(7 เมษายน 2564) นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมผู้บริหารสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ครั้งที่ 4/2564 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ผ่านโปรแกรม Zoom Meeting ร่วมกับผู้ตรวจราชการกระทรวง ศึกษาธิการภาค และศึกษาธิการจังหวัดทั่วประเทศ
ประเด็นที่สำคัญจากการประชุม
- การตัดโอนงบประมาณประจำอัตรา ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ไปกำหนดยังตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค.(2) สังกัดสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) เนื่องจากปัจจุบัน ศธจ.มีอัตรากำลังไม่ครบตามโครงสร้างกรอบอัตรากำลัง เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่ไม่มีเงินประจำอัตรา จำนวน 2,087 อัตรา และมีอัตรากำลังในตำแหน่งศึกษานิเทศก์ว่างอยู่และมีเงินประจำอัตรา จำนวน 248 อัตรา ซึ่ง สป.ศธ.ได้มีประกาศรับย้าย/โอนจากหน่วยงานอื่น แต่ไม่มีผู้แสดงความประสงค์ ทำให้ตำแหน่งเหล่านั้นยังคงเป็นอัตราว่าง ทำให้การใช้จ่ายงบประมาณ งบบุคลากร ไม่มีการใช้จ่ายจำนวนมาก จึงขอให้ ศธจ.พิจารณาจำนวนตำแหน่งศึกษานิเทศก์ภายในจังหวัดตนเอง ว่ามีความจำเป็นต้องมีจำนวนเท่าใดที่สอดคล้องกับภาระงานในแต่ละจังหวัด และมีจำนวนเท่าใดที่เป็นตำแหน่งว่าง พร้อมทั้งพิจารณาตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค.(2) ที่ว่างและไม่มีเงินประจำอัตราว่ามีจำนวนเท่าใด และตำแหน่งใดมีความจำเป็น โดยให้แต่ละจังหวัดแจ้งความประสงค์ว่าจะตัดโอนเงินประจำอัตราในตำแหน่งศึกษานิเทศก์ที่ว่างจำนวนเท่าใดไปกำหนดในตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) จำนวนเท่าใด ในอัตรา 1 : 1
- เผยแพร่งานวิจัยและพัฒนา ด้านระบบบริหารจัดการศึกษา
- รูปแบบการบริหารจัดการสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สู่สำนักงานคุณธรรม ความโปร่งใส ผลการศึกษาสภาพการดำเนินงานพบว่า องค์ประกอบที่สามารถนำไปใช้เป็นขอบข่ายการวิจัยเหมาะสม และเป็นแนวทางการดำเนินงานของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด คือ หลักธรรมาภิบาล ซึ่งประกอบด้วย 6 หลัก ได้แก่ 1) หลักนิติธรรม 2) หลักคุณธรรม 3) หลักการมีส่วนร่วม 4) หลักความโปร่งใส 5) หลักความรับผิดชอบ 6) หลักความคุ้มค่า
- รูปแบบการบริหารจัดการโรงเรียนเอกชนสู่ความเป็นเลิศ INTERSECT Model พบว่าปัจจัยสำคัญที่ใช้ในการบริหารโรงเรียนสู่ความเป็นเลิศ INTERSECT Model มี 9 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) การใช้นวัตกรรม 2) การสร้างเครือข่าย 3) การใช้เทคนิคเชิงบริหาร 4) การให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษ 5) การให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนและหน่วยงานอื่น 6) การจัดการเรียนรู้ที่เน้นนักเรียนเป็นสำคัญ 7) การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม 8) การพัฒนาหลักสูตร 9) การสร้างทีมงานที่มีประสิทธิภาพ
- รูปแบบการนำนโยบายการศึกษาปฐมวัยไปปฏิบัติของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ผลการวิจัยพบว่า รูปแบบการนำนโยบายการศึกษาปฐมวัยไปปฏิบัติ ควรเป็นในลักษณะการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาปฐมวัยในระดับจังหวัดร่วมกัน และนำแผนสู่การปฏิบัติตามแผนงาน/โครงการ และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ควรจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาเด็กปฐมวัยเชิงบูรณาการจังหวัด จัดทำสารสนเทศเด็กปฐมวัยที่มีประสิทธิภาพในระดับจังหวัด จัดทำโครงการขับเคลื่อนคุณภาพการจัดการศึกษาปฐมวัย โดยมีแนวทางเป็นไปตามความต้องการของจังหวัด ส่งเสริมพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาปฐมวัย สร้างกลไกความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนภาคประชาชน สถาบันครอบครัวในการพัฒนาและดูแลเด็กปฐมวัยตั้งแต่แรกเกิดจนถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1
- การพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการตรวจราชการ และติดตาม ประเมินผล การจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ (e-Inspection) เพื่อพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ ในการสนับสนุนการตรวจราชการของผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ให้มีความถูกต้อง (Accuracy) ตรงกับงานที่ต้องการใช้ (Relevancy) และทันต่อการใช้งาน (Timeliness) โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นเครื่องมือในการจัดเก็บข้อมูลด้านการศึกษา และจัดทำรายงานการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ จากหน่วยงานในสังกัด ในทุกระดับและทุกสังกัดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
- ผลการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 รอบ 6 เดือน (1 ตุลาคม 2563 – 31 มีนาคม 2564) ปรากฏว่าสามารถเบิกจ่ายภาพรวมของทุกงบรายจ่ายได้ ร้อยละ 43.72 ซึ่งเป้าหมายกำหนดร้อยละ 54 เบิกจ่ายได้ต่ำกว่าเป้าหมายร้อยละ 10.28
อิชยา กัปปา / สรุป
สมประสงค์ ชาหารเวียง / ภาพ
ใส่ความเห็น