‘ตรีนุช เทียนทอง’ เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อย่างเป็นทางการ พร้อมสานต่อโครงการสำคัญอย่างเป็นรูปธรรม เสนอรูปแบบการทำงาน “TRUST” เรียกความวางใจให้สังคม
รับชมภาพบรรยากาศได้ที่ เฟซบุ๊ก ศธ.360 องศา
(29 มีนาคม 2564) นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ โดยได้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์พระพุทธรูปประจำกระทรวง “พระพุทธบารมีศักดิ์สิทธิ์ สยามิศรจักรีสัฏฐีอนุสรณ์ ศึกษาทรรังสรรค์” ศาลพระภูมิ และพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) จากนั้นพบปะและมอบนโยบายผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ณ ห้องประชุมราชวัลลภ อาคารราชวัลลภ
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นวันเริ่มต้นการทำงานวันแรกในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นกระทรวงขนาดใหญ่ที่มีกรอบภาระงานมากมาย โดยโครงการดี ๆ ที่อดีต รมว.ศธ. ดำเนินการไว้ ก็จะขอสานต่อ เช่น โรงเรียนคุณภาพชุมชน ซึ่งเป็นงานสำคัญที่จะต้องเร่งสานต่อให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น รวมถึงการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่สังคมจับตามองอยู่ อาทิ
1. เรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษา ซึ่งโรงเรียนถือเป็นบ้านหลังที่ 2 ของเยาวชน จึงมีความคาดหวังของผู้ปกครองและสังคมอย่างมาก โดยต้องหาแนวทางในการทำอย่างไรให้มีมาตรการที่ถูกต้อง หากระบวนการป้องกันการเกิดเหตุร้ายจากกรณีศึกษาต่าง ๆ เพื่อช่วยดูแลให้โรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดภัยอย่างแท้จริง
2. ความรู้เรื่องดิจิทัลและทักษะที่จําเป็นในศตวรรษที่ 21 เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในปัจจุบันได้ก่อให้เกิดความนิยมในรูปแบบการเรียนการสอนออนไลน์ (Online) มากยิ่งขึ้น ศธ.จึงต้องเร่งดําเนินการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของโอกาสในการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องความพร้อมของโครงข่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์ที่จําเป็น ให้มีความทั่วถึง รองรับการใช้งานของผู้เรียนทุกระดับ
ขณะเดียวกันยังต้องพัฒนาแหล่งข้อมูล แหล่งเรียนรู้ให้มีความหลากหลาย โดยจะประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่มีศักยภาพในการรณรงค์เรื่องดังกล่าวเข้ามาทํางานร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลแห่งชาติ (NDLP) และระบบฐานข้อมูลกลางทางการศึกษา (Big Data) เพื่อเตรียมคนไทยให้มีทักษะที่จําเป็นในศตวรรษที่ 21 ซึ่งมุ่งเน้นทักษะกระบวนการคิด ความสามารถด้านภาษา และความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ (Resilience)
3. การขับเคลื่อนภาพลักษณ์ที่ดีของการอาชีวศึกษา ทัศนคติของผู้ปกครองและผู้เรียนไทยที่มองว่าระบบอาชีวศึกษาเป็นที่รองรับของผู้เรียนที่ไม่สามารถศึกษาต่อในสายสามัญได้ จึงต้องมีการขับเคลื่อนภาพลักษณ์ที่ดีของการอาชีวศึกษาในประเทศไทยให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยระยะแรกจะมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์สถาบันอาชีวศึกษาที่มีมาตรฐานชั้นนำในระดับประเทศให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง เพื่อให้ผู้เรียน และผู้ปกครองเห็นถึงโอกาสในการยกระดับคุณภาพชีวิตและความก้าวหน้าทางวิชาชีพอันจะก่อให้เกิดความมั่นใจที่จะเลือกศึกษาต่อในสายอาชีวะมากยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการสนับสนุนผู้ประกอบการที่อำนวยความสะดวกในการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาผ่านมาตรการจูงใจต่าง ๆ เพื่อสร้างบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจต่อไป
นอกจากนี้ รมว.ศึกษาธิการ ยังได้นำเสนอรูปแบบการทำงาน “TRUST” หมายถึง “ความไว้วางใจ” ที่จะทำให้ครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง ผู้เรียน และประชาชน กลับมาให้ความไว้วางใจในการทำงานของ ศธ. โดย T ย่อมาจาก Transparency (ความโปร่งใส) R ย่อมาจาก Responsibility (ความรับผิดชอบ) U ย่อมาจาก Unity (ความเป็นอันหนึ่งอันเดียว) S ย่อมาจาก Student-Centricity (ผู้เรียนเป็นเป้าหมายแห่งการพัฒนา) T ย่อมาจาก Technology (เทคโนโลยี)
ทั้งนี้รูปแบบการทำงาน “TRUST” คือการพัฒนาต่อยอดจากรูปแบบการทำงาน “MOE ONE TEAM” หรือ “การทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวของ ศธ.” ที่ได้ดำเนินการมาโดยตลอด ซึ่ง “TRUST” จะเข้ามาเป็นส่วนเสริมในเรื่องความโปร่งใส ทั้งในเชิงกระบวนการทำงานและกระบวนการตรวจสอบจากภาคส่วนต่าง ๆ การสนับสนุนให้ผู้ปฏิบัติงานทุกคนดำเนินการตามภารกิจของตนด้วยความรับผิดชอบต่อตัวเอง องค์กร ประชาชน และประเทศชาติ ให้ความสำคัญกับการประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน (Participation) ผ่านกลไกการรับฟังความคิดเห็นมาประกอบการดำเนินงานต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษา
ปารัชญ์ ไชยเวช/สรุป
อธิชนม์ สลางสิงห์, ธนภัทร จันทร์ห้างหว้า/ถ่ายภาพ
ใส่ความเห็น