(4 มีนาคม 2564) ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงข่าวพร้อม Facebook Live “ถอดรหัสนโยบายการศึกษา ก้าวใหม่นักเรียนไทย ผ่าน 3 กลไก 5 นโยบาย 7 โครงการ เร่งเดินหน้าปฏิรูปการศึกษาไปสู่ตัวผู้เรียน วางรากฐานการศึกษาไทยในศตวรรษที่ 21 และในอนาคต” ณ พิพิธภัณฑ์การศึกษาไทย อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
3 กลไกหลัก ในการขับเคลื่อนงานปี 2564 “ความทันสมัย- เท่าเทียม- และยั่งยืน“
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช กล่าวว่า ในปี 2564 จะขับเคลื่อนนโยบายผ่าน 3 กลไกหลัก คือ ความทันสมัย- เท่าเทียม- และยั่งยืน เพราะถือเป็นหัวใจในการพัฒนาคนไทยให้มีคุณภาพและเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ
5 นโยบายสำคัญ ที่ต้องผลักดันเพื่อปฏิรูปการศึกษาในศตวรรษที่ 21
การปฏิรูปการศึกษาในศตวรรษที่ 21 อย่างแท้จริงนั้น จะต้องเร่งผลักดัน 5 นโยบายสำคัญ ได้แก่
- โค้ดดิ้ง ถือเป็นวาระแห่งซาติ ในการวางรากฐานการปฏิรูปโดยตรงถึงเยาวชนและการพัฒนามนุษย์ ซึ่งปัจจุบันมีการตั้งคณะอนุกรรมการโค้ดดิ้ง (Coding) เพื่อการปฏิรูปประเทศ ภายใต้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
- การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้วยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม หรือ STI (Science Technology Innovation) มาใช้ในกระบวนการการเรียนการสอน
- การอ่านเขียนเรียนประวัติศาสตร์ผ่านการสี่อร่วมสมัย โดยปรับเปลี่ยนวิธีการสอนและกระบวนการเรียนการสอนผ่านนวัตกรรมและสื่อการสอนที่ทันสมัย รวมทั้งจัดทำคลังข้อมูลดิจิทัลเพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับครู
- อาชีวะเกษตรและประมง โดยยกระดับอาชีวะศึกษาด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งระบบ พัฒนาสถานศึกษาให้เป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีเกษตร พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรให้กับเยาวชนและชุมชน
- นโยบายการศึกษาพิเศษ รวมทั้งเด็กพิการ และเด็กด้อยโอกาสสามารถเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างเท่าเทียม
7 โครงการ เพื่อสร้างนักเรียนคุณภาพ
ขณะเดียวกัน ศธ.ได้ดำเนินโครงการ 7 โครงการ เพื่อสร้างนักเรียนคุณภาพ ซึ่งในปีนี้จะยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย
- โครงการ “Coding for All” เด็กไทยต้องได้เรียนโค้ดดิ้ง นอกจากจะเน้นที่ตัวครูและนักเรียนแล้ว ยังจะขยายไปกระทรวงต่าง ๆ ภายใต้คณะกรรมการโค้ดดิ้งแห่งชาติ และร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อกระจายการเรียนรู้ให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ และทุกช่วงวัยมากยิ่งขึ้น
- โครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ซึ่งได้ขยายโอกาสให้นักเรียนได้เรียนวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ STI อย่างกว้างขวาง โดยจัดการเรียนการสอนที่เน้นการปฏิบัติ และประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน
- โครงการการขับเคลื่อนโรงเรียนวิทยาศาสตร์ในกำกับ โดยให้การสนับสนุนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย 12 แห่งทั่วประเทศ เพื่อขยายโอกาสให้นักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษา ได้พัฒนาศักยภาพให้สูงทัดเทียมกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก
- โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ โดยวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีจะเป็นแหล่งพัฒนาบุคลากรทางการเกษตร ที่พร้อมต่อยอดให้เป็นผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำในอนาคต ภายใต้หลักสูตร “ชลกร” โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือ การช่วยเหลือเกษตรกรให้มีน้ำกิน น้ำใช้ แก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน รวมถึงการน้อมนำศาสตร์พระราชามาสู่สถานศึกษาในการจัดทำเนื้อหาหลักสูตรที่เหมาะสม
- โครงการที่นำเอานวัตกรรมมาใช้กับการเกษตรและประมง อาทิ โครงการเกษตรประณีต 1 ไร่ 1 แสน โครงการสร้างบรรยากาศห้องเรียนธรรมชาติ เพื่อให้นักเรียนอาชีวะเกษตรได้เรียนรู้ฝึกทักษะชีวิตกับธรรมชาติ
- โครงการด้านการอ่าน เขียน เรียนประวัติศาสตร์ผ่านการสื่อสารร่วมสมัย โดยจัดทำ AR เพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านธนบัตร มีการอบรมกระบวนการสอนโดยใช้คลิปประวัติศาสตร์น่ารู้จำนวน 10 คลิป ที่ได้จัดทำเป็นคลังข้อมูลดิจิทัลที่สามารถเข้าถึงความสนใจของเด็กในยุคปัจจุบัน
- โครงการการศึกษาพิเศษ โดยสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สพฐ. จะจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กพิการและเด็กด้อยโอกาสผ่านการให้บริการในรูปแบบที่หลากหลายและ มีคุณภาพ มีทักษะชีวิตที่ดี สามารถพึ่งตนเองได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีศักดิ์ศรี และอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข
นอกจากนี้ ยังพร้อมขับเคลื่อนงานตามนโยบายที่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการบูรณาการการศึกษาจังหวัด ซึ่งประกอบด้วยโรงเรียน 3 กลุ่ม คือ โรงเรียนคุณภาพของชุมชน โรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง และโรงเรียน Stand Alone รวมทั้งนโยบายการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) อีกด้วย
ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวด้วยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน ไม่สามารถหยุดการศึกษาของไทยได้ เนื่องจากขณะนี้ ศธ. เตรียมความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อจัดทำโครงการติวออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อให้เด็กสามารถทบทวนเนื้อหาการเรียนตลอดช่วงปีที่ผ่านมาอย่างเข้มข้น สามารถเตรียมความพร้อมก่อนสอบได้ในทุกชั้นปี






ปารัชญ์ ไชยเวช / สรุป
อธิชนม์ สล้างสิงห์ / ถ่ายภาพ
โดยรวมแล้วถือว่านโยบายดีมากครับ แต่ผมอยากให้ทางศธ. หันมาใส่ใจกับตัวระบบการศึกษาที่มีปัญหาจะดีกว่าครับ อาทิ
1.การให้นร.ได้เรียนในสิ่งที่ตนเองถนัด(สำหรับชั้นม.ต้นและม.ปลาย)โดยการยกเลิกแผนการพวกวิทย์-ศิลป์ แล้วเปลี่ยนมาเป็น แผนการเรียนที่ตอบโจทย์คณะหรืออาชีพในอนาคต เช่น แผนการเรียนแพทยศาสตร์ แผนการเรียนบัญชี แผนการเรียนนิติศาสตร์ เป็นต้น
2.ลดภาระงานครู ทำให้ครูมีเวลา และมีประสิทธิภาพในการสอนนักเรียนให้มากขึ้น
3.ลดเรียนแต่ในห้องเรียน เน้นวิชาการ ให้นักเรียนได้ลองปฏิบัติ และลองผิดลองถูกเพื่อเป็นประสบการณ์ชีวิต(รวมทั้งอนุบาล ประถม ม.ต้น ม.ปลาย)
หวังว่าท่านจะได้เห็นในสิ่งที่ผมเขียนลงไป
ถูกใจถูกใจ