จังหวัดสุรินทร์ 2 กุมภาพันธ์ 2566 / คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานขับเคลื่อนนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์ เขต 1 ณ หอประชุมโรงเรียนหนองโตง (สุรวิทยาคม) พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการผลงานความก้าวหน้าของนักเรียน ที่โรงเรียนอนุบาลสุรินทร์ และโรงเรียนเมืองสุรินทร์
รับชมภาพการลงพื้นที่ Facebook ศธ.360 องศา
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศธ. กล่าวว่า ความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของโลก เกิดขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง การเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้นเป็นโลกของ VUCA World ทำให้คนต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างสร้างสรรค์
“โครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ” จึงเกิดขึ้นเพื่อพัฒนาส่งเสริมศักยภาพ และสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับผู้เรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี สร้างคนให้เกิดกระบวนการคิดและทันยุคเศรษฐกิจดิจิทัล
นอกจากนี้ สถานศึกษาและครูมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเตรียมผู้เรียนให้มีภูมิคุ้มกัน เรียนในสิ่งที่ชอบ และมีความสุข สิ่งสำคัญที่สุดคือ เน้นสมรรถนะ ไม่เน้นที่สาระอย่างเดียวเหมือนในอดีต เป้าหมายการจัดการเรียนการสอนของ ศธ. จึงเน้นไปที่ 1) ให้เด็กต้องเรียนสนุกแบบ Active learning ไม่ได้อยู่แต่ในห้องเรียน ไปเจอธรรมชาติ และทำกิจกรรมร่วมกัน 2) ระหว่างเรียนมีรายได้ ใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์เข้ามาช่วย 3) เรียนจบแล้วมีงานทำ เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ทันสมัย มีคุณภาพชีวิตที่ดีแข่งขันได้ จึงเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดีแข่งขันได้ เพื่อเป็นการเปิดโลกใบใหม่ และจุดประกายให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับสาขาอาชีพในอนาคต
ส่วนนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลคือ การมีรูปแบบการเรียนรู้ มุ่งสู่ระบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีด้านวิศวกรรม ณิตศาสตร์ และภาษาต่างประเทศ รวมทั้งใช้ระบบคิดวิเคราะห์ด้วยเหตุผลเชิงตรรกะ แก้ปัญหาเป็นขั้นตอนอย่างเป็นระบบ โดยวางเป้าหมายพัฒนาครูและหลักสูตรทางการศึกษา “เด็กเรียน Coding โดยการเล่น…ผู้ใหญ่เรียน Coding โดยการตั้งคำถาม” ส่งเสริมการใช้ตรรกะในการแก้ปัญหา
สิ่งนี้ถือเป็นความคาดหวังของ ศธ. ที่อยากเห็นเด็กเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ อยู่ในสังคมที่มีคุณภาพสูงสุด

นายฉลาด สาโยธา ผอ.สพป.สุรินทร์ เขต 1 กล่าวว่า ได้สนับสนุน ส่งเสริม และสร้างโอกาสให้นักเรียนได้พัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี อย่างเต็มศักยภาพความสามารถของผู้เรียน เช่น Coding หุ่นยนต์บังคับ กิจกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่าง ๆ มีการบูรณาการ 16 เครือข่าย ร่วมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ พัฒนาครูผู้สอนให้สามารถจัดการเรียนรู้ด้วยกิจกรรม Active Leaning
ในปีที่ผ่านมา โรงเรียนในสังกัด เช่น โรงเรียนอนุบาลสุรินทร์ได้รับการคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนศูนย์วิทยาศาสตร์พลังสิบ ระดับประถมศึกษา ซึ่งได้จัดการเรียนการสอนตามแนวทางของโครงการอย่างต่อเนื่อง และในปีนี้ได้มีโรงเรียนได้รับการคัดเลือกเพิ่มขึ้นอีก 10 โรงเรียน คือ โรงเรียนบ้านศาลาสามัคคี โรงเรียนบ้านโนนสวรรค์ โรงเรียนบ้านคอโค โรงเรียนหนองโตง “สุรวิทยาคม” โรงเรียนเมืองสุรินทร์ โรงเรียนอนุบาลศีขรภูมิ โรงเรียนบ้านจอมพระ โรงเรียนตะเคียนกูยวิทยา โรงเรียนบ้านสวายไตรภูมิ และโรงเรียนบ้านพันษี








พบพร ผดุงพล / ข่าว
จงจิตร ฟองละแอ / ภาพ
ใส่ความเห็น