จังหวัดปทุมธานี 1 กุมภาพันธ์ 2566 / คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นิเทศติดตามเชิงประจักษ์ การจัดการเรียนรู้ตามแนวทางโครงการเกษตรอัจฉริยะประณีตในโรงเรียน ณ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ปทุมธานี และโรงเรียนเทพศิรินทร์คลองสิบสาม อำเภอลำลูกกา โดยมีนางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้
นายพิษณุ เดชใด ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ปทุมธานี กล่าวว่า ได้นำแนวคิดทำโครงการเกษตรอัจฉริยะประณีตในโรงเรียน มาใช้กับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โปรแกรมเกษตร โดยเน้นการเรียนการสอนรูปแบบ Active Learning ที่บูรณาการวิทยาศาสตร์ วิทยาการคำนวณ และเทคโนโลยี เข้ากับกระบวนการเกษตรกรรม พร้อมส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการ (Smart Farmer) สร้างนักเรียนให้เป็นนวัตกร สร้างนวัตกรรมใน Tuppt Smart Farm ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และต่อยอดองค์ความรู้ไปสู่ครอบครัว ชุมชน และประกอบอาชีพได้ในอนาคต
จุดเริ่มต้นโครงการ คือ ปัญหาพื้นที่การเกษตรในโรงเรียนมีน้อย คุณภาพดินและน้ำที่ใช้ในการเกษตรของโรงเรียนขาดคุณภาพ และไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติในโรงเรียนเพื่อการเกษตร จึงกำหนดแนวคิดจัดทำ “เกษตรในเมือง” คือ เกษตรในแนวดิ่ง เน้นนวัตกรรมเพื่อเพิ่มผลผลิต แก้ข้อจำกัดเรื่องคุณภาพดิน และการขาดแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยมีการวางแผนออกแบบพื้นที่เกษตรกรรมในระบบโรงเรือนแนวตั้ง เลี้ยงสัตว์น้ำในระบบปิด เช่น การเพาะเลี้ยงปลาสวยงามและพันธุ์ไม้น้ำ การปลูกพืชไร้ดิน การเลี้ยงปลาดุกในบ่อดิน บ้านเห็ด เป็นต้น รวมทั้งการนำผลิตภัณฑ์มาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น เกษตรจังหวัดปทุมธานี บริษัทดอกรักฟาร์ม วิสาหกิจชุมชนลำลูกกา ตลอดจนมีการวางแผนธุรกิจ วางแผนการตลาด และส่งต่อสินค้าให้ชมรมนักธุรกิจน้อยฯ ในนาม Brand สินค้า “Kiddee” ส่งออกจำหน่ายทั้งในโรงเรียน ชุมชน และตลาดออนไลน์










นายณพงศ์ เลื่อมใส ผู้อำนวยการโรงเรียนเทพศิรินทร์คลองสิบสาม ปทุมธานี กล่าวว่า ได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้านอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาผสมผสานกับงานด้านการเกษตร เพื่อพัฒนาการเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การบริหารจัดการเทคโนโลยีฟาร์มอัจฉริยะ ส่งเสริมการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะทางปัญญา มีความรู้ทางทฤษฎี มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ สามารถคิดวิเคราะห์ มีสมรรถนะในการแก้ไขปัญหา และพัฒนางานอาชีพ โดยใช้หลักกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ตลอดจนมีบุคลิกภาพและคุณลักษณะเหมาะสมกับการปฏิบัติงานอาชีพและการทำงานร่วมกับผู้อื่น
โครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน ประกอบด้วย การปลูกผักปลอดสารพิษ การปลูกไม้ผลและสวนป่าสมุนไพร โรงเรือนเมล่อน โรงเรือนแคคตัส โรงเพาะเห็ด และผักในล้อยาง โดยทุกกิจกรรมสามารถพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัยและศักยภาพของตนเอง ทำให้นักเรียนมีความสุขในการเรียน ภูมิใจในการที่ตนเองหารายได้ ครูมีความสุขในการสอน ชุมชนให้ความช่วยเหลือในการอุดหนุนผลิตภัณฑ์จากนักเรียน ส่งผลในภาพรวมว่าทุกคนมีความสุข










คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการจัดโครงการเกษตรอัจฉริยะประณีตในโรงเรียนมาตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งโรงเรียนทั้งสองแห่งนี้เป็นรุ่นที่ 1 หลังจากมีโครงการนำร่องมาก่อนหน้านี้ 6 โรงเรียน วันนี้ประทับใจทุกอย่างที่ได้เยี่ยมชมผลงาน เป็นการใช้การเกษตรเพื่อบูรณาการการศึกษา 8 สาระวิชา และเป็นการทำเกษตรในเมือง โดยต้องคิดวิธีการที่แตกต่าง แล้วใช้วิชาความรู้ทางด้านเทคโนโลยีเข้ามาช่วยมากขึ้น เด็กก็สามารถใช้เครื่องมือต่าง ๆ ได้ดี
อย่างไรก็ตาม เมื่อประสบความสำเร็จในโรงเรียนแล้ว สิ่งที่อยากจะเห็นนักเรียนไปต่อยอด คือ นำสิ่งประดิษฐ์หรือความสำเร็จเหล่านี้ไปขายให้กับชุมชนให้ได้ อาจจะเป็นการขายความคิดหรือขายผลิตภัณฑ์ โดยต้องมีแผนนำเสนอว่าถ้าเขาลงทุนเท่าไหร่ จะเกิดผลอย่างไร ชาวบ้านหรือผู้ประกอบการในพื้นที่สนใจร่วมงานด้วยหรือไม่ หากเกิดความสนใจจนนำมาสู่การร่วมกันลงทุน และขายของได้ด้วย จึงเรียกว่าความสำเร็จที่แท้จริง เพราะการเรียนรู้ในโรงเรียนก็ทำให้มีความรู้ แต่ต้องสามารถนำไปทำให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์กับครอบครัวให้ได้
“สิ่งสำคัญในการศึกษาไทยวันนี้ คือ เด็กเรียนอย่างสนุก ได้เรียนนอกห้องเรียน ระหว่างเรียนมีรายได้ ขายผลิตภัณฑ์ ขายไอเดีย ทำสามารถประกอบวิชาชีพได้ในอนาคต จะส่งผลคุณภาพชีวิตจะดีขึ้น และแข่งขันได้ในยุคดิจิทัล”
ปารัชญ์ ไชยเวช / สรุป
ณัฐพล สุกไทย, ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว / ถ่ายภาพ
ใส่ความเห็น