(8 ธันวาคม 2564) ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดโครงการกระทรวงศึกษาธิการสัญจร จังหวัดนครพนม และบรรยายพิเศษ ณ หอประชุมมรุกขนคร โรงเรียนนครพนมวิทยาคม จังหวัดนครพนม โดยมีนายธวัชชัย รอดงาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ในฐานะผู้แทน กศจ.นครพนม นำผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนร่วมต้อนรับ
ภาพงานทั้งหมด Facebook ศธ.360 องศา
นายวีระ แข็งกสิการ รองปลัด ศธ. กล่าวรายงานว่า โครงการกระทรวงศึกษาธิการสัญจร จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-9 ธันวาคม 2564 เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) จากสำนักงานในส่วนกลาง สำนักงานศึกษาธิการภาค และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ได้รับทราบนโยบาย ข้อเสนอแนะ แนวทางการดำเนินงานของ สป.ศธ. บูรณาการการทำงานแบบร่วมมือ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาไปสู่การปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน และสอดคล้องบริบทความต้องการของพื้นที่
โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 200 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานศึกษาธิการภาค 18 ภาค สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด และหน่วยงานทางการศึกษาในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 จังหวัดสกลนคร นครพนม และมุกดาหาร

นายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ. กล่าวว่า โครงการกระทรวงศึกษาธิการสัญจร เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภูมิภาคและส่วนกลาง เนื่องจาก ศธ.มีการจัดการศึกษาหลากหลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะมีข้อดีข้อด้อยแตกต่างกันออกไป
วันนี้จึงเป็นการรับฟังความคิดเห็น แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งในส่วนของข้อจำกัดในการทำงาน ข้อขัดข้อง รวมถึงข้อเสนอแนะต่าง ๆ เนื่องจากสถานศึกษาในพื้นที่นั้นเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการจัดการศึกษา ส่วนบทบาทของหน่วยงานส่วนกลางจะเป็นผู้ส่งเสริม สนับสนุน ให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อนำไปสู่การดำเนินงานภาพใหญ่ของกระทรวงศึกษาธิการ
ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ “นางสาวตรีนุช เทียนทอง” ได้ฝากประเด็นสำคัญที่ต้องตรวจติดตาม 3 เรื่อง คือ
- การเปิดภาคเรียนที่ 2 ประจำปีการศึกษา 2564 แบบในชั้นเรียนปกติ หรือ On-Site ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
- โครงการโรงเรียนคุณภาพของชุมชน และโรงเรียนดี 4 มุมเมือง โดยให้มีการเชื่อมโยงเครือข่ายโรงเรียนคุณภาพ
- การติดตามเด็กตกหล่น นักเรียนออกกลางคัน เพื่อนำกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา
ทั้งนี้ หวังว่าจะได้รับทราบความต้องการของคนในพื้นที่ โดยส่วนกลางพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่

นายธนู ขวัญเดช รองปลัด ศธ. กล่าวว่า ได้มีโอกาสลงพื้นที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 53 จ.สกลนคร เป็นโรงเรียนที่มีความหลากหลายและน่าสนใจมาก เนื่องจากจัดการศึกษาให้กับเด็กด้อยโอกาส ซึ่งความท้าทายของโรงเรียนนี้คือเป็นโรงเรียนกินนอน บริหารจัดการ ทุกอย่างบนความขาดแคลน ครูเป็นเสมือนพ่อแม่ของเด็ก บ่มเพาะให้โอกาสกลับสู่สังคม รวมถึงสร้างเครือข่ายร่วมกับบริบทสังคมอื่น ๆ อย่างแนบแน่น
สิ่งที่น่ายกย่องคือ การจัดการศึกษาสอดคล้องกับหลักสูตรฐานสมรรถนะที่ ศธ.จะดำเนินการในปี 2565 เป็นอย่างมาก มีการเพิ่มเติมทักษะด้านความเป็นคน และการใช้ชีวิตให้กับเด็กด้วย เช่น พี่สอนน้องช่วยเหลือดูแลตัวเอง จัดเวรทำความสะอาด ปลูกผักสวนครัว เป็นต้น ซึ่งไม่ได้เป็นการเรียนในตำราเพียงอย่างเดียว

นายสุทิน แก้วพนา รองปลัด ศธ. กล่าวว่า ได้มีโอกาสไปตรวจเยี่ยมโรงเรียนมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ ความพร้อมในการจัดการศึกษาแบบ On-Site และค่อนข้างปลอดภัย มีการจัดการศึกษาแบบ Active Learning ทำให้เด็กมีความสนใจและกระตือรือร้น มีความสุขในการเรียนและมีการจัดหลักสูตรที่หลากหลาย ส่งเสริมศักยภาพผู้เรียนรอบด้าน ส่วนปัญหาที่พบคือ ห้องเรียนยังไม่เพียงพอเนื่องจากมีการเพิ่มของนักเรียนขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ภายหลังพิธีเปิด ปลัด ศธ. พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูง ศธ. ร่วมแถลงข่าวการลงพื้นที่โครงการศึกษาธิการสัญจร จังหวัดนครพนม และมอบแนวทางการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ตามนโยบาย ศธ.
ปลัด ศธ. ให้สัมภาษณ์ว่า การลงพื้นที่ ศธ.สัญจรในครั้งนี้ ได้ช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานในส่วนกลางได้รับฟังความคิดเห็น รวมทั้งได้พบ Good Practice สามารถนำความรู้ที่ดี ๆ ไปใช้ในกระบวนการ แล้วสรุปออกมาเป็นแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด อีกทั้งยังได้รับชมการแสดงร่วมสมัยของนักเรียน ทำให้เห็นโอกาสการจัดการศึกษาในบางเรื่องที่นักเรียนสนใจ เป็นการสร้างแพลตฟอร์มช่องทางการเรียนรู้ได้อีกทางหนึ่ง
จากการชมนิทรรศการ ได้รับฟังเสียงสะท้อนจาก “น้องจีน่า” น้องนักเรียนคนหนึ่งว่า ได้มีโอกาสไปแข่งขันในหลาย ๆ เวที แต่ “เวทีแข่งขัน” เหล่านั้นสำหรับตนไม่ใช่การแข่งขัน หากแต่เป็น “เวทีการเรียนรู้” เป็นการเรียนรู้จากคู่แข่งคนอื่น ๆ บนเวที เช่นเดียวกับ ศธ.สัญจร ภายใต้การนำของรองปลัด ศธ. ทั้ง 3 ท่าน ที่นำผู้บริหารส่วนกลางไปลงพื้นที่ในจังหวัดนครพนม สกลนคร และมุกดาหาร ก็เป็น “เวทีแลกเปลี่ยนปัญหา” ทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นในตอนนี้ จะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไปในอนาคตอันใกล้
สำหรับจังหวัดนครพนม เป็นเมืองชายแดน คาแรคเตอร์ในการดูแลเด็กนักเรียนอาจแตกต่างจากที่อื่น เนื่องจากมีนักเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเรียนเพิ่ม แต่จากปัญหาโควิด 19 ทำให้นักเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านไม่เข้ามาเรียนเหมือนก่อน
ทั้งนี้ ในปี 2565 ศธ.มีเรื่องต้องสนใจเพิ่มจาก 12 นโยบายการจัดการศึกษา และ 7 วาระเร่งด่วน (Quick Win) ของ รมว.ศธ. ดังนี้
- ข้อบังคับทางกฎหมายที่ ศธ.ต้องเร่งดำเนินการภายในระยะเวลาไม่เกิน 10 เดือน คือ 5 เป้าหมายหลัก (Big Rock) ปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ได้แก่ 1) ปฏิรูปความเสมอภาคทางการศึกษา 2) ปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนรับศตวรรษที่ 21 3) ปฏิรูปการผลิตพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา 4) ปฏิรูประบบการอาชีวศึกษา และ 5) ปฏิรูปบทบาทการวิจัยในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งมี 2 ส่วนที่ ศธ. รับผิดชอบโดยตรงคือ ข้อ 2 ซึ่งจะมีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนไปสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ จะเป็นเรื่องของสถานศึกษาเป็นส่วนใหญ่ เน้น Active Learning เป็นหลัก ซึ่งบางทีอาจเป็นการเรียนรู้หลายวิชาในคราวเดียวกัน เป็นการเพิ่มทักษะในการวิเคราะห์ จัดการปัญหา มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และทำงานเป็นทีม และข้อ 4 คือการพัฒนาผู้เรียนเน้นไปสู่การพัฒนาทักษะอาชีพ จัดการศึกษาแบบทวิภาคี ซึ่งเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการกับวิทยาลัยอาชีวศึกษา
“ขอขอบคุณจังหวัดนครพนม ที่สามารถเปิดเรียน On-Site ได้เกิน 80% ถึงแม้พื้นที่ในแถบศึกษาธิการภาค 11 จะเป็นพื้นที่สีเหลือง มีการระบาดของโควิด 19 ไม่รุนแรง อย่างไรก็ตามการระมัดระวังการแพร่ระบาดก็เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด และหวังเป็นอย่างยิ่งว่านักเรียนตลอดจนผู้ปกครองทุกคนจะได้รับวัคซีนไฟเซอร์ครบ 100% ทุกคนในระยะเวลาอันใกล้นี้” ปลัด ศธ.กล่าว

บัลลังก์ โรหิตเสถียร, ปารัชญ์ ไชยเวช, อานนท์ วิชานนท์ / สรุป
ปกรณ์ เรืองยิ่ง, อธิชนม์ สลางสิงห์, ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / ถ่ายภาพ
ใส่ความเห็น