เลขาธิการ กช. “พีรศักดิ์ รัตนะ” ปลื้มโครงการเรียนรวมหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย และโรงเรียนวิชาชีพหลักสูตรเลขานุการ (ภาคภาษาอังกฤษ) พร้อมผลักดันการบูรณาการเพื่อร่วมกันพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษาการจัดการศึกษาทางด้านวิชาชีพในโรงเรียนมัธยมศึกษา
21 เมษายน 2565 – นายพีรศักดิ์ รัตนะ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) เป็นประธานและเป็นสักขีพยานในการลงนามสัญญาข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการเรียนรวมหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย และโรงเรียนวิชาชีพหลักสูตรเลขานุการ (ภาคภาษาอังกฤษ) ระหว่างโรงเรียนพระมหาไถ่ศึกษา กับโรงเรียนพระกุมารเยซูวิทยา ณ หอประชุมโรงเรียนพระกุมารเยซู พร้อมด้วยนายธีระพันธ์ พุทธิสวัสดิ์ อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ผู้บริหารโรงเรียนนอกระบบ คณะครูโรงเรียนมหาไถ่ศึกษา และโรงเรียนพระกุมารเยซูวิทยาเข้าร่วมในพิธี
นายพีรศักดิ์ กล่าวว่า สช. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน การจัดการศึกษาเอกชน ทั้งโรงเรียนในระบบและโรงเรียนนอกระบบ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเทียบโอนผลการเรียน จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่ต้องการศึกษาต่อเนื่องเปลี่ยนแนวการศึกษา หรือฝึกอบรมในระดับที่สูงขึ้น สามารถนำความรู้ ทักษะ หรือประสบการณ์มาขอเทียบโอนผลการเรียนรู้เข้าสู่หลักสูตรใดหลักสูตรหนึ่งโดยไม่ต้องเสียเวลาเริ่มต้นใหม่
การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นการบูรณาการร่วมกันพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษาการจัดการศึกษาทางด้านวิชาชีพในโรงเรียนมัธยมศึกษาร่วมกัน ระหว่างโรงเรียนพระมหาไถ่ศึกษา กับโรงเรียนพระกุมารเยซูวิทยา ในการปฏิรูปการเรียนการสอนด้านวิชาชีพ ตอบสนองความต้องการในการเรียนวิชาชีพของนักเรียน และเพิ่มทางเลือกให้กับนักเรียนมัธยมศึกษาที่มีความประสงค์จะเรียนควบคู่ไปกับหลักสูตรวิชาชีพเลขานุการ เชื่อมั่นว่าข้อตกลงของโรงเรียนทั้งสองที่ได้ร่วมมือกันในครั้งนี้ จะทำให้เกิดประโยชน์กับผู้เรียน สถานศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
ซิสเตอร์ทัศนีย์ สินประยูร ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนพระกุมารเยซูวิทยา กล่าวว่า โรงเรียนพระมหาไถ่ศึกษา กรุงเทพ และโรงเรียนพระกุมารเยซูวิทยา เล็งเห็นถึงประโยชน์ที่ผู้เรียนจะได้รับโอกาสทางการศึกษา และการศึกษาที่มีคุณภาพ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยในโลกยุคดิจิทัลในการจัดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างสองสถาบันการศึกษา จะสามารถนำไปสู่การศึกษาที่มีคุณภาพและโอกาสทางการเรียนรู้ของผู้เรียน เป็นการนำจุดแข็งของทั้งสองด้านมาปรับใช้เพื่อการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ ด้วยการเรียนรู้ที่ปฏิบัติได้จริง โดยผู้เรียนจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดของการร่วมมือทางการจัดการเรียนรู้ระหว่างสองสถาบันนี้อย่างที่สุด เพราะเป็นการเปิดสู่การเรียนรู้ที่ได้มาตรฐานตอบสนองต่อความต้องการของโลกยุตดิจิทัล และเปิดโอกาสไปสู่อนาคตของการศึกษาต่อเนื่องในระบบอย่างเต็มภาคภูมิ
บาทหลวงวิรัช อมรพัฒนา ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนพระมหาไถ่ศึกษา กล่าวเพิ่มเติมว่า เป้าหมายหลักของความร่วมมือในวันนี้ คือโอกาสทางการศึกษาของนักเรียน ซึ่งจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพจากโรงเรียนพระกุมารเยซูวิทยา และในขณะเดียวกันโรงเรียนพระมหาไถ่ศึกษาก็จะเข้ามากำกับในเรื่องของมาตรฐานการจัดการเรียนรู้ และการประเมินตามกลุ่มสาระ และการศึกษาในระดับสามัญ ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้นักเรียนในโครงการนี้ จะได้มีความมั่นใจในการปฏิบัติงานด้านวิชาชีพ และในขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดโอกาสการศึกษาต่อเนื่องอย่างหลากหลายมากยิ่งขึ้น
นางสาวณัฐณิชา สุขสุวรรณ ชั้นปีที่ 3 โรงเรียนพระกุมารเยซูวิทยา พูดถึงความรู้สึกที่ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนพระกุมารเยซูวิทยาว่า ก่อนที่จะเข้ามาเรียนที่ทักษะด้านภาษาอังกฤษของตนถือว่าอ่อนมาก แต่ด้วยความเมตตาจากอาจารย์ที่ช่วยสอนการอ่าน การพูด การเขียนเพิ่มเติมทำให้ตนมีพัฒนาการที่ดีขึ้นพูดได้คล่องขึ้น ไม่เขินอายที่จะพูด อีกทั้งที่นี่ไม่เพียงแต่สอนวิชาด้านธุรกิจ หรือบัญชีเท่านั้น แต่ยังมีกิจกรรมที่หลากหลายให้นักเรียนได้เข้าร่วมอีกด้วย
นางสาวอารดา บุญมี ชั้นปีที่ 3 โรงเรียนพระกุมารเยซูวิทยา เล่าว่า ตนเข้าเรียนตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 สนใจในส่วนของธุรกิจ Start Up เพราะที่นี่สอนเกี่ยวกับงานธุรกิจภาษาอังกฤษอยู่แล้วด้วย อีกทั้งตนเป็นคนที่ชอบภาษาอังกฤษอยู่แล้ว พอได้เข้ามาเรียนที่นี่ก็ทำให้ทักษะด้านภาษาอังกฤษดีขึ้น เพราะที่โรงเรียนไม่อนุญาตให้พูดภาษาไทยเลย จะให้ผู้เรียนใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก ทำให้ตนสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว
สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการเรียนรวมหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย และโรงเรียนวิชาชีพหลักสูตรเลขานุการ (ภาคภาษาอังกฤษ) ระหว่างโรงเรียนพระมหาไถ่ศึกษา กับโรงเรียนพระกุมารเยซูวิทยาในครั้งนี้ วัตถุประสงค์ ดังนี้คือ
– เพื่อบูรณาการการจัดการศึกษาวิชาชีพในโรงเรียนมัธยมศึกษาร่วมกัน ระหว่างโรงเรียนทั้งสองในการปฏิรูปการเรียนการสอนด้านวิชาชีพ
– เพื่อตอบสนองความต้องการในการเรียนวิชาชีพของนักเรียน
– เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับนักเรียนมัธยมศึกษา ที่มีความประสงค์จะเรียนควบคู่ไปกับหลักสูตรวิชาชีพเลขานุการ
– เพื่อร่วมกันพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษา
โดยมีแนวทางการดำเนินการและกิจกรรมความร่วมมือในการจัดการศึกษาเรียนร่วมหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย และวิชาชีพหลักสูตรเลขานุการ (ภาคภาษาอังกฤษ) ควบคู่ไปทั้งสองหลักสูตร
ผู้สำเร็จการศึกษา จะได้รับวุฒิมัธยมศึกษาตอนปลาย และประกาศนียบัตรจบการศึกษาวิชาชีพหลักสูตรเลขานุการ โดยใช้เวลาเรียนไม่น้อยกว่า 3 ปี ร่วมกันในการจัดการฝึกอบรมวิชาชีพเพื่อเพิ่มโอกาสในการศึกษาด้านวิชาชีพ รายวิชาหลักสูตรระยะสั้น นำผลการเรียนมาขอโอนเพื่อนับหน่วยกิตภายหลัง ทั้งนี้ให้คำนึงถึงความต้องการ ความถนัดและความสนใจของผู้เรียนตลอดจนศักยภาพด้านทรัพยากร โดยให้ทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกันเป็นครั้งคราว
ในส่วนของงบประมาณในการดำเนินการจัดการเรียนการสอนนั้น ทั้งสองฝ่ายจะตกลงเห็นชอบร่วมกันโดยให้เป็นไปตามประกาศ/ระเบียบที่เกี่ยวข้อง ความร่วมมือกันในครั้งนี้ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของผู้เรียนจะได้รับประสิทธิภาพ ด้านคุณภาพมาตรฐานการจัดการศึกษา มาตรฐานวิชาชีพ และ/หรือมาตรฐานสมรรถนะ และร่วมกันในด้านการประชาสัมพันธ์ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารการปฏิบัติงาน โดยใช้สื่ออุปกรณ์เทคโนโลยี และเครือข่ายของทั้งสองฝ่ายอย่างต่อเนื่อง




ใส่ความเห็น