รมช.ศธ. “คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช” เปิดตลาดนัดการเรียนรู้ออนไลน์วังจันทรเกษม หลักสูตรที่ 7 “สื่อยุคใหม่ การศึกษาออนไลน์” ชี้ต้องมีปัจจัยสำคัญสี่ประการ ย้ำเป้าหมายให้เด็กเรียนอย่างสนุกและมีความสุข มุ่งสู่การเป็นบุคคลที่มีสมรรถนะ
update วันนี้คนตอบแแบบสอบถามพร้อมกันเยอะมาก เข้าอบรม 1 แสนคน จึงขยายเวลาตอบแบบสอบถามเพื่อรับเกียรติบัตร หลักสูตรที่ 7 (สื่อยุคใหม่ การศึกษาออนไลน์) ทั้งของ สสวท. และ ศธ. 2 ใบ จนถึงวันที่ 24 เมษายน 2565 เวลา 23.59 น. หรือจนถึงเที่ยงคืนวันอาทิตย์
ผู้โชคดีจากการจับสลาก
* ลำดับที่ 1-5 ได้เสื้อตลาดนัดฯ คือ คุณปรางค์ฉัตร จากเชียงใหม่, คุณไพเราะ จากนครสวรรค์, คุณกนกวรรณ จากสุรินทร์, คุณวรศักดิ์ จากหนองบัวลำภู และคุณรุจิรัตน์ จากสระแก้ว
* ลำดับที่ 6-10 ได้เสื้อ ศธ.360 องศา คือ คุณกาญจนา จากบุรีรัมย์, คุณชญานิษฐ์ จากบุรีรัมย์, คุณพัชราภรณ์ จากนครราชสีมา, คุณจีรนันท์ จากเชียงราย และคุณณัฐณรินทร์ จากปทุมธานี
23 เมษายน 2565 – ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดตลาดนัดการเรียนรู้ออนไลน์วังจันทรเกษม เฟส 2 ตลาดที่ 7 “สื่อยุคใหม่ การศึกษาออนไลน์” โดยมี ดร.วิสิทธิ์ ใจเถิง หัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรี เป็นผู้กล่าวรายงาน, ดร.วีระ แข็งกสิการ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และนางสาวจงจิตร ฟองละแอ นักประชาสัมพันธ์ สป. เป็นผู้ดำเนินรายการ จัดอบรมที่ห้องจันทรเกษม กระทรวงศึกษาธิการ พร้อมถ่ายทอดสดผ่านระบบ Microsoft Teams มีผู้สมัครเข้าอบรมหลักสูตรนี้ 1.2 แสนคน
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ กล่าวขอบคุณผู้เข้าอบรมและคณะวิทยากรที่เสียสละวันหยุดมาร่วมพูดคุยกันในหัวข้อ “สื่อยุคใหม่ การศึกษาออนไลน์” ซึ่งเป็นเรื่องที่ทันสมัยมาก เนื่องจากทุกคนสามารถปรับตัวเองให้เป็นสื่อสมัยใหม่ได้ และอยากตั้งข้อสังเกตให้ครู ผู้บริหาร และบุคลากรทุกคน ได้ทราบก่อนว่า การเรียนออนไลน์ต้องมีปัจจัยที่จำเป็น 4 อย่าง หากขาดปัจจัยเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งก็จะเป็นทุกข์ทั้งครู ผู้ปกครองและนักเรียน ได้แก่
- Smart Devices ให้ทุกคนไปเรียนที่บ้าน จากการสำรวจว่าพบว่านักเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จำนวนกว่าล้านคนยังไม่มี Smart Device ศธ.จึงจัดทำโครงการพี่ใหญ่ให้ยืม หมายถึง ผู้ที่สำเร็จการศึกษาไปแล้ว เป็นผู้ที่มีคุณภาพศักยภาพมากมาย จะมาช่วยกันเสียสละเงินให้โรงเรียน เพื่อโรงเรียนจะได้ไปซื้อเครื่อง Smart Device ให้กับนักเรียนที่ยังไม่มีเป็นส่วนตัว ซึ่งเครื่องนี้จะมีมาตรฐานที่สามารถเรียนได้ 4-5 ปี
- เงินสำหรับซื้ออินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่พ่อแม่ต้องเสียเงินซื้อ และต้องมีสัญญาณใช้ตลอดเวลา จึงจะสามารถเรียนได้อย่างเต็มที่ ซึ่งหากรัฐบาลจะให้ฟรีก็ได้แต่เป็นเพียงระยะหนึ่งเท่านั้น
- Digital Content โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้เปลี่ยนหนังสือ 120 เล่ม ของ สสวท.เป็น Digital Content กว่า 2,000 คลิป เพื่อใช้ในการเรียนออนไลน์
- ครูหรือพี่เลี้ยง ที่มีความรู้มาสอนออนไลน์ มีความชำนาญในการใช้อุปกรณ์และสื่อดิจิทัล และมีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะถ่ายทอดความรู้อย่างสนุก น่าสนใจและมีชีวิตชีวา
จะเห็นได้ว่าการเรียนออนไลน์ที่ถูกต้องและสมบูรณ์ต้องมีปัจจัย 4 ประการนี้ จึงจะทำให้พ่อแม่สบายใจ เด็กเรียนเองได้ เด็กสื่อสารกับครูได้ แต่หากมีปัจจัยเหล่านี้ไม่ครบ ทาง ศธ.ก็มีทางออกให้ คือ เครื่องมืออีก 4 อย่าง ได้แก่ ON-AIR, ON–DEMAND, ON-HAND และ ON–SITE โดยสามารถเลือกใช้ร่วมกันได้ตามความเหมาะสมของบริบทโรงเรียน
ขณะเดียวกันจากการสำรวจตัวอย่างการจัดศึกษาของประเทศที่มีคุณภาพ พบว่า เด็กไม่ได้เรียนกันเต็มคาบ เนื่องจากการเรียนออนไลน์ที่ไม่ได้เจอตัวกัน ไม่ได้พบเพื่อน ไม่มีความสนุกสนาน ทำให้น่าเบื่อ จึงเรียนกันเพียง 30-40 นาทีขึ้นอยู่กับครูเห็นสมควร ส่วนเวลาที่เหลือให้เด็กไปคิดว่าเรียนไปครึ่งชั่วโมงแล้วจะช่วยลดภาระพ่อแม่ได้อย่างไร เอาความรู้ที่เรียนออนไลน์นั้นไปคิด ไปพูดคุยกับพ่อแม่ สร้างความสัมพันธ์บวกกับครอบครัว เช่น งานบ้าน งานสวน งานครัว ซึ่งเด็ก ๆ สามารถเรียนรู้แล้วนำไปลดภาระผู้ปกครองได้ในทันที ผู้ปกครองและเด็กจะมีความภูมิใจร่วมกัน เรียกว่าการเรียนแบบสมรรถนะ เรียนแล้วสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้
ทั้งนี้ การเรียนออนไลน์คือการเปลี่ยนวิธีเรียนวิธีสอน ซึ่งในโลกสมัยนี้เราไม่ได้คาดหวังว่าครูจะมีความรู้ทุกอย่างมาสอนเด็ก ครูไม่ต้องรู้ทุกอย่าง ขอเพียงมีหัวใจของความเป็นครู มีจิตวิญญาณของความเป็นครูก็พอแล้ว โดยครูจะต้องทำหน้าที่สร้างบรรยากาศ สร้างสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะอยู่ที่โรงเรียนหรือการเรียนออนไลน์ก็ตาม ให้เด็กได้เรียนสิ่งที่เขาอยากเรียนอย่างสนุก ขอให้เป็นเรื่องที่อยากเรียน ยากแค่ไหนเด็กก็เรียนได้ เรื่องที่ไม่รู้ก็สามารถค้นหาจากอินเทอร์เน็ตได้ และครูก็ต้องสอนอย่างมีความสุข สนุกเช่นกัน ดังนั้นหัวใจสำคัญของการเรียน คือ เด็กจะต้องเรียนอย่างสนุกและมีความสุข
นอกจากนี้ ส่วนสำคัญในการเรียนออนไลน์ คือ ครูก็สามารถเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็กได้ จึงมีคำใหม่เกิดขึ้นในการเรียนการสอนออนไลน์ว่า Lead Learner คือเป็นผู้นำในการเรียน โดยการที่เด็กจะสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลานั้น ขึ้นอยู่กับครูและผู้บริหารช่วยกันจัดการ อาจจะออกแบบให้เด็กได้คิดวิเคราะห์หรือ Unplugged Coding ส่งเสริมให้เด็กเน้นไปที่กระบวนการคิดด้วยการเล่น การตั้งคำถามในการเรียน เรียนได้ตลอดเวลา ขอให้ครูและผู้บริหารมองว่าเด็กจะเรียนรู้ที่ไหนก็ได้ไม่มีใคร Learning Loss เวลาประเมินต้องประเมินจากความรู้และประโยชน์ที่เด็กได้นำมาใช้ คือเรียนแบบสมรรถนะ เชื่อมั่นว่าเมื่อเรียนแล้วก็จะสามารถเพิ่มมูลค่าตัวเองและมูลค่าครอบครัวได้อย่างแน่นอน

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจํานงค์ อดีตผู้อำนวยการ สสวท. กล่าวถึงความสำคัญของการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ตอนหนึ่งว่า ในอดีตเรามาโรงเรียนเพื่อจะเรียนรู้เนื้อหาวิชาการ แต่ตอนนี้เนื้อหาวิชาการอยู่กับอินเทอร์เน็ตหมดแล้ว โดยทุกคนสามารถเรียนรู้เนื้อหาวิชาการได้ตามความสนใจของตนเอง ในบางเรื่องครูเคยสอนให้จำก็ไม่จำเป็นต้องจำแล้ว เพราะทุกคนมีมี Smart Device อยู่ในมือ
ดังนั้น ในหลายเรื่องจึงไม่จำเป็นต้องรู้ เพียงแค่รู้ว่าจะไปศึกษาเรื่องนี้ได้อย่างไร จากนั้นเปิดอินเทอร์เน็ตศึกษาภายใน 15 นาทีก็รู้แล้ว หลายเรื่องเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องรู้ เป็นฐานความรู้ที่จะทำให้ไปคิดเรื่องอื่นต่อได้ เรื่องเหล่านั้นก็มีวิธีการเรียนรู้อยู่ในอินเทอร์เน็ตอย่างหลากหลาย สอดรับกับวิธีการเรียนรู้ของแต่ละคน ทำให้เด็กเรียนรู้ตลอดชีวิตได้ จึงเหลือแค่คำถามว่าไปโรงเรียนทำไม
ที่ผ่านมาเราวัดว่าเด็กเก่งหรือไม่เก่งด้วยการวัดความรู้ แต่วันนี้รูปแบบการจัดการศึกษาต้องการสร้างคนที่มีสมรรถนะ คนที่มีสมรรถนะคือสามารถใช้ความรู้ ทักษะและมีเจตคติที่ดีเอาไปใช้งานจริงได้ ซึ่งหากโรงเรียนไม่สามารถสร้างทักษะและเจตคติที่ดีกับเด็ก แต่ยังป้อนความรู้อยู่ทั้งที่ความรู้อยู่บนอินเทอร์เน็ตหมดแล้ว ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะไปโรงเรียน เนื่องจากเด็กสามารถเรียนรู้สิ่งเหล่านี้จากชุมชน จากผู้ปกครองได้เหมือนกัน และอาจจะทำได้ดีกว่า จึงจำเป็นต้องปรับวิธีการเรียนรู้ของเด็กภายในโรงเรียน ให้เด็กเป็นคนที่จบแบบมีสมรรถนะที่ดีอย่างแท้จริง

สำหรับวิทยากรในการอบรมตลาดนัดการเรียนรู้ออนไลน์วังจันทรเกษม เฟส 2 ตลาดที่ 7 “สื่อยุคใหม่ การศึกษาออนไลน์” ประกอบด้วย
1. ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจํานงค์ : อดีตผู้อำนวยการ สสวท.
2. ดร.พรชัย อินทร์ฉาย : รองผู้อำนวยการ สสวท.
3. ดร.เขมวดี พงศานนท์ : ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารเครือข่ายและพัฒนาครู
4. ดร.อลงกรณ์ ตั้งสงวนธรรม : ผู้อำนวยการสาขาคณิตศาสตร์มัธยม
5. อาจารย์ ฤทัย เพลงวัฒนา : ผู้อำนวยการสาขาฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์โลก และคณะนักวิชาการ สสวท.

















ปารัชญ์ ไชยเวช / สรุป
ธนภัทร จันทร์ห้างหว้า / ภาพ
ใส่ความเห็น