(26 สิงหาคม 2563) ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ เดินทางไปตรวจราชการที่จังหวัดร้อยเอ็ด โดยเป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด และติดตามการขยายผลนักศึกษาหลักสูตรชลกรช่วยเหลือชุมชน ณ โรงเรียนขี้เหล็กเขียวไพรวัลย์วิทยา และบ้านขี้เหล็กเขียวไพรวัลย์ จังหวัดร้อยเอ็ด
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากปัญหาสภาพพื้นที่ของสถานศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีน้ำมากจนท่วมในช่วงฤดูฝน และประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูร้อน ไม่สามารถกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้ในการดำเนินงานฟาร์มและทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี การเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์จึงได้ผลผลิตไม่สมบูรณ์และมีคุณภาพไม่ดีมากพอ
กองทุนบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ จึงได้สนับสนุนงบประมาณในการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ให้แก่สถานศึกษานำร่องจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี เพื่อจัดทำธนาคารน้ำใต้ดิน ส่งผลให้สามารถก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตรได้ตลอดทั้งปี ทั้งยังสามารถป้องกันน้ำท่วมช่วงฤดูฝนได้
นอกจากนี้ ได้ขับเคลื่อนโครงการให้ขยายผลสู่ชุมชน โดยดำเนินโครงการอบรมการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริขึ้น เพื่อพัฒนาบุคลากรในการอนุรักษ์น้ำ สร้างชลกรซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำให้สามารถช่วยสอนชาวบ้านเรื่องการจัดการน้ำในชุมชน และสร้างประโยชน์จากแหล่งน้ำเพื่อชีวิตที่พอเพียงได้ด้วยตนเอง โดยชุมชนต้องมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ จะสามารถช่วยแก้ปัญหาเรื่องน้ำได้อย่างยั่งยืน
สำหรับโครงการฝึกอบรมซึ่งจัดขึ้นในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้อาจารย์และนักเรียน ได้เริ่มศึกษาแนวทางของการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ของรัชกาลที่ 9 ซึ่งที่ผ่านมาเคยไปเข้ารับการอบรมที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์แล้ว แต่ครั้งนี้ผู้เข้าอบรมจะมีประชาชนและนักเรียนจากสถานศึกษานำร่องทั้ง 5 วิทยาลัย ร่วมอบรมด้วยจำนวนทั้งสิ้น 87 คน
ทั้งนี้ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี จะมี อศ.กช. (นักศึกษาโครงการอาชีวศึกษาเพื่อการพัฒนาชนบท) ซึ่งเป็นผู้ที่ทำการเกษตรอยู่แล้ว และต้องการที่จะมาเรียนรู้เพิ่มเติม โดยใช้พื้นที่ของตนเองในการผลิตพืช สัตว์ หรือทำการเกษตรต่าง ๆ ซึ่งกลุ่มนี้มีความสนใจนำเรื่องการบริหารจัดการน้ำไปทำในพื้นที่ของตนเองอย่างมาก จึงจัดให้มีการเรียนภาคทฤษฎี โดย ดร. เร่งรัด สุทธิสน ผู้อำนวยการสถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณ และ ดร.เชาวลิต สิมสวย ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการและพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เพื่อเรียนรู้ว่าหากต้องการขุดบ่อ มีที่ให้น้ำอยู่ ต้องหันทิศทางอย่างไร แล้วเชื่อมโยงกันอย่างไร จึงจะเก็บน้ำที่ตกลงมาในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด เพื่อจะได้นำกลับไปทำของในพื้นที่ของตนเอง
หวังว่าวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทุกแห่ง จะเป็นแหล่งความรู้ ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ และเมื่อโครงการดำเนินไปได้ระยะหนึ่งแล้ว เราควรจะผลิต “ชลกร” หมายถึง ผู้เรียนจากวิทยาลัยเกษตรฯ ให้มีความรู้ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำฝน ซึ่งตกลงมาในพื้นที่ของวิทยาลัย ก็เปรียบเหมือนชุมชนหนึ่ง ให้สามารถกักเก็บน้ำ มีที่ให้น้ำอยู่ มีที่ให้น้ำไหล เก็บน้ำไว้ใต้ดินอย่างไร จึงจะทำให้น้ำฝนที่ได้มาฟรีนี้ เก็บได้มากที่สุด เพื่อใช้ประโยชน์ได้ทั้งปี หากทำเช่นนี้ได้ในทุกชุมชน จะส่งผลให้คนไทยหรือเกษตรกรไทย ไม่ยากจนอีกต่อไป
จากนั้น ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช เดินทางไปติดตามการขยายผลนักศึกษาหลักสูตรชลกรช่วยเหลือชุมชน ณ โรงเรียนขี้เหล็กเขียวไพรวัลย์วิทยา และบ้านขี้เหล็กเขียวไพรวัลย์ อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งมีการขุดบ่อธนาคารน้ำใต้ดินทุกหลังคาเรือน พร้อมทั้งเชิญชวนให้ทุกคนร่วมกันปลูกป่า เพื่อเป็นแหล่งซับน้ำ สร้างความอุดมสมบูรณ์และช่วยชะลอความรุนแรงของน้ำเมื่อเกิดอุทกภัย สิ่งสำคัญคือการปลูกต้นไม้ทุกต้น ถือเป็นการตอบแทนคุณแผ่นดินที่ทุกคนลงมือทำได้อย่างยั่งยืน















ปารัชญ์ ไชยเวช / สรุป
ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว / ถ่ายภาพ