กระแสตอบรับดี ศธ.ลุยพิษณุโลก จัด “Unlock a better life” ภูมิภาค ครั้งที่ 3 เดินหน้าแก้หนี้สินครูต่อเนื่อง

ปลัด ศธ. “อรรถพล” นำทัพผนึกกำลังสถาบันการเงินชั้นนำหน่วยงานภาครัฐ-เอกชนที่เกี่ยวข้อง แก้ปัญหาหนี้สินครู ภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 18-19 มีนาคม 2566 พร้อมประกาศ “ถึงเวลาที่ครูไทยต้องมีคุณภาพชีวิตดีกว่าเดิม”

ภาพงานพิธีเปิด Facebook ศธ.360 องศา

จังหวัดพิษณุโลก – 18 มีนาคม 2566 นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย “Unlock a better life” สร้างโอกาสใหม่เพื่อชีวิตครูไทยที่ดีกว่า 4 ภูมิภาค ครั้งที่ 3 ภาคเหนือ ที่จังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วย นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ นายสุทิน แก้วพนา รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งผู้บริหาร ศธ. สถาบันการเงิน หน่วยงานภาครัฐ-เอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยนายพชรเสฏฐ์ บุญศิริสาริศา รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ให้การต้อนรับและเข้าร่วม ณ โรงแรม ดิ อิมพีเรียล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์

ปลัด ศธ. กล่าวว่า สืบเนื่องจากนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เล็งเห็นความสำคัญเรื่องหนี้สินของประชาชน โดยมอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปร่วมกันดําเนินการจัดการแก้ไขนั้น ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ถือว่าเป็นหน่วยงานที่มีครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นจํานวนมาก และส่วนใหญ่ล้วนแต่มีปัญหาเรื่องหนี้สินเกือบทั้งสิ้น

ศธ. ภายใต้การนำของ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. จึงได้ร่วมกันหาแนวทางในการขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาเหล่านี้ โดยเร่งดําเนินการแก้ปัญหาหนี้สินฯ ใน 2 มิติด้วยกัน

  • กลุ่มแรก ครูที่ทําหน้าที่ปฏิบัติงานด้านการเรียนการสอน ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยให้บุคลากรครู ได้มีขวัญและกําลังใจมุ่งมั่นในด้านการเรียนการสอน เสริมสร้างประสิทธิภาพในด้านการเรียนการสอนโดยไม่ต้อง กังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้สิน อันจะส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาและคุณภาพสังคมที่ดีขึ้น
  • กลุ่มที่สอง คือข้าราชการที่เกษียณแล้ว ที่รับเงินเดือนเพียงอย่างเดียว ไม่มีรายได้พิเศษหรือวิทยาฐานะต่าง ๆ แต่ยังมีหนี้จากสถาบันการเงินและสหกรณ์ออมทรัพย์ครู

ด้วยปัญหาดังกล่าว จึงนํามาสู่โครงการมหกรรมแก้ไขปัญหาหนี้สินครูตามลําดับ ด้วยการหารือกับสถาบันการเงินและสหกรณ์ออมทรัพย์ครูรวมถึงจัดทํากิจกรรมลงนามความร่วมมือพร้อมกําหนดรูปแบบแนวทางในการแก้ไขหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาโดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูเป็นฐานในการปรับโครงสร้างหนี้ อีกทั้งรวมหนี้จากทุกสถาบันการเงินมาไว้ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครู รวมทั้งมีการควบคุมยอดหนี้ไม่ให้เกินความสามารถในการชําระหนี้โดยตั้งเป้าหมายว่าอย่างน้อยจะต้องมีเงินเดือนสุทธิหรือเงินออมหลังจากหักชําระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าอัตราร้อยละ 30 ตลอดจนเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับสถาบันการเงินหรือเป็นสมาชิกของเครดิตบูโรเพื่อหาแนวทางในการปรับสภาพหนี้ และปรับโครงสร้างนี้หนี้เดิมที่มีอยู่กับ กยศ.ก่อนหน้าที่จะมาเป็นครู

ทั้งนี้ ศธ. ได้เจรจาและสร้างความร่วมมือกับทางสมาคมธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน ธนาคาร ธกส. สถาบันการเงินทุกแห่ง รวมถึงสถาบันเครดิตบูโร และกบข. ถึงแนวทางในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาหนี้สินครู จึงเป็นที่มาของการลงนามความร่วมมือ รวมถึงจัดกิจกรรมพูดคุย ซึ่งตามแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการได้ดําเนินการ สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินครูได้กว่า 1 แสนคน จำนวนเงินกว่า 1 แสนล้านบาท

ด้านภาพรวมการดําเนินการศึกษาสหกรณ์ออมทรัพย์จังหวัดพิษณุโลก มีครูที่มาปรับโครงสร้างหนี้ประมาณ 1 พันคน โดยดําเนินการสําเร็จไปแล้วกว่า 600 กว่าคน ที่เหลือกําลังอยู่ในระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการก็ขอให้ความมั่นใจว่าจะดําเนินกิจกรรมดี ๆ เช่นนี้ไปอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ที่เข้าร่วมงานจะได้รับ โปรโมชั่นพิเศษต่าง ๆ จากธนาคารและสถาบันการเงิน ส่วนผู้ที่ไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมตามกําหนดวันและเวลาได้ ธนาคารบางแห่งก็ยังเปิดโอกาสให้ครูเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ได้ หรือบางธนาคารจัดโปรโมชันลดดอกเบี้ยให้แก่ครูที่เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ด้วยเพิ่มสร้างแรงจูงใจให้กับครูได้มาเข้าร่วมในโครงการแก้ปัญหา หนี้สินครูในครั้งนี้

“ขอเน้นย้ำและฝากอีกประเด็นหนึ่งที่สําคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือ กลุ่มของผู้ค้ำประกันที่ต้องรับความเสี่ยง ซึ่งที่ผ่านมามี หนี้เสีย (NPL) ที่ได้กลายเป็นภาระหนี้ตกมาถึงผู้ค้ำ สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ค้ำ ทั้งแบบค้ำประกันเป็นกลุ่มหรือแบบตัวต่อตัว ซึ่งมีมากกว่า 1 หมื่นราย โครงการนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ค้ำ ในการรับผิดชอบในหนี้สินเพียงแค่ส่วนเดียวจากที่เคยต้องรับทั้งหมด สำหรับภาพรวมกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อมุ่งเป้าไปที่การแก้ปัญหาหนี้สินครู และสร้างความรู้ทางการเงินให้แก่ครู สร้างวินัยทางการเงิน และสามารถวางแผนจัดการ เรื่องการเงินในอนาคตที่ถูกต้องอย่างเป็นระบบและยั่งยืนได้ ขอให้กําลังใจแก่ครูที่เข้าร่วมโครงการ และหวังว่ากิจกรรมในครั้งนี้จะเกิดประโยชน์แก่ครูทุกคนด้วยเช่นกัน”

นายสุทิน แก้วพนา รองปลัด ศธ. กล่าวเพิ่มเติมถึงการจัดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย 4 ภูมิภาค ซึ่งจัดไปแล้ว 2 ครั้ง เริ่มที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ระหว่างวันที่ 18 – 19 กุมภาพันธ์ 2566 มีครูและบุคลากรทางการศึกษาเข้าร่วมงาน จำนวน 2,180 คน ได้รับการไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 626 คน แก้ไขหนี้ได้กว่า 784 ล้านบาท ต่อด้วยครั้งที่ 2 ภาคตะวันออก ที่จังหวัดสระแก้ว ระหว่างวันที่  11 – 12 มีนาคม 2566 มีครูและบุคลากรทางการศึกษาเข้าร่วมงาน จำนวน 1,986 คน ได้รับการไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 143 คน แก้ไขหนี้ได้กว่า 175 ล้านบาท

โดยการจัดงานภาคเหนือ ครั้งที่ 3 มีเป้าหมายหลักเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ประสบปัญหาหนี้สินได้เข้ามาไกล่เกลี่ย เจรจา ปรึกษา ปรับโครงสร้างหนี้ หาข้อยุติการบังคับคดีและแก้ไขปัญหาหนี้สินร่วมกันโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การไกล่เกลี่ยกรณีถูกฟ้องร้องดำเนินคดี / การปรับโครงสร้างหนี้ / การวางแผนและให้คำปรึกษาทางการเงิน / การอบรมให้ความรู้ด้านการวางแผนทางการเงินและการบริหารจัดการหนี้สิน / นิทรรศการการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูของกระทรวงศึกษาธิการ และที่สำคัญจะได้การผ่อนปรนและสิทธิพิเศษจากสถาบันการเงินอีกด้วย

อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
พบพร ผดุงพล / สัมภาษณ์
ธนภัทร จันทร์ห้างหว้า / ภาพ
เจษฎา วณิชชากร / วีดิทัศน์

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

Website Built with WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: