ศธ.หารือสำนักการศึกษามณฑลกุ้ยโจว ยกระดับอาชีวศึกษาและครูผู้สอนภาษาจีนในไทย

กระทรวงศึกษาธิการ 7 มีนาคม 2566 / นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยเรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (รองเลขาธิการ กอศ.) ให้การต้อนรับและหารือความร่วมมือด้านการศึกษากับ Ms. Wang Hui Deputy Director-General (International Affairs) สำนักการศึกษามณฑลกุ้ยโจว แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ ห้องดำรงราชานุภาพ

รองปลัด ศธ. กล่าวว่า ขอต้อนรับคณะผู้แทนจากสำนักการศึกษามณฑลกุ้ยโจว ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยคร้ังแรกภายหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 รวมทั้งถือเป็นโอกาสอันดีที่ได้ร่วมกันหารือความร่วมมือด้านการศึกษา และกระชับความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างไทยและจีน

ขอขอบคุณที่ได้ให้การสนับสนุนและช่วยพัฒนาด้านการศึกษาของไทย โดยเฉพาะการจัดส่งนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยการศึกษากุ้ยโจว เดินทางมาปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยสอนภาษาจีน ในสถานศึกษาของไทยต้ังแต่ปี 2557 แต่ต้องหยุดดำเนินการชั่วคราวตั้งแต่ปี 2563 เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์ของโรคโควิด 19 แต่ปัจจุบันสถานการณ์ได้เริ่มกลับสู่สภาวะปกติแล้ว หากทางฝ่ายจีนจะจัดส่งนักศึกษามาปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการมีความยินดีที่จะร่วมมือ และอำนวยความสะดวกให้แก่นักศึกษาจีนต่อไป

รองเลขาธิการ กอศ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 21 มีนาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จะมีพิธีเปิดศูนย์ความสัมพันธ์ไทย-จีน ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายผลกรอบความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านการเรียนการสอนภาษาจีน ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการของไทยกับศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือด้านภาษาจีนระหว่างประเทศ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเป็นสถานที่ศูนย์กลางในการขับเคลื่อนแนวทางการดำเนินความร่วมมือและกระชับความสัมพันธ์ร่วมกัน

ทั้งนี้ การส่งเสริมและกำหนดขอบเขตความร่วมมือด้านการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย ก่อให้เกิดการขยายผลและยกระดับคุณภาพ ผ่านโครงการและกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย การฝึกอบรมและมอบทุนการศึกษาสำหรับครูสอนภาษาจีนชาวไทย การให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาไทยเพื่อเดินทางไปศึกษาต่อที่สาธารณรัฐประชาชนจีน การจัดส่งครูอาสาสมัครชาวจีนมาสอนในประเทศไทย ตลอดจนการแลกเปลี่ยนนักเรียน นักศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะบุคลากรทางอาชีวศึกษาของไทยที่ต้องขอรับการสนับสนุนเทคโนโลยี และผู้เชี่ยวชาญจากประเทศจีนมาช่วยยกระดับองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นโดยด่วน

Ms. Wang Hui กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการและมหาวิทยาลัยการศึกษากุ้ยโจว (Guizhou Education University) ได้ร่วมกันลงนามในกรอบความร่วมมือเพื่อเป็นแนวทางสำหรับการดำเนินโครงการ ผู้ช่วยสอนภาษาจีน เมื่อปี 2557 โดยมหาวิทยาลัยการศึกษากุ้ยโจวเป็นผู้คัดเลือกนักศึกษาชั้นปีที่ 4 เดินทางเข้ามาฝึกประสบการณ์สอนในต่างประเทศและเป็นผู้ช่วยสอนภาษาจีนในสถานศึกษาของไทย เป็นระยะเวลาหนึ่งปีการศึกษา ช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน – มีนาคม ของทุกปี ทั้งนี้ช่วงปี 2563 – 2565 มีความจำเป็นต้องระงับการส่งนักศึกษาเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 แต่หลังจากสถานการณ์คลี่คลายก็จะกลับมามีการคัดเลือกนักศึกษาเป็นผู้ช่วยสอนภาษาจีนอีกครั้ง และส่งมาช่วยสอนในเดือนมิถุนายน 2566 นี้

ประเทศจีนให้การสนับสนุนการเรียนการสอนภาษาจีนและการทำความรู้จักประเทศจีนให้กับประเทศไทยมาโดยตลอด ช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้ นักเรียนตลอดจนประชาชนไทยเรียนภาษาจีนเป็นอันดับ 1 ของโลก และจำนวนครูจีนที่ส่งมาประเทศไทยก็เป็นอันดับ 1 ของโลกเช่นกัน

ซึ่งหัวใจสำคัญต้องเร่งเน้นการยกระดับสมรรถนะครูสอนภาษาจีนชาวไทย รวมทั้งการพัฒนาการทักษะการทำงานข้ามสายงานของบุคลากรทางการศึกษา และพัฒนาแหล่งทรัพยากรทางการศึกษา จะกลายเป็นพื้นฐานที่สำคัญและมั่นคงสำหรับการยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย ขยายการพัฒนาไปถึงในระดับอุดมศึกษา อาชีวศึกษา และการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมถึงพัฒนาการดิจิทัลเพื่อการศึกษา และส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาหลังสถานการณ์โควิด 19 ด้วย

ในการนี้ คณะสำนักการศึกษามณฑลกุ้ยโจว ได้เป็นตัวแทนกระทรวงศึกษาธิการแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เชิญผู้บริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการประเทศไทย เข้าร่วมงานสัปดาห์ความร่วมมือด้านการศึกษาจีน-อาเซียน (China-ASEAN Education Cooperation Week หรือ CAECW) จะจัดขึ้นช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2566 (รอยืนยันวันและเวลาจากรัฐบาลจีน) ซึ่งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการศึกษาและวัฒนธรรมระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และสาธารณรัฐประชาชนจีนที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ณ เมืองกุ้ยหยาง มณฑลกุ้ยโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยจัดขึ้นครั้งแรกในปี 2551 และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน (เปลี่ยนเป็นรูปแบบออนไลน์ ในช่วงโควิด 19) ระยะเวลาจัดงาน 5 วัน

โดยมีกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ อาทิ การเข้าพบหารือกับผู้ว่าการมณฑลกุ้ยโจวและผู้บริหารระดับสูงของมณฑลกุ้ยโจวเกี่ยวกับการดำเนินความร่วมมือในการ พัฒนาการศึกษาระหว่างกัน พิธีมอบทุนการศึกษาแก่เยาวชนในอาเซียน การศึกษาดูงาน นวัตกรรม และแนวปฏิบัติที่ดีของภาครัฐและภาคเอกชนของมณฑลกุ้ยโจว งานแสดงความสามารถและนวัตกรรม ในด้านต่าง ๆ ของเยาวชนจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาและสถาบันอุดมศึกษาจากประเทศสมาชิกอาเซียน และสาธารณรัฐประชาชนจีน

รวมถึงการจัดทำความร่วมมือระหว่างสถาบัน และการสร้าง แลกเปลี่ยนเครือข่าย ความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์การระหว่างประเทศ สำหรับไฮไลต์ในปีนี้จะมีกิจกรรมการแข่งขันทักษะทางภาษาจีนชิงถ้วยรางวัลพระราชทานจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อีกด้วย

อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
อธิชนม์ สลางสิงห์ / ภาพ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

Website Built with WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: