14 ก.พ.วันราชภัฏ “ตรีนุช-อัมพร-อมลวรรณ-ลินดา” แถลงข่าวรูปแบบร่วมในการผลิตครู ให้ความสำคัญ 17 สมรรถนะบัณฑิตราชภัฏ

โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ 14 กุมภาพันธ์ 2566 – นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมแถลงข่าวรูปแบบร่วมในการผลิตบัณฑิตและพัฒนาครูฐานสมรรถนะ เพื่อพัฒนากำลังคนสำหรับศตวรรษที่ 21 “Professional Teacher of Rajabhat University : PTRU Model” ในที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมวันราชภัฏ โดย ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้ง ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา และ ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ร่วมแถลงข่าว

รมว.ศธ. กล่าวว่า การพัฒนาครู ถือเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ชาติ มีกลไกในการคัดกรองและพัฒนาวิชาชีพครูอย่างชัดเจน ต้องยอมรับว่าโลกได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ทำให้การศึกษาหรือเยาวชนของเราสามารถปรับเปลี่ยนได้ เพราะฉะนั้นหัวใจคือ “คุณครู” ที่เป็นแม่พิมพ์ เป็นปัจจัยสำคัญในการที่จะขับเคลื่อนในบริบทนี้ การจัดงานครั้งนี้จึงเป็นเรื่องดีที่ได้ขับเคลื่อนร่วมกัน คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏที่เป็นฝ่ายครูที่เป็นหน่วยใหญ่ ดูแลกระบวนการศึกษาของชาติ และหน่วยปฏิบัติคือ ศธ. และคุรุสภา ซึ่งดูแลในส่วนมาตรฐานและกำกับวิชาชีพครู

ทั้งนี้ เพราะทุกหน่วยงานมีผลลัพธ์สำคัญคือเป้าหมาย เพื่อให้เยาวชนของชาติ จะต้องมีการยกระดับ ซึ่งที่ผ่านมาได้เห็นและเจอความท้าทายหลายเรื่องโดยเฉพาะกระบวนการเรียนการสอน อยากให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็น เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 เพราะทุกวันนี้องค์ความรู้ต่าง ๆ ไม่ได้หยุดนิ่ง ครูจึงจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการเรียนการสอนแบบ Active Learning ดึงความรู้ต่าง ๆ นอกห้องเรียนมาประยุกต์ใช้ในการสอน เพื่อให้สอดรับกับบริทบทของการศึกษายุคปัจจุบัน ถือเป็นกลไกกลการและได้เห็นถึงบริบทความสำคัญอย่างยิ่ง

สำหรับหลักสูตรพัฒนาบัณฑิตครูในปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับ 17 สมรรถนะบัณฑิตราชภัฏ ถือเป็นหลักสูตรแกนกลางสามารถที่จะปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมในบริบทของพื้นที่แต่ละมหาวิทยาลัยไม่ว่าจะเป็น Soft Power ศิลปะ วัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย มีความสมบูรณ์และสอดคล้องกับความต้องการบัณฑิตครูในศตวรรษที่ 21 โดย ศธ.พร้อมจะนำหลักสูตรต่าง ๆ ที่ราชภัฎได้จัดทำ ไปดำเนินการตามขั้นตอนของคุรุสภา ในฐานะผู้กำกับมาตรฐานวิชาชีพครู เพื่อนำไปสู่การรับรองมาตรฐานและนำหลักสูตรไปสู่แนวปฏิบัติต่อไป

สำหรับ 17 สมรรถนะในการพัฒนาบัณฑิตครู มีดังนี้

  1. ปฏิบัติงานครูอย่างมืออาชีพ
  2. ภาวะผู้นำและสัมพันธ์ชุมชน
  3. การบริหารจัดการชั้นเรียน
  4. การทำงานเป็นทีม
  5. การใช้เทคโนโลยี
  6. การสื่อสารอย่างมีกลยุทธ์
  7. บุคลิกภาพความเป็นครูและทัศนคติ : การปรับตัว
  8. จิตอาสา จิตสาธารณะ
  9. ศิลปะการใช้สื่อ
  10. การอำนวยการเรียนรู้
  11. การวัดและประเมิน
  12. การประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
  13. การออกแบบและพัฒนาหลักสูตร
  14. การเป็นพลเมืองดี
  15. การบูรณาการศาสตร์สู่การสอน
  16. นวัตกรทางการศึกษา
  17. จิตวิญญาณความเป็นครู

พบพร ผดุงพล / ภาพ
อธิชนม์ สลางสิงห์ / ข่าว

ใส่ความเห็น

Website Built with WordPress.com.

Up ↑