“อรรถพล” ให้การต้อนรับทูตฟินแลนด์ ร่วมหารือพัฒนายกระดับครูและบุคลากรทางการศึกษา

กระทรวงศึกษาธิการ 15 มีนาคม 2566 / นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้การต้อนรับและร่วมหารือในการพัฒนายกระดับครูและบุคลากรทางการศึกษา กับนายยูริ ยาร์วียาโฮ เอกอัครราชทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย และคณะ ณ ห้องประชุมจันทรเกษม

ปลัด ศธ. เปิดเผยภายหลังการร่วมหารือว่า ประเทศไทยและฟินแลนด์ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2562 และมีความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างกันเรื่อยมา ล่าสุดในด้านการพัฒนาศักยภาพครูไทย

โดยมหาวิทยาลัยในประเทศฟินแลนด์ได้ดําเนินโครงการอบรมออนไลน์เพื่อพัฒนาครูในสังกัด สพฐ. และ สอศ. ในหลักสูตร “STEM education for early childhood and primary teachers” ของ University of Helsinki เนื้อหาหลักสูตรประกอบด้วยการเรียนรู้เด็กปฐมวัย การจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry-based learning) ในการสอนวิทยาศาสตร์ การสร้างความรู้โดยเส้นทางการเรียนรู้รายบุคคล (Individual learning paths) เครื่องมือในการสนับสนุนการมีส่วนร่วมและสร้างแรงจูงใจ รวมถึงโมดูล การเรียนรู้แบบพหุวิทยาการ (Multidisciplinary Learning modules)

รวมทั้งหลักสูตร “Media skills in digital learning environments” ของ University of Eastern Finland เนื้อหาหลักสูตรประกอบด้วยการพัฒนา ทักษะด้านสื่อเพื่อใช้ในการเรียนการสอนในระบบดิจิทัล ตลอดจนหลักสูตร “Research-based Professional Development Courses” ของ Oulu University Teacher Training School เนื้อหาหลักสูตร ประกอบด้วยการประเมินผลสําหรับการเรียนรู้ (Assessment for Learning) การสอนร่วม (Co-teaching) การศึกษาเชิงบวก (Positive Education)

ทั้งนี้ ศธ.ได้ให้การสนับสนุนการก่อตั้งโรงเรียนตามหลักสูตรของฟินแลนด์ในประเทศไทย 2 แห่ง ได้แก่ โรงเรียน Arkki ซึ่งเป็นโรงเรียน หลักสูตรเชิงสร้างสรรค์ โดยใช้การเรียนรู้แบบใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน (Phenomenon-Based Learning) และ Helsinki International Schools Bangkok หรือ HEI Schools Bangkok ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีแนวคิดในการจัดการเรียนการสอนที่โดดเด่น โดยเน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต

สำหรับแนวทางการดําเนินงานในขั้นต่อไป ไทยและฟินแลนด์จะมีการจัดตั้งคณะทํางานร่วมด้านการศึกษา (Joint Working Group) เพื่อหารือและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน โดยมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการของทั้งสองประเทศเป็นประธานร่วม และ หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นองค์ประกอบคณะทํางาน โดยผลัดกันเป็นเจ้าภาพ ตามความพร้อมของทั้งสองประเทศ

“ในปี 2565 ที่ผ่านมา การศึกษาของประเทศฟินแลนด์นั้นถือว่าเป็นอันดับ 1 ของโลก (อ้างอิงจาก http://www.weforum.org และ http://www.businessinsider.com ) ซึ่งดําเนินตามหลัก inclusive good quality universal education ทําให้สามารถลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและมีผลประเมินทางการศึกษาในระดับสูง โดยคุณภาพทางการศึกษาถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่สําคัญมากที่สุดในโรงเรียน รวมถึงครูที่มีคุณภาพสูง หลักสูตรการศึกษาที่เอื้อต่อการบริหารจัดการของท้องถิ่น และระบบที่ทําให้เกิดความเท่าเทียมและความ เสมอภาค นอกจากนี้รัฐบาลฟินแลนด์ได้เพิ่มงบประมาณในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาสําหรับระดับปฐมวัยจนถึงระดับอุดมศึกษา โดยมีนโยบายพัฒนาการศึกษาทั้งระยะสั้นและระยะยาวถึงปี 2573 พร้อมการปฏิรูปที่สําคัญในปลายปี 2563 คือการขยายการศึกษาขั้นพื้นฐานจาก 16 ปี เป็น 18 ปี และการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาศักยภาพการทํางานด้วยการ upskill และ reskill ซึ่งการศึกษาไทยจะนำไปเป็นต้นแบบปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทในประเทศต่อไป”

อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
อธิชนม์ สลางสิงห์ / ภาพ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

Website Built with WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: