20 กุมภาพันธ์ 2566 / คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมสภาการศึกษา ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)

เห็นชอบแผนยกระดับความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาไทยในเวทีโลก
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบแผนยกระดับความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาไทยในเวทีโลก โดยกำหนดเป็น 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
- ยุทธศาสตร์ที่ 1 การยกระดับผลการประเมิน PISA มีเป้าหมายให้เด็กไทยสามารถอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น มีทักษะการคิดวิเคราะห์ และสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ที่ได้จากการศึกษามาใช้ในชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพได้ โดยใช้คะแนนเฉลี่ย PISA ในแต่ละวิชาไม่น้อยกว่า 470 คะแนน (ปัจจุบันเฉลี่ย 400 คะแนน) และนักเรียนที่เข้ารับการทดสอบต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ในทุกรายวิชา ภายในปี พ.ศ.2570 เป็นตัวชี้วัด
- ยุทธศาสตร์ที่ 2 การยกระดับผลการจัดอันดับ IMD ด้านการศึกษา มีเป้าหมายให้เด็กไทยทุกคนสามารถเข้าถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาลดลง และการจัดการศึกษามีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น โดยใช้อันดับการศึกษาอยู่ในอันดับที่ 40 ภายในปี พ.ศ.2570 เป็นตัวชี้วัด ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยอยู่อันดับ 53
- ยุทธศาสตร์ 3 การยกระดับผลการจัดอันดับ WEF มีเป้าหมายการจัดการศึกษาสามารถผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงได้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงาน และเด็กไทยทุกคนมีงานทำ มีทักษะตรงต่อความต้องการของตลาดแรงงาน โดยใช้คะแนนเฉลี่ยด้านทักษะเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ภายในปี พ.ศ.2570 เป็นตัวชี้วัด
เห็นชอบแนวทางการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา
ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา 9 คณะ ได้แก่
- คณะที่ 1 ด้านอำนวยการ : เนื่องจากเลขาธิการ สกศ. นำเสนอต่อที่ประชุมเกี่ยวกับภารกิจของคณะอนุกรรมการฯ ที่มีความสอดคล้องตรงกับภารกิจประจำของ สกศ. จึงขอชะลอการดำเนินการ
- คณะที่ 2 ด้านนโยบายและแผนการศึกษา : วางแนวทางขับเคลื่อนวาระเร่งด่วนสำคัญทางการศึกษาสู่การปฏิบัติในเบื้องต้น คือ ระบบธนาคารหน่วยกิต, การจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความต้องการจำเป็นพิเศษ (กรณีผู้ที่มีความสามารถพิเศษ), มาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านการศึกษาด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน และการพัฒนาและเสริมสร้างสมรรถนะบุคลากรและระบบบริหารการศึกษาภายใต้ Digital Transformation
- คณะที่ 3 ด้านประเมินผลจัดการศึกษา : พิจารณาเสนอความคิดเห็นหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับการประเมินผลการพัฒนาการศึกษา ตามแผนการศึกษาแห่งชาติ มาตรฐานการศึกษาของชาติ นโยบายการศึกษาของประเทศ และการประเมินผลประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรทางการศึกษา
- คณะที่ 4 ด้านกฎหมาย : จัดทำข้อเสนอแนวทางพัฒนากฎหมายการศึกษา ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายลำดับรองที่ออกตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 ให้ความเห็นข้อกฎหมายที่มีการหารือ เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการสภาการศึกษา รวมทั้งขับเคลื่อนการส่งเสริมความรู้ และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นรูปธรรม
- คณะที่ 5 ด้านมาตรฐานการศึกษา : เสนอแนะเชิงนโยบายในการดำเนินงานขับเคลื่อนมาตรฐานการศึกษาของชาติ การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา และระบบจัดการเรียนรู้ เพื่อให้การจัดการศึกษาสอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาของชาติ ต่อบอร์ด สกศ. ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2566
- คณะที่ 6 ด้านเครือข่ายการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา : ศึกษาวิจัยสภาพการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของประชาชนระดับจังหวัด โดยจัดทำและพัฒนาเป็นฐานข้อมูลภาคีเครือข่ายการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ 77 จังหวัด
- คณะที่ 7 ด้านวิจัย เทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรมด้านการศึกษา : จัดทำข้อเสนอนโยบายเพื่อตอบโจทย์ในการขับเคลื่อนประเทศ โดยเป็นการดำเนินการตามภารกิจ ซึ่งต้องฉายภาพมหภาคเชิงระบบ ให้เห็นโจทย์และเป้าหมายของประเทศร่วมกัน อีกทั้งกำหนดกลุ่มเป้าหมาย โดยจัดทำแผนเชื่อมโยง วิเคราะห์ช่องว่าง และมุ่งขับเคลื่อนการเรียนรู้ไปยังกลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่ได้รับความสนใจหรือมีมาตรการสนับสนุนน้อยจากหน่วยงานต่าง ๆ จะสามารถเห็นผลได้ชัด ลดข้อขัดแย้งขับเคลื่อนได้เร็วขึ้น
- คณะที่ 8 ด้านคุณธรรมจริยธรรม จิตอาสาและสำนึกสาธารณะ : ขับเคลื่อนภารกิจ สกศ.ในประเด็นการส่งเสริม สร้างจิตสำนึกในเรื่องคุณธรรมจริยธรรม จิตอาสาและสำนึกสาธารณะให้กับผู้เรียน
- คณะที่ 9 ด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการศึกษาพิเศษ : ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายด้านพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ บุคคลที่มีความสามารถพิเศษ บุคคลที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา












การประชุมครั้งนี้มีผู้บริหารระดับสูงเข้าร่วม อาทิ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการ สกศ., นายสวัสดิ์ ภู่ทอง และนายธนู ขวัญเดช รองเลขาธิการ สกศ., นายสมใจ วิเศษทักษิณ ผู้ช่วยปลัด ศธ., ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการสภาการศึกษา (กกส.) เข้าร่วม รวมทั้งคณะกรรมการที่เข้าร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์ โดยการประชุมครั้งถัดไป จะจัดประชุมในวันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม 2566
อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / ภาพ
ใส่ความเห็น