ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ 23 มีนาคม 2566 / นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) ให้การต้อนรับ นายหู จื้อผิง (Mr. Hu Zhiping, deputy director-general of the Center for Language Education and Cooperation (CLEC) under the Chinese Ministry of Education) และคณะผู้แทนจากศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือด้านภาษาจีนระหว่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Center for Language Education and Cooperation : CLEC ) ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยครั้งแรกภายหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมหารือความร่วมมือด้านการศึกษาร่วมกัน
ปลัด ศธ. กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นครั้งแรกของการพบปะหารืออย่างเป็นทางการ ภายหลังการลงนามกรอบความร่วมมือระหว่างไทยและจีนด้านการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนเมื่อเดือนเมษายน 2565 ขอขอบคุณศูนย์ความร่วมมือด้านภาษาฯ ที่ได้ให้การสนับสนุน พัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนให้แก่ประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน โดยเฉพาะโครงการครูอาสาสมัครจีน ที่ได้จัดส่งครูจีนเดินทางมาปฏิบัติงานในสถานศึกษาสังกัด ศธ.จำนวนมาก ถึงปีละกว่าหนึ่งพันคนเป็นประจำทุกปี
นอกจากเรื่องของครูภาษาจีนแล้ว ต้องการขยายความร่วมมือในด้านอื่นมากขึ้นอีก ศธ.ได้ให้ความสำคัญความร่วมมือกับประเทศจีนมากกว่า 10 ปี ปัจจุบันได้ผลักดันเด็กนักเรียนไทยราว 30 คน ไปเรียนด้านระบบรางและระบบอากาศยาน ที่มหาวิทยาลัยในจีน ซึ่งทางจีนก็ได้แลกเปลี่ยนส่งเด็กมาเรียนที่ไทย 1 ปี และกลับไปฝึกที่อีก 1 ปี พร้อมต้องการขยายความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาให้เป็นรูปธรรมมากกว่าเดิม เจาะลึกจนเกิดความเชี่ยวชาญด้านวิชาชีพ ไม่ใช่เพื่อการศึกษาอย่างเดียว แต่เพื่ออาชีพควบคู่กันไปด้วย
ปลัด ศธ. กล่าวด้วยว่า ศธ.มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการร่วมมือเพื่อพัฒนากิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ในโอกาสนี้ ขอแสดงความยินดีในพิธีเปิดป้ายสถาบันภาษาจีนและการศึกษาอบรมด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา เมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา โดยถือเป็น “ศูนย์พัฒนาอาชีวศึกษาแห่งแรกที่ประเทศจีนให้ความร่วมมือจัดตั้งขึ้นในต่างประเทศ” ซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนาการศึกษาด้านอาชีวะของไทยกับจีนให้มีความก้าวหน้าต่อไป
นายหู จื้อผิง กล่าวว่า ประเทศจีนได้ร่วมประชุมกับสถาบันฯ พร้อมร่วมสนับสนุนมาโดยตลอด ในงานเปิดป้ายสถาบันภาษาจีนที่ผ่านมาได้เข้าชมนิทรรศการความร่วมมือทางอาชีวศึกษา และประทับใจที่สื่อมวลชนไทยและจีนให้ความสนใจอย่างมาก ขอขอบคุณ ศธ.ที่ได้ให้การสนับสนุนที่ดีมาโดยตลอด ดีใจที่การเรียนการสอนภาษาจีนที่ไทยมีมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อตอบสนองการต้องการของการจัดการเรียนการสอนของไทย เราได้จัดการเรียนการสอนภาษาจีนร่วมกับการทักษะวิชาชีพต่าง ๆ ให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น รวมถึงพัฒนาครูสอนภาษาจีนชาวไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ และพร้อมทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หากจะพัฒนาหลักสูตรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อไป















พบพร ผดุงพล / ข่าว
ณัฐพล สุกไทย / ภาพ
ใส่ความเห็น