(1 ธันวาคม 2564) ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เพื่อเป็นประธานพิธีเปิดป้ายอาคารเรียนและการปฏิบัติการ วิทยาลัยเทคนิคพิมาย ตรวจเยี่ยมศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 11 หน่วยบริการพิมาย และให้นโยบายการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณและ Coding ณ โรงเรียนเพชรหนองขาม
เปิดป้ายอาคารเรียนและการปฏิบัติการ ณ วิทยาลัยเทคนิคพิมาย
นายยศพล เวณุโกเศศ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า การเปิดอาคารเรียนถือเป็นการเปิดประตูสู่แหล่งเรียนรู้เพื่อต้อนรับผู้ที่สนใจ โดยมุ่งหวังให้เป็นสถานที่ซึ่งนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ได้มาศึกษาหาความรู้ พบปะแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และจัดกิจกรรมทางวิชาการที่จะสร้างแรงบันดาลใจ นิสัยการเรียนรู้ และการแบ่งปันความรู้ โดยอาคารเรียนและปฏิบัติการ 4 ชั้น ขนาดพื้นที่ใช้สอย 1,920 ตารางวา ได้รับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วงเงิน 19,000,000 บาท
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้เห็นความพร้อมเพรียงของทุกภาคส่วน ที่เห็นความสำคัญของการศึกษา ให้เยาวชนในอำเภอพิมายและพื้นที่ใกล้เคียงไม่ต้องเดินทางไกลไปเรียนในตัวจังหวัด จึงร่วมกันสนับสนุนสถานศึกษาแห่งนี้ ถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวนครราชสีมาในการสร้างบุคลากรสายอาชีพ
ปัจจุบันการพัฒนาทักษะผู้เรียนให้สอดคล้องกับการศึกษาในศตวรรษที่ 21 และการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ทำให้เพียงแค่ความรู้ยังไม่เพียงพอ จากนี้ไปสถานศึกษาจะต้องเปลี่ยนครูจากผู้สอนมาเป็นพี่เลี้ยง สร้างบรรยากาศที่เหมาะสมให้เด็กมาโรงเรียนอย่างมีความสุข ได้เรียนสิ่งที่สนใจ โดยขอให้เน้นการเรียนรู้เพื่อให้มีสมรรถนะ มีความสามารถในการประกอบอาชีพที่ทันสมัย ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการก็ได้ต่อยอดโดยการสนับสนุนอาคารและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ทันสมัยเช่นอาคารหลังนี้ เพื่อให้เยาวชนได้มีโอกาสเรียนรู้มากขึ้น เพราะอาชีวศึกษาคือคำตอบที่จะนำพาประเทศก้าวข้ามวิกฤตทุกอย่างไปได้ด้วยดี
ตรวจเยี่ยมศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 11 หน่วยบริการพิมาย
ต่อมาช่วงบ่าย รมช.ศึกษาธิการ เดินทางไปตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอน ศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 11 จังหวัดนครราชสีมา หน่วยบริการพิมาย
ดร.รังสิสวุฒิ สุวรรณ์โรจน์ ผอ.ศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 11 จังหวัดนครราชสีมา รายงานการดำเนินงานและสภาพปัญญาโดยมีข้อเสนอแนะว่า งบดำเนินงานค่าสาธารณูปโภคและค่าใช้สอยอื่น ๆ ได้เท่ากับศูนย์ฯ เขต และศูนย์จังหวัดอื่น ๆ ทั้งที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องมีหน่วยบริการ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็ก เพราะการเดินทางจากที่หนึ่งไปยังที่หนึ่งมีระยะทางไกล ควรมีแบบมาตรฐาน หน่วยบริการจัดสร้าง และสนับสนุนที่เหมาะสม
นอกจากนี้ ในเรื่องค่าอาหารยังไม่ครบถ้วน คือ เด็กนักเรียนหน่วยบริการได้ประมาณ 70% เด็กนักเรียนตามโครงการปรับบ้านเป็นห้องเรียนฯ ไม่ได้รับงบประมาณ ทั้งที่ผู้ปกครองมีใจในการพัฒนา รวมถึงงบประมาณที่ได้รับจัดสรรระบบคูปองการศึกษายังไม่เพียงพอกับความต้องการ
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวขอบคุณทุกฝ่ายทั้งการร่วมมือกับตำรวจ พระสงฆ์ และองค์กรต่าง ๆ ที่เสียสละมาช่วยกันดูแลการศึกษาพิเศษโดยใช้หัวใจนำทาง เนื่องจากเด็กพิเศษเป็นผู้ที่ป่วยตลอดชีวิต จึงมีกิจกรรมที่ยากกว่าเด็กปกติและแตกต่างกันออกไป ขอเป็นกำลังใจให้กับคนทำงานทุกคน พร้อมแนะนำให้ใช้ธาราบำบัดเนื่องจากเด็กพิเศษจะรู้สึกอบอุ่น มั่นใจมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 11 จังหวัดนครราชสีมา จัดการศึกษาให้เห็นได้ชัดเจนว่า การศึกษาไทยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ขอบคุณโรงเรียนร่วม ที่ทำให้เด็กพิเศษเด็กพิการมีโอกาสเข้าสังคมปกติได้มากขึ้น ส่วนปัญหาเกี่ยวกับการจัดการศึกษานั้น ทางกระทรวงศึกษาธิการเห็นความสำคัญ และจะนำไปพิจารณาหาแนวทางสนับสนุนต่อไป
บรรยายในการประชุมผู้บริหารสถานศึกษา เกี่ยวกับนโยบายการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณและ Coding ณ โรงเรียนเพชรหนองขาม
จากนั้น รมช.ศึกษาธิการ เดินทางไปเยี่ยมชมผลงานนักเรียน และบรรยายพิเศษในการประชุมผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อรับทราบนโยบายการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ และ Coding ณ โรงเรียนเพชรหนองขาม
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวในการบรรยายตอนหนึ่งว่า รู้สึกยินดีที่ได้พบกับผู้บริหารสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเขต 7 จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 225 โรงเรียน ขอให้ผู้บริหารทุกคนมั่นใจว่าการศึกษาจะทำให้เราเป็นในสิ่งที่อยากเป็นได้ สามารถแก้ปัญหาและหาเลี้ยงชีพได้ ซึ่งการศึกษาจากนี้ต่อไปจะเป็นเรื่องใหม่ของทุกคน โดยรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายการจัดการเรียนการสอน Coding ซึ่งนักเรียนทุกชั้นจะต้องได้เรียน เพราะ Coding คือคำตอบของชีวิต คือการปฏิรูปการศึกษาถึงตัวนักเรียนเป็นครั้งแรกของประเทศไทย และจำเป็นสำหรับทุกอาชีพเนื่องจากโลกสมัยใหม่ต้องการทักษะใหม่ คือการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุมีผล เชิงวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ แก้ไขปัญหาเป็นขั้นเป็นตอน กล้าลงมือทำ ทำผิดทำใหม่ และอ่านเขียนอย่างมีวิจารณญาณ ทำให้เพิ่มมูลค่าของตนเองและเศรษฐกิจ การจัดการเรียนการสอน Coding ยิ่งทำมากก็จะยิ่งเข้มแข็ง ทำให้แก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้มากขึ้น พร้อมเน้นย้ำว่าทุกคนต้องมี Coding และ STI เป็นพื้นฐานสำคัญของนักเรียนทั้งประเทศ จึงจะมีภูมิคุ้มกัน เพื่อนำพาประเทศชาติชนะในเวทีโลกต่อไป
ปารัชญ์ ไชยเวช / สรุป
ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว / ถ่ายภาพ
ใส่ความเห็น