‘พิเชฐ’ กรองประเด็นใหญ่ด้านการศึกษา ก่อนเสนอข้อมูลประกอบการอภิปรายทั่วไป 15-16 ก.พ.นี้

กระทรวงศึกษาธิการ 8 กุมภาพันธ์ 2566 – นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมเตรียมข้อมูลประกอบการอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 152 ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์นี้

รองปลัด ศธ. กล่าวว่า ที่ประชุมได้จัดเตรียมข้อมูลประกอบการอภิปรายทั่วไป มาตรา 152 ในส่วนของนโยบายและผลการขับเคลื่อนการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการ ใน 6 ประเด็นที่สำคัญ ดังนี้

1. ความปลอดภัยของผู้เรียน

  • MOE Safety Center ศธ.ได้จัดตั้ง “ศูนย์ความปลอดภัย กระทรวงศึกษาธิการ” เพื่อช่วยเหลือดูแลนักเรียน นักศึกษา ให้มีความปลอดภัยทั้งร่างกายและจิตใจ รวมถึงสร้างทักษะให้ดูแลตนเองจากอันตรายทางสังคมตาม 3 มาตรการ “ป้องกัน ปลูกฝัง ปราบปราม” ผ่านแพลตฟอร์ม ต่าง ๆ ในการแจ้งเหตุความไม่ปลอดภัยและติดตามข่าวสาร
  • การแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชน ศธ.ให้ต้นสังกัดทั้งรัฐและเอกชนเร่งสร้างการรับรู้ความเข้าใจที่มาจากบุหรี่ไฟฟ้า ยึดกฎ ระเบียบ เช่นเดียวกับการห้ามสูบบุหรี่ธรรมดา ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 ที่กำหนดให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาเป็นเขตปลอดบุหรี่ทั้งหมด พร้อมออกมาตรการและนโยบายให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมขับเคลื่อนระหว่างโรงเรียนกับชุมชน
  • แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับกัญชาหรือกัญชงในสถานศึกษา ส่วนราชการหรือหน่วยงานในสังกัดหรือในกำกับของ ศธ. มีการประกาศแนวทางการปฏิบัติ ห้ามนักเรียน นักศึกษา หรือบุคลากรในส่วนราชการใช้กัญชาหรือกัญชง (ยกเว้นภายใต้การควบคุมของแพทย์) ส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกัน
  • โครงการสถานศึกษาสีขาว ปลอดยาเสพติดและอบายมุข ตามกระบวนการ 5 ด้าน “ป้องกัน ค้นหา ดูแลบำบัดรักษา เฝ้าระวัง และบริหารจัดการ” โดยร่วมกำกับควบคุมร้านค้าที่จำหน่ายบริเวณสถานศึกษา ส่วนราชการ และร่วมพัฒนาองค์ความรู้จัดทำคู่มือ “รู้คิด รู้ทันป้องกันยาเสพติด Be Smart Say No To Drugs”
  • การบูลลี่ในโรงเรียน ศธ.ได้ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาบูลลี่ในสถานศึกษาอย่างเข้มข้นมากขึ้น โดยวางมาตรการต่าง ๆ ให้รัดกุม สร้างการรับรู้ให้เด็กนักเรียนพร้อมรับมือ และให้ครูที่มีบทบาทหน้าที่ช่วยงดูแลพฤติกรรมนักเรียนอย่างทั่วถึง แนะแนวปัญหาสุขภาพจิตให้เด็กกล้าพูด กล้าระบายปัญหาต่าง ๆ โดยไม่เปิดเผยข้อมูล เพื่อให้นักเรียนมีความปลอดภัยในทุกมิติ
  • การล่วงละเมิดทางเพศนักเรียน  ศธ.ได้กำชับสถานศึกษาเรื่องการป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศ หากครูและบุคลากรทำผิดต้องดำเนินการทางกฎหมายและลงโทษทางวินัยอย่างเคร่งครัด ส่วนนักเรียนผู้ถูกกระทำ ต้องเข้าไปช่วยเหลือดูแลเยียวยาจิตใจ โดยครูแนะแนว นักจิตวิทยา และหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกับผู้ปกครอง

2. คุณภาพการศึกษา

  • โครงการโรงเรียนคุณภาพ ศธ.พัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษาเพื่อให้นักเรียนเข้าถึงคุณภาพ มีทักษะหลากหลายด้าน เมื่อจบหลักสูตรสามารถประกอบอาชีพได้ มีกลุ่มเป้าหมาย 349 แห่ง พร้อมสนับสนุนงบประมาณเพื่อยกระดับคุณภาพโรงเรียนในเครือข่าย ด้านการเรียนการสอน พัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนการศึกษา คุณภาพสื่อห้องเรียนคุณภาพ จัดสรรครูสอนภาษาอังกฤษและภาษาจีน และด้านโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนงบประมาณปลูกสร้างสิ่งก่อสร้างและซ่อมแซม รวมทั้งสิ้นกว่า 4,000 ล้านบาท
  • การดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่มีภาวะที่ถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss) สถานการณ์การ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ การจัดการเรียนการสอนไม่เต็มศักยภาพ การเรียนออนไลน์วิชาต่าง ๆ ที่บ้านผ่านผู้ปกครองทำให้ขาด “ทักษะทางสังคมมิติ” ในปีการศึกษา 2565 ศธ. มุ่งเน้นให้เป็น “ปีแห่งการเสริมสร้างการศึกษา” โดยเร่งแก้ไขฟื้นฟูการเรียนรู้ช่วงที่สูญเสียไปให้คืนกลับมาเร็วที่สุด ผ่าน “Screening Learning Loss” เพื่อพัฒนานักเรียนให้ได้รับทั้งความรู้ พัฒนาการด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และพัฒนาทักษะครบทุกด้านโดยใช้กิจกรรม “Active Learning” ควบคู่กัน
  • การขับเคลื่อนนโยบาย Coding For All : All For Coding ส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) มุ่งเน้นการพัฒนาครูและนักเรียน ให้มีทักษะในการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอนและเป็นระบบ มีตรรกะ สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริง รู้เท่าทันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ให้มีความพร้อมในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล เพิ่มขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการบรรลุเป้าหมายนโยบายประเทศไทย 4.0 เปลี่ยนโฉมบทบาทครูยุคใหม่จาก “ผู้สอน” เป็น “ผู้อำนวยความรู้” กว่า 400,000 คน สอดคล้องกับการพัฒนากำลังคนตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

3. เสริมสร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

  • พาน้องกลับมาเรียน/ กศน.ปักหมุด สร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับคนพิการและผู้ด้อยโอกาส เร่งแก้ไขปัญหาเด็กตกหล่นและออกกลางคัน กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาโดยบูรณาการความร่วมมือ 11 กระทรวง พัฒนา Application “พาน้องกลับมาเรียน” เพื่อค้นหา ติดตามนักเรียนตกหล่น ปัจจุบันพาเด็กกลับมาเรียนได้แล้วร้อยละ 99.51
  • สร้างโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชน เพื่อผลิตกำลังคนของประเทศ โครงการ “อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” เพื่อการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ สร้างทางเลือกสำหรับผู้เรียนสายอาชีพ และพานักเรียนที่ตกหล่นกลับเข้าสู่ระบบมาตรฐานในสถานศึกษาของรัฐ ระยะเวลาโครงการ 10 ปี (ปีงบประมาณ 2565 – 2575)  สร้างโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชนมากกว่า 100,000 คน โดยระยะที่ 1 รุ่นที่ 1 (ปวช.1) จำนวน 3,256 คน พร้อมทั้งจัดสรรงบประมาณแก่สถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 88 แห่ง เพื่อนำไปปรับปรุงอาคารสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก รวมทั้งเตรียมเจ้าหน้าที่ ครูพี่เลี้ยงดูแลหอพักให้มีความพร้อมที่สุด
  • Smart Devices “คนละเครื่อง พี่แบ่งให้… น้องได้เรียน” ศธ.ให้ความสำคัญกับการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส สร้างภูมิคุ้มกันทางดิจิทัลอย่างมีคุณภาพให้กับผู้เรียน จึงขับเคลื่อนการดำเนินงานสนับสนุนอุปกรณ์สำหรับใช้ในการเรียนของนักเรียนร่วมกัน โดยจัดหาอุปกรณ์ให้แก่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาในสังกัดที่ขาดแคลน โดยมีผู้บริจาคเงินสมทบในระยะแรกกว่า 2.6 แสนบาท และอุปกรณ์ Smart Devices จำนวน 82 เครื่อง แก่สถานศึกษาขนาดกลาง ระดับมัธยมศึกษาที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย (ยากจน ขาดแคลน) ส่งต่อให้กับนักเรียนที่ขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนยืมเรียน และจัดทำแผนและงบประมาณเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานที่สนับสนุนวงเงินงบประมาณ 3,000 ล้านบาท
  • เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษาภาคบังคับ 12 ปี และได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 15 ปี โดยรัฐจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ด้วยปัจจัยหลายด้านในปัจจุบันอาจไม่เพียงพอกับความต้องการ ศธ.จึงได้ปรับอัตราเงินอุดหนุนฯ ตามความจำเป็นพื้นฐาน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 จำนวน 4 รายการ ได้แก่ 1) ค่าจัดการเรียนการสอน 2) ค่าอุปกรณ์การเรียน 3) ค่าเครื่องแบบ และ 4) ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน (จากปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ปรับเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันไดต่อเนื่องถึง พ.ศ. 2569) จำนวนกว่า 54,00 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้เรียนและเพิ่มศักยภาพสถานศึกษา
  • การปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวัน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันทำให้ค่าอาหารกลางวันไม่เพียงพอ ศธ.เห็นความสำคัญของสุขภาพนักเรียน ควรได้รับประทานอาหารเหมาะสมตามหลักโภชนาการ จึงดำเนินการปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันนักเรียนระดับเด็กเล็ก – ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เฉลี่ยเป็น 29 บาท/คน/วัน (จากเดิม 21 บาท/คน/วัน) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งเป็นอัตราค่าอาหารกลางวันที่เหมาะสม กับนักเรียนในปัจจุบัน คาดว่าจะใช้งบประมาณกว่า 30,000 ล้านบาท ครอบคลุมนักเรียนจำนวนทั้งสิ้น 5,792,119 คน (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนของนักเรียนในแต่ละโรงเรียน)

4. การพัฒนาและดูแลครู

  • การประเมินวิทยฐานะครูตามเกณฑ์ PA ที่ผ่านมาได้กำหนดมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะ ตลอดจนหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะของข้าราชการครูฯ โดยบูรณาการตัวชี้วัดร่วมกันระหว่างการประเมินวิทยฐานะ การประเมินเลื่อนขั้นเงินเดือน และการประเมินเพื่อคงวิทยาฐานะ ทำให้ลดความซ้ำซ้อนในการประเมิน และลดภาระงานของผู้ประเมินและผู้รับการประเมิน รวมทั้งพัฒนาเครื่องมือเกี่ยวกับการประเมินวิทยฐานะ โดยการนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการประเมิน ทำให้ระบบการประเมินโดยรวมมีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และความคล่องตัว โดยพัฒนาระบบการประเมินวิทยฐานะดิจิทัล (Digital Performance Appraisal : DPA) เพื่อใช้ประเมินวิทยฐานะข้าราชการครูฯ ตำแหน่งครู ผู้บริหารสถานศึกษา และศึกษานิเทศก์ ทั้งนี้มีผู้ที่ยื่นคำขอมีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะผ่านระบบ DPA แล้วรวมทั้งสิ้น 43,067 คน
  • การแก้ไขปัญหาหนี้สินครู การดำเนินงานในระยะแรกกำหนดแนวทางในการแก้ปัญหาหนี้สินครูโดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบเป็นฐาน โดยดำเนินการศึกษาสหกรณ์ออมทรัพย์ครูตัวอย่าง จำนวน 2 แห่ง (สอ.ครู สมุทรปราการและกำแพงเพชร) และขยายผลไปยังสหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบ จำนวน 37 แห่ง ซึ่งผลการดำเนินงานที่ผ่านมามีผลสำเร็จหรือประโยชน์ที่กลุ่มเป้าหมายได้รับเชิงรูปธรรม อาทิ
    – การลดดอกเบี้ยเงินกู้ : โดยขอความร่วมมือจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อช่วยลดภาะค่าใช้จ่ายครูและบุคลากรมีสภาพคล่องทางการเงินมากขึ้น ปัจจุบันมีสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 70 แห่ง ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง ร้อยละ 0.05-1.0 ทำให้ครูได้รับประโยชน์จากการลดดอกเบี้ย
    – ชะลอการดำเนินการทางกฎหมาย โดย ศธ.เจรจาสถาบันการเงิน ชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดีผู้กู้และผู้ค้ำประกัน
    – จัดตั้งสถานีแก้หนี้ครู ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั้วประเทศ จำนวน 558 สถานี ทำหน้าที่เป็นคนกลางช่วยเจรจาไกล่เกลี่ย ประนอมหนี้และปรับโครงสร้างหนี้แก่ครูที่ลงทะเบียนขอรับการช่วยเหลือ จำนวน 41,128 ราย รวมมูลค่าหนี้ 58,835 ล้านบาท
    – ปรับโครงสร้างหนี้โดยรวมหนี้มาไว้กับสถาบันการเงินที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำกว่า โดยประสานการดำเนินงานโดยสหกรณ์ออมทรัพย์ครู และไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดิน
    – ติดอาวุธให้ความรู้และทักษะทางการเงิน โดยประสานงานกับธนาคารแห่งประเทศไทย สถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง จัดทำหลักสูตรสำหรับพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาขอ ศธ. เพื่ออบรมพัฒนาครูให้ครูมีความรู้สามารถวางแผน มีวินัยในการบริหารการเงิน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
    – ขยายผลการจัดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย 4 ภูมิภาค : เพื่อเปิดโอกาสให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในส่วนภูมิภาคได้รับสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขพิเศษจากสถาบันการเงินที่มาร่วมจัดกิจกรรมอย่างทั่วถึง
  • การช่วยเหลือเยียวยาครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้เสียชีวิตอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ จากการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของครูและบุคลากรทางการศึกษา นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา มีครูถูกกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงทำร้ายจนเสียชีวิต 183 ราย ส่งผลให้คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบสนับสนุนสวัสดิการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้เสียชีวิตย้อนหลังไปถึงวันที่ 1 มกราคม 2547 โดยให้ ศธ.จัดสรรงบประมาณในการช่วยเหลือเยียวยา รายละไม่เกิน 4 ล้านบาท มอบให้แก่ทายาทหรือครอบครัวของครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบฯ ซึ่งปัจจุบันได้อนุมัติจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้เสียชีวิตฯ จำนวน 8 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 60 ราย ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบฯ เป็นเงินกว่า 158 ล้านบาท

5. กฎหมายการศึกษา

  • พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และจัดให้มีการร่วมมือระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน ในการจัดการศึกษาทุกระดับ อีกทั้งจัดให้มีกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ แผนการศึกษาแห่งชาติ เพิ่มการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของภาคประชาชน ภาคเอกชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ยกระดับคุณภาพการศึกษา สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตลอดจนสร้างเสริมให้ระบบการศึกษามีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรเพื่อการศึกษา และเสริมสร้างธรรมาภิบาลของระบบการศึกษา จึงต้องมีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ เพื่อเป็นกฎหมายแม่บทในการบริหารและการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาจึงได้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. เป็นธรรมนูญทางการศึกษาที่มีความสอดคล้องกับเจตนารมณ์ หลักการ และแนวทางของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ในวาระที่ 2 และ 3 โดยมีการพิจารณาในวาระที่ 2 ไปแล้วรวม 3 ครั้ง กล่าวคือ การประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566 ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2566 และครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 พิจารณาลงมติถึงร่างมาตรา 13
  • พระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. …. โดยยกเลิก พ.ร.บ.ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551 ที่ใช้บังคับในปัจจุบัน ซึ่งในมาตรา 24 ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ให้เปลี่ยนสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เป็น “กรมส่งเสริมการเรียนรู้” มีฐานะเป็นนิติบุคคล และเป็นกรมใน ศธ. ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการ ศธ. และกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน อยู่ในบังคับบัญชาของรัฐมนตรีและปลัด ศธ. ซึ่งทำหน้าที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง และการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ ผ่านการกระจายอำนาจการจัดการเรียนรู้ไปยังหน่วยส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอ ศูนย์การเรียนรู้ระดับตำบล ศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่ ศูนย์หรือสถาบันการเรียนรู้เฉพาะด้านหรือเฉพาะกิจการ รวมถึงภาคีเครือข่าย สถานศึกษา และสถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้

    ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ได้มีมติเห็นชอบร่างดังกล่าวในวาระ 2 และ 3 ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ เพื่อเข้าสู่กระบวนการในการประกาศใช้กฎหมายต่อไป และเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2565 ได้มีการทวนร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. …. ณ สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี รวมทั้งได้ชี้แจงนิติกรสำนักองคมนตรี เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2566 ขณะนี้อยู่ระหว่างรอลงพระปรมาภิไธย ซึ่ง ศธ.ได้เตรียมจัดทำกฎหมายลำดับรอง อาทิ การปรับปรุงโครงสร้าง ระเบียบกรมส่งเสริมการเรียนรู้ การจัดอัตรากำลังในการดำเนินงาน รวมจำนวน 13 ฉบับ ประกอบด้วย กฎกระทรวง 4 ฉบับ ประกาศกระทรวง 4 ฉบับ ประกาศกรม 1 ฉบับ และระเบียบกรม 4 ฉบับ เพื่อรองรับการประกาศใช้ต่อไป

6. เรื่องอื่น ๆ

  • ทรงผมนักเรียน ศธ.ได้กำหนดให้มีแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนหรือนักศึกษาไว้อย่างกว้าง ๆ เพื่อให้หน่วยงานในสังกัดที่เป็นผู้กำกับดูแลสถานศึกษา กำหนดให้สถานศึกษาแต่ละแห่งนำหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวไปกำหนดเป็นระเบียบหรือข้อบังคับของสถานศึกษาแต่ละแห่งเอง ศธ.จึงได้ยกเลิก “ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563” ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งแนวนโยบายเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนของสถานศึกษา ในเรื่องการไว้ทรงผมของนักเรียนของสถานศึกษาในสังกัด ศธ. และสถานศึกษาในกำกับดูแลของ ศธ. จะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ โดยสถานศึกษาอาจกำหนดลักษณะทรงผมได้ตามพันธกิจ บริบท และความเหมาะสมของแต่ละสถานศึกษา โดยหารือร่วมกันระหว่างผู้บริหารสถานศึกษา ตัวแทนครู ผู้ปกครอง นักเรียน และผู้นำชุมชนนั้น ๆ
  • ชุดเครื่องแบบวิชาลูกเสือ ศธ. ได้รับทราบปัญหาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองท่ามกลางสถานการณ์ Covid-19 โดยมีหนังสือไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 2564 และสั่งการย้ำไปยังสถานศึกษาทุกแห่งแล้วว่า สิ่งใดที่ไม่จำเป็นและจะเป็นการสร้างภาระให้แก่ผู้ปกครอง ขอให้สถานศึกษายืดหยุ่นการจัดการเรียนการสอน โดยบางวิชา เช่น วิชาลูกเสือ ที่ต้องมีการแต่งเครื่องแบบก็ไม่จำเป็นจะต้องมีการแต่งเครื่องแบบ แต่ขอให้มีสัญลักษณ์เฉพาะบ่งบอกให้รู้ว่าได้เรียนวิชาลูกเสือ เช่น การสวมใส่ผ้าพันคอ ทั้งนี้ในส่วนวิชาลูกเสือ ถือเป็นวิชาบังคับในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ใช้ปลูกฝังวินัยให้แก่ผู้เรียน และสร้างจิตอาสา การบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่สังคม อาจต้องปรับกิจกรรมการเรียนวิชาลูกเสือ ให้มีความยืดหยุ่นและมีความทันสมัยมากขึ้น รองรับการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

ทั้งนี้ รองปลัด ศธ.ได้มอบหมายให้ผู้แทน สพฐ. จัดทำข้อมูลเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องในเรื่องการเรียนการสอน Active Learning และวิชาประวัติศาสตร์ และเร่งนำส่งข้อมูลให้ฝ่ายเลขานุการ (สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สป.) ภายในวันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566

อานนท์ วิชานนท์, พบพร ผดุงพล / ข่าว
ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ /ภาพ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

Website Built with WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: