(22 เมษายน 2564) นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนงานตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ณ ห้องประชุมราชวัลลภ
ปลัด ศธ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนงานตามนโยบายของนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีปลัด ศธ.เป็นประธาน เพื่อขับเคลื่อนงานตามนโยบายหลัก 12 ข้อ และนโยบายเร่งด่วน (Quick Win) 7 ข้อ ให้เกิดผลการปฏิบัติงานที่เป็นรูปธรรมภายใน 5 เดือนถัดจากนี้ (พฤษภาคม-กันยายน 2564) หรือไตรมาสที่ 4 ของปีงบประมาณ พ.ศ.2564
ที่ประชุมเห็นว่า สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการตามลำดับความสำคัญ (Priority) 7 Quickwin เช่น
- ความปลอดภัยของผู้เรียน ที่จะต้องจัดให้มีกระบวนการในการช่วยเหลือดูแลผู้เรียน ให้ได้รับการปกป้องคุ้มครอง ความปลอดภัยทั้งด้านร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะความปลอดภัยในสถานศึกษา ที่เกิดจากบุคคล โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ และสภาวะวิกฤตต่าง ๆ เพื่อให้มีผู้เรียนความปลอดภัยเมื่ออยู่ที่โรงเรียน อันจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นจากสังคม หากเกิดเหตุขึ้นมา ศธ.ต้องมีระบบที่ดูแลช่วยเหลือนักเรียนได้ทันท่วงที และมีระบบการลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างรวดเร็ว / มอบ สป.เป็นหลักในการดำเนินงาน
- หลักสูตรฐานสมรรถนะ มุ่งเน้นการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายโดยยึดความสามารถของผู้เรียนเป็นหลัก และพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะที่ต้องการ โดยภายในเดือนกันยายนนี้ เอกสารหลักสูตรจะต้องเสร็จสิ้น / มอบ สพฐ.เป็นหลักในการดำเนินงาน
- ฐานข้อมูล Big Data นอกจากจัดทำระบบการจัดเก็บข้อมูลการศึกษาของประเทศที่เป็นระบบและไม่ซ้ำซ้อนแล้ว ต้องออกแบบระบบที่สามารถประมวลข้อมูลได้แม่นยำ เป็นปัจจุบัน รวมทั้งเรื่องสารสนเทศที่ต้องพัฒนาแพลตฟอร์มหรือเนื้อหาสำหรับการเรียนรู้ออนไลน์คู่ขนานกันไป / มอบ สป.เป็นหลักในการดำเนินงาน
- ศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) อาจจะต้องปรับแผนการทำงานใหม่ เพื่อมุ่งเป้าเฉพาะบางเรื่อง บางพื้นที่ ที่มีความเป็นเลิศจริง ๆ เท่านั้น อาจจะมีประมาณ 10-12 ศูนย์ทั่วประเทศ เช่น ด้านการท่องเที่ยว ที่เชียงใหม่ ด้านอุตสาหกรรมเรือยอร์ช ที่ภูเก็ต ฯลฯ / มอบ สอศ.เป็นหลักในการดำเนินงาน
- พัฒนาทักษะทางอาชีพ ส่งเสริมการจัดการศึกษา เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพของผู้เรียน สร้างอาชีพและรายได้ที่เหมาะสม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ / มอบ กศน.และ สอศ.เป็นหลักในการดำเนินงาน
- การศึกษาตลอดชีวิต การจัดเรียนรู้ตลอดชีวิตสําหรับประชาชนทุกช่วงวัย ให้มีคุณภาพและมาตรฐาน เต็มตามศักยภาพตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยชรา พัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสมเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย (Aging Society) โดยมีกลไกของศูนย์เรียนรู้ชุมชนทั่วประเทศเข้าไปช่วยจัดการศึกษาสำหรับประชาชนทุกช่วงวัย / มอบ กศน.เป็นหลักในการดำเนินงาน
- การจัดการศึกษาสําหรับผู้ที่มีความต้องการจําเป็นพิเศษ โดยศูนย์การศึกษาพิเศษเป็นหลักดำเนินการ เพื่อกระจายศูนย์และความพร้อมของครูผู้สอนการศึกษาพิเศษให้มากขึ้น / มอบ สพฐ.เป็นหลักในการดำเนินงาน
ทั้งนี้ หน่วยงานหลักทั้ง 7 นโยบายเร่งด่วน จะต้องไปออกแบบการทำงาน เช่น ปรับวิธีการทำงานร่วมกัน ปรับงบประมาณ แผนงาน ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมภายใน 5 เดือนนี้ และให้มารายงานความก้าวหน้าในวันที่ 3 พฤษภาคม 2564 สำหรับนโยบายหลัก 12 ข้อ ที่ประชุมมอบแต่ละหน่วยงานปรับวงเงิน กรอบการทำงาน ปีงบประมาณ พ.ศ.2564-65 เพราะเป็นแผนการทำงานระยะยาว รวมทั้งรายงานในที่ประชุมครั้งต่อไป




บัลลังก์ โรหิตเสถียร / สรุป
สมประสงค์ ชาหารเวียง / ภาพ
ใส่ความเห็น