‘ตรีนุช’ เปิดประชุมแก้หนี้ครู ระดับเขตพื้นที่การศึกษา ย้ำให้เป็นพันธกิจเร่งด่วนร่วมกัน ช่วยเหลืออย่างเต็มกำลัง ยกระดับคุณภาพชีวิตครู

8 เมษายน 2565 – นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ระดับเขตพื้นที่การศึกษาและหน่วยงานทางการศึกษา ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 โดยมีนายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายสุทิน แก้วพนา รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมประชุม พร้อมด้วยคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาระดับเขตพื้นที่การศึกษาและหน่วยงานทางการศึกษา ผ่านระบบ ZOOM Meeting จำนวนประมาณ 7,215 คน จากจำนวนสถานีแก้หนี้ครูฯ ทั้งหมด 481 แห่ง

รมว.ศธ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีนายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษา รมว.ศธ. เป็นประธาน และมีรองปลัด ศธ. รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงและคณะกรรมการอีกหลายท่านมาร่วมดูแลเป็นการเฉพาะ เพื่อแสวงหาแนวทางช่วยเหลือเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งสามารถนำเสนอการแก้ไขให้ประจักษ์เป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจนด้วยมาตรการขับเคลื่อน 4 มาตรการ ได้แก่ 1) การลดดอกเบี้ย 2) การพิจารณาและควบคุมการอนุมัติเงินกู้อย่างเคร่งครัด 3) การจัดตั้งสถานีแก้หนี้ครูฯ 4) การให้ความรู้ด้านการเงินแก่ครู โดยกำหนดให้เป็นพันธกิจเร่งด่วนร่วมกัน เพื่อการช่วยเหลือเพื่อนครูอย่างเต็มกำลังความสามารถ ทำให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับการยกระดับคุณภาพชีวิตที่สูงมากขึ้น

ที่ปรึกษา รมว.ศธ. กล่าวว่า ขณะนี้ ศธ. ได้จัดตั้งตั้งสถานีแก้หนี้ครูโดยเฉพาะขึ้นมา 2 สถานี คือ สถานีแก้หนี้ครูในระดับเขตพื้นที่การศึกษา และสถานีแก้หนี้ครูในระดับจังหวัด โดยในระดับจังหวัดได้จัดประชุมชี้แจงรายละเอียดให้ไปแล้วเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา (อ่านข่าวเพิ่มเติม) ส่วนวันนี้เป็นการประชุมเพื่อชี้แจงรายละเอียดให้กับคณะกรรมการแก้ไขหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาในระดับเขตพื้นที่การศึกษาและหน่วยงานทางการศึกษา ซึ่งมีเรื่องหลัก คือ ชี้แจงความเป็นมาและความสำคัญของโครงการแก้ไขหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา แจ้งให้ทราบถึงบทบาท อำนาจหน้าที่ ขอบเขตการดำเนินงาน แนวปฏิบัติในการแก้หนี้ รวมทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเลือกใช้เครื่องมือในการแก้ไขปัญหา

โดยก่อนหน้านี้ เปิดให้ครูทั้งประเทศลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ “สร้างโอกาสใหม่ให้ครูไทย” ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ – 15 มีนาคม 2565 ขณะนี้มีครูและบุคลากรทางการศึกษาลงทะเบียนแก้หนี้แล้วกว่า 41,000 ราย ซึ่งรายชื่อเหล่านี้จะถูกส่งไปในระดับเขตพื้นที่ฯ ว่ามีจำนวนเท่าไร มีใครบ้าง จากนั้นเขตพื้นที่ฯ จะมีหน้าที่เชิญผู้ลงทะเบียนมาหารือกันว่าอยากให้ช่วยแก้ปัญหาด้านใดบ้าง ซึ่งความต้องการของแต่ละคนก็จะมีความแตกต่างกันไป

ทั้งนี้ มีการแยกข้อมูลความต้องการของครูที่ลงทะเบียน พบว่าความต้องการลำดับแรก คือ การลดดอกเบี้ยเงินกู้ มีจำนวนกว่า 30,000 ราย นอกนั้นจะเป็นเรื่องของการช่วยปรับโครงสร้างหนี้ เรื่องของความเดือดร้อนในฐานะผู้ค้ำประกัน หรือการจ่ายค่าธรรมเนียมบางรายการที่ไม่จำเป็น และบางส่วนที่กำลังจะถูกดำเนินคดีเนื่องจากไม่มีความสามารถชำระหนี้ได้

ด้านการดำเนินการตามมาตรการลดดอกเบี้ย ขณะนี้มีสหกรณ์ออมทรัพย์ครูไม่น้อยกว่า 70 แห่ง จากทั้งหมด 108 แห่ง เข้าร่วมปรับอัตราดอกเบี้ยแล้ว โดยจะปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงตั้งแต่ 0.05-1.0% และมีสหกรณ์จำนวน 11 แห่ง สามารถปรับลดดอกเบี้ยต่ำกว่า 5% แล้ว โดยจะเร่งแก้ปัญหาให้ครูที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ก่อน และคาดว่าภายใน 1-2 เดือน จะขยายผลเปิดให้ลงทะเบียนเฟส 2 ต่อไป

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวถึงบทบาทสถานีแก้หนี้ครูฯ เป็นอีกมาตรการสำคัญของ ศธ. ซึ่งมีการจัดตั้งสถานีแก้หนี้ครูฯ ระดับเขตพื้นที่การศึกษา และหน่วยงานทางการศึกษา 481 แห่ง และระดับจังหวัด 77 จังหวัด รวม 558 สถานีทั่วประเทศ โดยดำเนินการในรูปคณะกรรมการ ซึ่งสถานีแก้หนี้ครูฯ ระดับเขตพื้นที่การศึกษา กำหนดให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่กำหนดแนวทางแก้หนี้ร่วมกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ส่วนราชการ และสถาบันการเงิน, จัดทำระบบข้อมูล, ปรับปรุง กำหนดมาตรการหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้, รับลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ ช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างเจ้าหนี้กับครูและผู้ค้ำประกัน ส่วนสถานีแก้หนี้ครูฯ ระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัด หรือรองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน กำกับดูแลในภาพรวมของจังหวัด บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นภายในจังหวัด ช่วยเหลือสถานีแก้หนี้ตามที่ได้รับการร้องขอ

ทั้งนี้ ขอให้สถานีแก้หนี้ครูฯ เริ่มต้นทำ “ฐานข้อมูลครู” เป็นรายบุคคลให้ชัดเจน หาสาเหตุให้เจอ และแก้ปัญหาแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะกลุ่มครูที่หักเงินเดือนเหลือไม่ถึง 30% ต้องหาวิธีการแก้ไขปัญหาให้ได้ เช่น ประนอมหนี้ ยืดอายุเงินกู้ ฯลฯ หรือกลุ่มครูในภาวะวิกฤต จะเข้าไปช่วยได้อย่างไร เพราะหนี้สินครูก็เหมือนโรคภัยไข้เจ็บของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน การแก้ไขปัญหาครูจึงแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มครูที่บรรจุใหม่ ซึ่งเพิ่งเริ่มต้นทำงาน เงินเดือนน้อย ยังไม่มีเงินวิทยฐานะ และกลุ่มครูชำนาญการขึ้นไป ซึ่งมีเงินวิทยฐานะ มารวมกับอัตราเงินเดือน ทำให้ฐานเงินกู้เยอะมาก แต่เมื่อเกษียณไปแล้ว จะถูกปรับลดเงินเดือนลง และไม่ได้รับเงินวิทยฐานะ จึงทำให้เกิดปัญหาการชำระหนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นายสุทิน แก้วพนา รองปลัด ศธ. กล่าวตอนหนึ่งถึงบทบาทที่สำคัญการปรับโครงสร้างหนี้ของสถานีแก้หนี้ครูฯ มี 8 วิธีในการดำเนินการช่วยเหลือเพื่อนครู คือ 1) ยืดระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ 2) พักชำระเงินต้น 3) ลดอัตราดอกเบี้ย 4) ยกหรือผ่อนปรน 5) เพิ่มเงินทุนหมุนเวียน 6) เปลี่ยนประเภทหนี้ 7) ปิดจบจ่ายคืนหนี้เร็วขึ้น 8) รีไฟแนนซ์ปิดสินเชื่อจากที่เดิม ซึ่งสถานีแก้หนี้ครูฯ จะเข้ามาเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ย หรือประนอมหนี้ด้วย

สำหรับการประชุมครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนวิทยากรจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น นายคเชนทร์ บุญวงค์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน, นายขจร ธนะแพสย์ ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย, นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด, นางสุรางค์ คัยนันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ออมทรัพย์ กรมส่งเสริมสหกรณ์, นางมลชลีณา กิตติขจร ผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกำแพงเพชร จำกัด, นายวชิรพันธ์ นาคก้อน ผู้อำนวยการสำนักนิติการ, นายโกวิท คูเพนียด รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย สำนักนิติการ, นายอิทธิกร ช่างสากล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สป.

ปารัชญ์ ไชยเวช, บัลลังก์ โรหิตเสถียร / สรุป
กลุ่มสารนิเทศ / ถ่ายภาพ

One thought on “‘ตรีนุช’ เปิดประชุมแก้หนี้ครู ระดับเขตพื้นที่การศึกษา ย้ำให้เป็นพันธกิจเร่งด่วนร่วมกัน ช่วยเหลืออย่างเต็มกำลัง ยกระดับคุณภาพชีวิตครู

Add yours

  1. สกสค.เป็นหน่วยงานที่ริเริ่มโครงการเงินกู้ ชพค.ได้หักเงินกู้ส่วนหนึ่งของผู้กู้ไว้เพื่อเป็นกองทุนช่วยเหลือครูที่มีปัญหาในการชำระหนี้แต่ละโครงการ โครงการ 5 หัก 2,000 บาท โครงการ 6 หัก 4,000 บาท โครงการ 7 หัก 6,000 บาท ไม่เห็นคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู พูดถึงกรณีนี้เลย สกสค.เป็นหน่วยงานที่สร้างปัญหาและสร้างตราบาปให้กับครูกับโครงการเงินกู้ดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ที่ว่าเป็นหน่วยงานที่ดูแล สวัสดิการและสวัสดภาพของครูเลย แต่เป็นหน่วยงานที่สร้างปัญหาให้กับครูเพื่อผลประโยชน์ของตนและพวกพ้อง ขอให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู กระทรวงศึกษาธิการ ลากคอไอ้พวกครูกินเลือดครูมารับผิดชอบด้วย

    Liked by 1 person

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

Website Built with WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: