13 กุมภาพันธ์ 2566, โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม – สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดงานนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ “Thailand International Science Fair 2023 (TISF2023)” โดยคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กราบบังคมทูลรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน และเฝ้าฯ รับเสด็จ
โอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำรัสเปิดงาน และทอดพระเนตรการแสดงพิธีเปิด “The Thai 4 Regions Drum Performance” จากนั้น ทรงฟังบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Future Technologies that will Change Our World” จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และหัวข้อ “Why must scientists speak up for science?” จากวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล
สำหรับงานในครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 13 – 16 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อเป็นเวทีให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนชั้นนำต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวิชาการ สังคมและวัฒนธรรม ส่งเสริมให้นักเรียนที่มีความสนใจในการทำวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ได้นำเสนอผลงานโครงงานวิทยาศาสตร์ เปิดโอกาสให้ผู้บริหาร ครู และนักเรียน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน พัฒนาและยกระดับความรู้และการทำวิจัยไปพร้อม ๆ กัน อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างเครือข่ายมิตรภาพและความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันด้วย
ภายในงานมีการนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ของนักเรียน 76 โครงงาน การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ในการจัดการเรียนการสอนของผู้บริหารและครู กิจกรรมสันทนาการที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความคิดสร้างสรรค์และฝึกฝนทักษะการทำงานร่วมกัน การฝึกปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางวิชาการ ศิลปวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ภายใต้แนวคิด “Mapping Out the Future” โดยมีโรงเรียนชั้นนำในต่างประเทศ และโรงเรียนในประเทศไทย มากกว่า 200 คน จาก 50 ประเทศ ทั่วโลก เข้าร่วมกิจกรรม ผ่านระบบ Zoom Meetings และที่โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
โครงงานวิทยาศาสตร์ที่ได้รับคัดเลือก จำนวน 3 โครงงาน ประกอบด้วย
- โครงงานสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ เรื่อง “Development of a neural network
for classifying selected fabaceae family plant leaves” จาก Philippine Science High School – Main Campus สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ - โครงงานสาขาวิชาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ เรื่อง “Effect of the planetary magnetic
field on the shape of gas giants’ polygons based on fluid instabilities principle” จาก โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จังหวัดระยอง - โครงงานสาขาวิชาเคมี เรื่อง “Sawasdee-AMP: Highly efficient, portable and low-cost point of care test kit for future emerging RNA/DNA disease diagnosis” จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์














พบพร ผดุงพล / ข่าว
ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ, โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ / ภาพ
ใส่ความเห็น