วันนี้ 11 พ.ค.66 ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพของข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งรองศึกษาธิการจังหวัด ประจำปีงบประมาณ 2566 หลักสูตร พัฒนาสมรรถนะวิชาชีพของข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่ง รองศึกษาธิการจังหวัด ณ สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี กล่าวในนามปลัดกระทรวงศึกษาธิการว่า ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ มีเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญ คือ เพื่อพัฒนาคนในทุกมิติและในทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี เก่ง และมีคุณภาพ ให้คนไทยมีความพร้อมทั้งกาย ใจ สติปัญญา มีพัฒนาการที่ดีรอบด้าน และมีสุขภาวะที่ดีในทุกช่วงวัย มีจิตสาธารณะ รับผิดชอบต่อสังคมและผู้อื่น มีความมัธยัสถ์ อดออม โอบอ้อมอารี มีวินัย รักษาศีลธรรม และเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ มีหลักคิดที่ถูกต้อง และมีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21
ซึ่งการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ ศึกษาธิการจังหวัดนับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการศึกษาระดับจังหวัด โดยมีภารกิจคือ อำนวยการ ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาการศึกษาแบบร่วมมือและบูรณาการกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานอื่นหรือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยมีรองศึกษาธิการจังหวัดปฏิบัติหน้าที่สนับสนุนศึกษาธิการจังหวัด ดังนั้นรองศึกษาธิการจังหวัดจึงต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้ ทักษะและสมรรถนะ เพื่อสามารถปฏิบัติงานตามภารกิจดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ “ประโยชน์สูง ประหยัดสุด”
พร้อมทั้งให้ปรับวิธีคิดการทำงานให้เป็นเชิงบวก Growth mindset ควบคู่กับการปฏิบัติภายใต้หลักธรรมาภิบาล คือ หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส่ หลักการมีส่วนร่วม และหลักความรับผิดชอบ ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารองศึกษาธิการทุกท่านคงจะได้มีโอกาสรับความรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันอย่างกว้างขวาง เพื่อให้การดำเนินงานตามหลักสูตรบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ และจะได้มาช่วยกันขับเคลื่อนงานการศึกษาของประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไป
สำหรับโครงการดังกล่าว ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว โดยในปีงบประมาณ 2565 สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา โดยคณะกรรมการและคณะทำงานดำเนินการจัดทำโครงการพัฒนาหลักสูตรพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพของข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งรองศึกษาธิการจังหวัด กำหนดสมรรถนะ หลักเกณฑ์ แนวทางและวิธีการประเมินสมรรถนะวิชาชีพตำแหน่งรองศึกษาธิการจังหวัด พร้อมทั้งให้รองศึกษาธิการจังหวัดดำเนินการประเมินสมรรถนะ เพื่อให้สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา นำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดทำหลักสูตรเพื่อพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพ และในปีงบประมาณ 2566 นี้ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้อนุมัติให้ สคบศ. ดำเนินโครงการพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพของข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งรองศึกษาธิการจังหวัด ประจำปีงบประมาณ 2566 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารองศึกษาธิการจังหวัดให้มีความรู้ ทักษะ และสมรรถนะที่จำเป็นในการปฏิบัติงาน และสามารถนำสิ่งที่ได้รับจากการพัฒนาไปใช้ในการวางแผนขับเคลื่อนการศึกษาในพื้นที่จังหวัด
การจัดโครงการพัฒนาในปีนี้ ได้กำหนดจัดขึ้นเป็น 3 ช่วง คือ ในวันที่ 11 – 12, 25 – 26 พฤษภาคม และวันที่ 6 มิถุนายน 2566 ด้วยรูปแบบ Hybrid Learning คือ บูรณาการระหว่างรูปแบบในชั้นเรียน (Onsite) และรูปแบบทางไกล (Online) พร้อมทั้งกำหนดให้สำนักงานศึกษาธิการภาค 3 แห่ง จัดกลุ่มเป็นหน่วยงานเครือข่ายพัฒนาหลักในภูมิภาค (node) และดำเนินการร่วมกับสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ในการสนับสนุนการดำเนินงานพัฒนา และเป็นวิทยากรกระบวนการในพื้นที่ โดยสำนักงานศึกษาธิการภาคทั้ง 3 แห่งดังกล่าว ประกอบด้วย 1) สำนักงานศึกษาธิการภาค 15 จังหวัดเชียงใหม่ 2) สำนักงานศึกษาธิการภาค 12 จังหวัดขอนแก่น 3) สำนักงานศึกษาธิการภาค 5 จังหวัดนครศรีธรรมราช
การพัฒนาในครั้งนี้ มีรองศึกษาธิการจังหวัดเข้ารับการพัฒนาตาม node ข้างต้น รวมทั้งสิ้น 74 คน ซึ่งหลักสูตรพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพข้าราชครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งรองศึกษาธิการจังหวัด ประกอบด้วย 5 หน่วยการเรียนรู้ ได้แก่ ภาวะผู้นำทางการศึกษา กับการพัฒนาองค์กร บทบาทสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดกับการขับเคลื่อนการศึกษาในจังหวัด ผู้นำการศึกษาชุมชน การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการพัฒนาการศึกษา และการพัฒนาผลงานทางวิชาการและการวิจัยทางการศึกษา โดยมีคณะวิทยากรผู้มีความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญเฉพาะมาถ่ายทอดแนวคิด ความรู้ต่าง ๆ ที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 อีกด้วย




สุกัญญา จันทร สมโภชน์ / ข่าว
นางสาวอุไรภรณ์ มีดา / ภาพ
ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / กราฟิก
ใส่ความเห็น