้น เพราะการศึกษาที่ดีต้องเกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนในทุกมิติ




ปารัชญ์ ไชยเวช/สรุป
ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว/ถ่ายภาพ
ใส่ความเห็น