จังหวัดอุบลราชธานี – เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพณิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงาน Kick Off วิทยาศาสตร์พลังสิบ สร้างโอกาสการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียมด้วยการเรียนรู้วิทยาศาสตร์แนวใหม่ ในกลุ่มจังหวัดอุบลราชธานี-อำนาจเจริญ-ศรีสะเกษ-ยโสธร ณ โรงเรียนม่วงสามสิบอัมพวันวิทยา อ.ม่วงสามสิบ และตรวจเยี่ยม รร.อุบลราชธานีศรีวนาลัย อ.เมืองอุบลราชธานี ซึ่งกำลังเตรียมความพร้อมยกระดับเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ประจำเขตตรวจราชการที่ 14
เปิดงาน Kick Off วิทยาศาสตร์พลังสิบ
ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า โครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ จัดขึ้นเพื่อพัฒนาส่งเสริมศักยภาพผู้เรียน และสร้างโอกาสทางการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีให้กับผู้เรียนในทุกพื้นที่ ด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
โดยร่วมกันขับเคลื่อนโครงการ ทั้งด้านหลักสูตร กิจกรรมการเรียนรู้ การพัฒนาผู้บริหาร ครู นักเรียน และการสนับสนุนอุปกรณ์ เครื่องมือต่าง ๆ ให้กับโรงเรียนในโครงการ เพื่อให้นักเรียนทุกพื้นที่ของประเทศไทยได้มีโอกาสเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีที่เน้นการปฏิบัติจริง เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน มีโอกาสใช้เครื่องมืออุปกรณ์ในการทดลองและห้องปฏิบัติการที่ทันสมัย เหมาะสมกับกระบวนการเรียนรู้ตามหลักสูตรวิทยาศาสตร์พลังสิบที่เน้นการพัฒนาทักษะ และสมรรถนะทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพณิช รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ในยุคศตวรรษที่ 21 วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี มีผล กับผู้คนมากมายทั้งในทางบวกและในทางลบ ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปจนบางคนตามไม่ทัน เพราะเราไม่ได้วางรากฐานให้เยาวชนไว้ตั้งแต่เริ่ม ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ทุ่มเทงบประมาณให้กับเด็กที่เก่งด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี จนเกิดโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย และห้องเรียนวิทยาศาสตร์ จนมาถึงโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบในวันนี้
ทั้งนี้ ไม่ได้คาดหวังให้ทุกคนเป็นนักวิทยาศาสตร์ เพียงแต่ต้องการให้นักเรียนได้รับการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีอย่างทั่วถึง ตลอดจนได้เรียน Unplug Coding ตั้งแต่เด็ก เพื่อรับมือกับสังคมที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพัฒนาอย่างก้าวกระโดด จึงอยากให้คนทุกระดับในประเทศมีพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อนำความรู้เหล่านี้มาประยุกต์แก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันอย่างเป็นระบบ
สิ่งสำคัญคือนักเรียนต้องเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี คณิตศาสตร์ และนวัตกรรม ไปพร้อมกับวัฒนธรรมอันดีงามของไทย ซึ่งเป็นต้นทุนทางสังคมที่ประเทศอื่นตามเราไม่ทัน เช่น ความรัก ความเมตตา ความกตัญญู เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นต้น เรียกว่า Steam Education จึงจะทำให้เป็นบุคคลสมบูรณ์เอาชนะเทคโนโลยีได้อย่างแท้จริง
วิทยาศาสตร์พลังสิบ จึงเป็นพื้นฐานสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ไม่ว่านักเรียนจะอยู่ที่ไหน ก็ต้องมีโอกาสได้เรียนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และคณิตศาสตร์ ทำให้เด็กมีโอกาสสร้างภูมิคุ้มกัน ควบคู่กับการเรียนโค้ดดิ้ง เพื่อไปเผชิญกับโลกศตวรรษที่ 21 อย่างเท่าเทียม เท่าทัน และยั่งยืน ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย และเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการศึกษาไทยซึ่งจะทำให้นักเรียนมีความรู้พื้นฐานเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างสมบูรณ์และมีความสุข
สำหรับงาน Kick Off วิทยาศาสตร์พลังสิบ สร้างโอกาสการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียมด้วยการเรียนรู้วิทยาศาสตร์แนวใหม่ กลุ่มจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดยโสธร มีผู้เข้าร่วมงาน ประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครู นักเรียน ผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จากโรงเรียนโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ จำนวนทั้งสิ้น 250 คน มีการถ่ายทอดสดผ่านทางระบบออนไลน์ให้ได้รับชมพร้อมกันทั่วประเทศ













ตรวจเยี่ยม รร.อุบลราชธานีศรีวนาลัย
ในช่วงบ่าย รมช.ศึกษาธิการ เดินทางไปไปตรวจเยี่ยมโรงเรียนอุบลราชธานีศรีวนาลัย อ.เมืองอุบลราชธานี ในการเตรียมความพร้อมเพื่อยกระดับเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ประจำเขตตรวจราชการที่ 14
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวมอบนโยบายว่า ขอแสดงความยินดีกับโรงเรียนอุบลราชธานีศรีวนาลัย ที่ได้รับคัดเลือกให้ยกระดับจากโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำตำบล ให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ประจำเขตตรวจราชการที่ 14 กลุ่มจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และยโสธร สะท้อนให้เห็นผลงานด้านวิทยาศาสตร์ที่ยอดเยี่ยม รวมทั้งช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เปิดโอกาสให้เยาวชนในพื้นที่ได้สอบเข้าโรงเรียนคุณภาพระดับประเทศ
ขอฝากให้โรงเรียนมีความเชื่อมโยงกับสังคมภายนอกมากขึ้น เนื่องจากการได้รับความร่วมมือ หรือข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการ สภาอุตสาหกรรม หอการค้า และเครือข่ายต่าง ๆ จะทำให้การเรียนมีเป้าหมายมากยิ่งขึ้น สามารถแก้ปัญหาชุมชน สังคม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อว่าการลงทุนลงแรงจากนี้ไปจะสามารถสร้างบุคลากรคุณภาพให้กับประเทศได้ โดยเด็กจะต้องเก่งทั้งวิชาการ การเข้าสังคม มีความรักสถาบัน ควบคู่กับการเรียนรู้วัฒนธรรม แล้วจะสามารถเอาชนะโลกยุคใหม่ได้
จากนี้ไปคาดหวังว่าในอนาคตนักเรียนของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย จะสามารถผลิตแพลตฟอร์มสัญชาติไทยออกไปขายในระดับโลก เป็นที่ภาคภูมิใจต่อไป










ปารัชญ์ ไชยเวช / สรุป
ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว / ถ่ายภาพ
ใส่ความเห็น