สำนักงาน กศน. จับมือศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง จัดการศึกษาทางไกล สำหรับเยาวชนกลุ่มเป้าหมายพิเศษ

8 เมษายน 2565 – นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือจัดการศึกษาทางไกล ระหว่างสำนักงาน กศน. กับศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง โดยมีนายประกอบ ลีนะเปสนันท์ อธิบดีผู้พิพากษาภาค 7 ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และนายวัลลพ สงวนนาม เลขาธิการ กศน.เป็นผู้ลงนาม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของกระทรวงศึกษาธิการ เพราะสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ไปเป็นภาพที่ยิ่งใหญ่ที่จะสะท้อนการทำงานแบบเกื้อกูล เสริม และสนับสนุนซึ่งกันและกัน ภายใต้บทบาท อำนาจหน้าที่และความชำนาญ เชี่ยวชาญ รวมทั้งทรัพยากรของแต่ละหน่วยงาน ผ่านสิ่งที่เรียกว่า “การศึกษาทางไกล”

จากการได้สัมผัส ติดตามและเรียนรู้งานการศึกษาทางไกล ของสำนักงาน กศน. และรู้จักสถาบันการศึกษาทางไกลว่าเป็นสถานศึกษาของสำนักงาน กศน. ที่จัดการเรียนการสอน โดยวิธีของการศึกษาทางไกล ซึ่งเป็นสถานศึกษาที่น่าสนใจมาก เพราะภารกิจสามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตและเข้ากับยุคสมัยของผู้คนในสังคมปัจจุบัน อันเนื่องมาจากเทคโนโลยีดิจิทัล ที่มีการพัฒนาจนมีศักยภาพและสามารถสนองตอบรูปแบบการใช้ชีวิต หรือ Lifestyle ของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไป และปัจจัยที่เป็นเงื่อนไขทางสังคมในขณะนี้ คือ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ COVID -19 ที่ยังไม่รู้ว่าจะจบหรือสิ้นสุดลงเมื่อไร

บทบาทตามอำนาจหน้าที่ของสถาบันการศึกษาทางไกลมีความชัดเจนมาก และมีความเป็นไปได้ที่จะใช้ศักยภาพของการศึกษาทางไกล ในการที่จะสร้างการศึกษาทางเลือกและโอกาสทางการศึกษาสำหรับประชาชนให้เป็นไปอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเป้าหมายพิเศษ หรือกลุ่มเป้าหมายเฉพาะที่มีเงื่อนไขในเรื่องของเวลา การเดินทางหรือระยะทาง หรือปัจจัยอื่น ๆ ที่ไม่สามารถเข้าเรียนได้ตามปกติ

นายประกอบ ลีนะเปสนันท์ กล่าวว่า กลุ่มเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดและมีคดีมาสู่ศาลเยาวชนและครอบครัวส่วนใหญ่พบว่าเป็นเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาภาคบังคับ เมื่อได้รับการปล่อยตัวไปโดยการคุมความประพฤติ ในกรณีที่เด็กและเยาวชนไม่ได้ศึกษาต่อ ก็จะวางข้อกำหนดให้เด็กและเยาวชนศึกษาเล่าเรียน ถ้าเด็กและเยาวชนยังไม่จบชั้นมัธยมปีที่ 3 ก็จะวางข้อกำหนดให้เรียนจนจบมัธยมศึกษาตอนต้นหรือชั้นมัธยมปีที่ 3 และข้อกำหนดอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่ออนาคตเด็กและเยาวชน แต่มีปัญหาติดขัดตลอดมา เพราะเด็กและเยาวชนเหล่านี้ไม่สามารถกลับไปเรียนในระบบปกติได้ เนื่องด้วยออกจากระบบมาหลายปี เรียนไม่ทันเพื่อนรุ่นเดียวกัน หรือโตกว่าเพื่อนในห้องที่จะกลับไปเรียน มีปัญหาในการปรับตัว จะให้สมัครเรียนการศึกษานอกระบบก็มีปัญหา ในบางคนที่อายุยังไม่ครบ 15 ปีที่ยังไม่หลุดจากการศึกษาภาคบังคับ สมัครเรียนไม่ได้ หากจะเรียนต่อสายอาชีพก็ไม่มีวุฒิมัธยมปีที่ 3 ที่จะสมัครเรียนได้

การที่กระทรวงศึกษาธิการจัดหลักสูตรพิเศษของการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อเด็กกลุ่มนี้โดยเฉพาะ จะทำให้เด็กและเยาวชนสามารถนำผลการเรียนที่ผ่านมา การจัดกิจกรรมและการฝึกอาชีพที่คณะผู้พิพากษาสมทบจัดขึ้นที่ศาลเยาวชนและครอบครัวเทียบโอนรายวิชา ทำให้การเรียนของเด็กและเยาวชนที่ผ่านมาและการทำกิจกรรมฝึกอาชีพไม่สูญเปล่า และจบการศึกษาได้เร็วขึ้น ไม่เป็นภาระของครอบครัว

เมื่อเด็กและเยาวชนจบการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 3 แล้ว ศาลเยาวชนและครอบครัวก็มีแหล่งการศึกษาสายอาชีพที่จะรองรับให้เด็กและเยาวชนเข้าเรียนโดยไม่ต้องสอบแข่งขันและมีทุนให้เรียนฟรีต่อไป ซึ่งจะทำให้เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้สามารถมีอาชีพการงานที่สุจริตเป็นพลเมืองดีของชาติบ้านเมืองต่อไป

อิชยา กัปปา / สรุป
กิตติกร แซ่หมู่ / ภาพ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

Website Built with WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: